พัฒนาapp ติดตามพัฒนาการเด็ก - แบบประเมินไต ผู้ป่วยเบาหวาน

พัฒนาapp ติดตามพัฒนาการเด็ก - แบบประเมินไต ผู้ป่วยเบาหวาน

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเวที HSRI’S SHOW : HSRI with Medical Innovation Research ภายใต้แนวคิด “25 ปี สวรส.สู่ระบบสุขภาพไทย

ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย นำเสนอนวัตกรรมผลงานวิจัย แอปพลิเคชั่นติดตามพัฒนาการเด็ก แบบประเมินโรคไตในผู้ป่วยเบาหวานต้นทุนต่ำ และความสำเร็จการส่งเสริมใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาล โดยเครือข่ายนักวิจัย สวรส. อาทิ พญ.รสวันต์ อารีมิตร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพา เพื่อส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาการเด็กไทย (ปีที่ 2)  ผศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเครื่องมือคัดกรองไมโครแอลบูมินนูเรีย ด้วยระบบคะแนนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิของรัฐและเอกชน ใน จ.ปทุมธานี และภญ.ผุสดี ปุจฉาการ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยร่วมโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ที่ ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

แอปพลิเคชันคุณลูก พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวก และช่วยในการบันทึก ประเมิน และคัดกรองภาวะผิดปกติของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนการสร้างเสริมสุขภาพเด็ก ให้มีพัฒนาการอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีส่วนสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน พร้อมที่จะเรียนรู้ และเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต

งานวิจัยเริ่มจากการพัฒนาชุดข้อมูลที่นำไปออกแบบแอปพลิเคชั่นให้มีความสมบูรณ์ โดยเก็บข้อมูลความต้องการจากทีมสหวิชาชีพ และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กตามเกณฑ์มาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จนได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์แอปพลิเคชั่นคุณลูก “KhunLook” ใช้ได้กับเด็กอายุ 0-18 ปี ที่สามารถดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเมื่อดาวน์โหลดมาแล้วสามารถใช้แอปพลิเคชั่นได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ช่วยในการติดตามประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก อีกทั้งสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ เช่น ช่องปากและฟัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การป้องกันอุบัติเหตุ และเปิดอ่านคำแนะนำล่วงหน้าในการเลี้ยงดูและดูแลสุขภาพของแต่ละวัยที่เหมาะสม ปัจจุบันแอปพลิเคชั่นคุณลูกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลภายใต้โครงการสิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกอีกด้วย

แนวทางปฏิบัติสำหรับการประเมินภาวะแทรกซ้อนที่ไตของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การติดตามค่าไมโครแอลบูมินนูเรีย ที่ปัจจุบันต้องมีการตรวจปัสสาวะทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยวิธีมาตรฐาน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,450 บาทต่อผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง และวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ (Rapid Test) ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรีย มีค่าใช้จ่ายราว 280 บาท แต่ในทางปฏิบัติการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะในสถานบริการปฐมภูมิหลายแห่ง พบว่า ส่วนใหญ่จะได้รับการตรวจไมโครแอลบูมินนูเรียเพียงปีละ 1 ครั้ง ตามที่กำหนดไว้ในสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วนอีก 2 ครั้ง ถ้าคนไข้จะตรวจต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจครบตามเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งการตรวจจากแถบจุ่มปัสสาวะมีความยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ

ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องมือคัดกรองที่เรียกว่า “การตรวจหาไมโครแอลบูมินนูเรียด้วยระบบคะแนนความเสี่ยงเป็นวิธีทางสถิติ โดยการสร้างสมการประเมินค่าจากปัจจัยเสี่ยงในประวัติคนไข้จาก 9 ตัวแปร ประกอบด้วย เพศ ไขมันไม่ดี น้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตตัวบน ค่าคีอะตินิน ปริมาณไนโตรเจนในกระแสเลือด ระยะเวลาป่วยเบาหวาน ประวัติเบาหวานของบิดาและมารดา โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 1,211 ราย ผลการศึกษา พบว่า วิธีการตรวจด้วยระบบคะแนนความเสี่ยง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 40 บาทต่อราย ซึ่งมีราคาถูกกว่าการตรวจด้วยวิธีการใช้แถบจุ่มปัสสาวะ ประมาณ 7 เท่า และผลด้านความสามารถในการคัดกรองสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีใช้แถบจุ่มปัสสาวะ

พัฒนาapp ติดตามพัฒนาการเด็ก - แบบประเมินไต ผู้ป่วยเบาหวาน

โครงการวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้บรรลุตามเป้าหมายในการใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางในการนำแผนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินการตามกุญแจ 6 ด้าน ประกอบไปด้วย 1.ให้มีคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด 2.การจัดทำฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลยาสู่ประชาชน 3.การจัดทำหรือจัดหาเครื่องมือจำเป็นเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล 4.การสร้างความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย 5.การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ และ 6.การส่งเสริมจริยธรรมในการสั่งใช้ยา

จากความร่วมมือของโรงพยาบาลและเครือข่าย จำนวน 213 โรงพยาบาล ทำให้ทราบถึงแนวปฏิบัติที่ดีในแต่ละด้านของการดำเนินการตามกุญแจ 6 ด้าน เช่น พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ การสนับสนุนของผู้บริหาร ความร่วมมือของสหวิชาชีพ และการมีนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงความสำคัญของการมีเครือข่าย โดยเครือข่ายที่ดำเนินการได้ดีจะมีจำนวนสมาชิกร่วมดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดความร่วมมือในหลายระดับเพื่อพัฒนาข้อมูลยาสู่ประชาชนที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศ ซึ่งได้พัฒนาเป็น Mobile Application “RDU รู้เรื่องยา” เพื่อเพิ่มความแตกฉานด้านสุขภาพ ฯลฯ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวทางดังกล่าวกำหนดเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาที่ 15 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 การนำไปใช้เป็นเรื่องหนึ่งในมาตรฐานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยด้านยา เป็นต้น

นอกจากจากนี้ ในงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการ “กล่องดำ” ไขปริศนาระบบสุขภาพโลกอนาคต จากงานวิจัยจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย “Bike Ride for 0 (zero) Risk” : สวรส. ชวนปั่นเช็คอัพความเสี่ยง กับการนำเสนอเครื่องมือทำนายความเสี่ยงโรคอัมพาตหลอดเลือดสมอง บนเว็ปไซต์ www.thaihealthrisk.com จากผลงานวิจัยผลการออกกำลังกายและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ประชากรไทยในพื้นที่ จ.อุบลฯ ตลอดจนยังมีการแสดงผลงานวิจัยอื่นๆ สามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้ที่เว็บไซต์ของสวรส. (www.hsri.or.th)

*** ชื่อเต็ม: วิจัยพัฒนา app ติดตามพัฒนาการเด็ก - แบบประเมินไตผู้ป่วยเบาหวาน

โดย... 

ฐิติมา นวชินกุล และ ศุภฑิต สนธินุช

หน่วยสื่อสารความรู้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข