ใกล้เวลาที่ต้องรู้จักยอมรับความแตกต่าง

ใกล้เวลาที่ต้องรู้จักยอมรับความแตกต่าง

ถ้าใครเคยไปสิงค์โปร์ เมื่อ 20 กว่าปีก่อนหน้านี้แล้วห่างเหินกันไป จนมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ คงเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน

ในเรื่องการรู้จักอยู่กันแบบยอมรับความแตกต่าง บ้านเขาวันนี้พยายามให้เห็นพหุวัฒนธรรม ไปไหนมาไหน เจอ 3-4 ภาษา สิงคโปร์ก้าวไกลไปได้ เพราะเขาพยายามอยู่กันแบบยอมรับความแตกต่าง ที่สำคัญคือ งานวิจัยที่เกี่ยวกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แทบทั้งหมด กล่าวตรงกันว่า ความแตกต่างหลากหลาย คือปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดงานที่มีนวัตกรรม ซึ่งที่จริงก็เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้าทุกคนคิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน ของที่จะขายให้กับผู้คนย่อมเหมือนกันไปหมด จนกว่าวันหนึ่ง ความชอบ ความพอใจของคนซื้อ เริิ่มปรากฎให้แตกต่างกันออกไป วันนั้นคนขายจะเริ่มคิดหาอะไรใหม่ๆ มาขาย นวัตกรรม จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากต่างคนต่างทำงานแบบเดิมๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

การที่อยู่กันแบบยอมรับความแตกต่าง ทำให้เราเห็นของสิ่งเดียวกัน จากต่างมุมมอง ถ้าทุกคนดูแต่ด้านหน้ากันหมด เราจะไม่เคยเห็นด้านหลังได้เลย แต่การยอมรับความแตกต่าง กระทำได้เฉพาะในกลุ่มผู้คนที่เก่งพอที่จะกำหนดกฎกติกาที่ยุ่งยากกว่า การที่อยู่กันแบบวัฒนธรรมเดี่ยว คือต้องเห็น ต้องชอบ ต้องพูด เหมือนกันหมด แต่งตัวก็ต้องเหมือนกัน กินข้าว ก็ต้องกินข้าวแบบเดียวกัน ทำให้กำหนดกฎกติกาได้ง่ายมาก คือถูกคือเหมือนกัน ผิดคือต่างกัน นวัตกรรมบนความเหมือน ไม่เคยประสบความสำเร็จ ถ้าวันนั้นใครทำไอโฟนที่ไม่เหมือนโนเกีย โดนจับติดคุกกันหมด วันนี้เราคงไม่ได้เห็นโมบายอินเทอร์เน็ต ไม่มีสารพัดแอปใช้เหมือนทุกวันนี้

สหประชาชาติกำหนดค่านิยมในการเคารพความแตกต่างไว้ 6 ประการ ซึ่งค่านิยมนี้นำไปใช้ในแทบทุกกิจกรรมของสหประชาชาติ ค่านิยมนี้นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกับคนที่มีความแตกต่างได้เป็นอย่างดี ค่านิยมนี้มีตั้งแต่เรื่องพื้นๆ ได้แก่ ประการแรก ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานอย่างให้เกียรติ และให้ความนับถือ อย่าเลือกปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างอย่างไม่ให้เกียรติ ปราศจากการแสดงความนับถือ ประการที่สอง ให้ปฏิบัติต่อหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน ไปจนกระทั่ง ถึงเรื่องสำคัญๆ ได้แก่  ประการที่สาม เชื่อมั่นว่าเราสามารถทำงานประสบความสำเร็จได้ แม้ต้องร่วมงานกับคนที่แตกต่าง เมื่อใดก็ตามที่การงานมีอุปสรรค อย่าสรุปว่าอุปสรรคมาจากคนที่ต่างไปจากเรา หรือพวกเรา อย่าด่วนสรุปว่าอุปสรรคมาจากคนที่เรียนจบมาจากต่างสถาบัน อุปสรรคมีที่มา พยายามหาหลักฐานที่บ่งชี้ที่มาของอุปสรรคนั้น ก่อนสรุปในทางใดทางหนึ่ง

ประการที่สี่ เคารพในมุมมองที่แตกต่าง ไม่เร่งตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในทันทีทีี่พบเห็นเรื่องนั้น มุมมองที่แตกต่างไม่ใช่การต่อปากต่อคำ เห็นอะไรที่แตกต่างแล้วคิดต่อสักนิดว่าที่เห็นนั้นมีดีอะไรบ้าง อย่าเร่งสรุปว่าไม่เหมือนคือผิด ถ้าไม่ทำเหมือนฉัน อย่าเร่งสรุปว่าใช้ไม่ได้ ถ้าเห็นขนมปัง ไม่เหมือนกับข้าวสวย อย่าสรุปว่าขนมปังไม่ดี เพราะขนมปังมีบางอย่างที่ข้าวสวยไม่มี พร้อม ๆกับที่ไม่มีในหลายอย่างที่ข้าวสวยมี ในความแตกต่างนั้น ขอให้พยายามมองหาที่ดีก่อนจะหาความเหมือน หรือไม่เหมือนกับเรา

ประการที่ห้า อย่าเริ่มต้นมองทุกสิ่งทุกอย่างในแบบกลุ่มก้อน มองไม่เห็นความแตกต่างในกลุ่มก้อนนั้น คนชาติเดียวกันต้องขี้โกงเหมือนกัน นักเรียนช่างกลต้องตีกันเหมือนกันหมด แล้วตัดสินเรื่องต่าง ๆเกี่ยวกับกลุ่มก้อนนั้น ด้วยความลำเอียงไปในทางที่ไม่ดี พยายามมองหาความแตกต่างในกลุ่มก้อนนั้นเสมอ ให้เชื่อว่ามีความแตกต่างในกลุ่มก้อนเสมอ

ประการที่หก ทบทวนตนเองเสมอเกี่ยวกับความลำเอียง และอคติ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน การทำงานมีทั้งคนชอบ คนไม่ชอบ ให้ทบทวนเสมอว่าที่ชอบไม่ชอบนั้น มาจากอคติ หรือความลำเอียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หรือมาจากการกระทำที่เกิดขึ้นจริง ๆ ทบทวนความเชื่อของเราเกี่ยวกับเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม อายุ สถานะทางสังคม และเศรษฐกิจ รูปร่างหน้าตา การศึกษา ครอบครัว และอีกสารพัดเรื่องเกี่ยวกับคน ว่าเรามีอคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือไม่ ถ้าพบว่ามีอยู่ในเรื่องใด ให้พยายามหาคำตอบให้ได้ว่าการงานของเราเคยสำเร็จ หรือเสียหาย จากความชอบความเกลียดนั้นบ้างหรือไม่ ถ้าไม่เคยส่งเสริมให้สำเร็จ หรือทำให้้ล้มเหลว ก็ชอบก็เกลียดต่อไปได้ แต่ถ้าพบว่ายอมพังบ้านทั้งหลัง เพราะเกลียดคนในบ้าน ก็น่าจะปรับทัศนคติตนเองให้สอดคล้องกับค่านิยมของยูเอ็นที่ว่า บ้านดีขึ้นได้ แม้คนในบ้านแตกต่างกัน