เปิดประตูที่ปิด

เปิดประตูที่ปิด

คุณค่าที่สูงสุดในบทบาทของที่ปรึกษากฎหมายจะไม่ได้อยู่ตรงการชี้ 'ผิด' หรือ 'ถูก'

ผมมักจะบอกกับใครๆ ว่าทักษะที่สำคัญมากสำหรับคนที่จะทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ได้ดี คือ การแก้ปัญหา (Problem Solving) เพราะลูกความมาหาเราเพราะเขามีปัญหาว่าการกระทำของเขาผิดกฎหมายหรือผิดสัญญาหรือไม่ หรือต้องการให้เราให้คำปรึกษาหรือดำเนินการให้สิ่งที่เขาต้องการจะทำนั้นสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในทางกฎหมายหรือโดยสัญญาโดยไม่มีข้อติดขัด ซึ่งในการให้คำปรึกษาหรือความเห็นนั้นจะสรุปเอาจากข้อกฎหมายที่เรารู้อยู่แล้วหรือศึกษาเพิ่มเติมมาแล้วบอกว่า 'นี่ถูก' 'นั่นผิด' หรือสิ่งที่เขาคิดจะทำนั้น 'ทำได้' หรือ 'ทำไม่ได้' เท่านั้นไม่พอ

คุณค่าที่สูงสุดในบทบาทของที่ปรึกษากฎหมายจะไม่ได้อยู่ตรงการชี้ 'ผิด' หรือ 'ถูก' หรือการตอบ 'ทำได้' หรือ 'ทำไม่ได้' ได้เท่านั้น แต่จะอยู่ตรงความสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า 'ปัญหา' ที่ทำให้เรื่องนั้นๆ 'ผิด' หรือ 'ทำไม่ได้' นั้นอยู่ตรงไหน และให้คำแนะนำได้ว่า ถ้าจะทำให้ 'ถูก' หรือให้ 'ทำได้' นั้น จะต้องทำอย่างไร และแม้กระทั่งสิ่งที่ 'ถูก' หรือ 'ทำได้' อยู่แล้วนั้น ก็จะต้องสามารถให้คำแนะนำแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเดิม (ถ้ามี) ให้แก่เขาได้

การแก้ปัญหา (Problem Solving) ในทางกฎหมายอาจจะยากกว่าการแก้ปัญหาในด้านธุรกิจหรือด้านอื่นๆ บางเรื่องที่สิ่งที่ 'ถูก' หรือ 'ทำได้' อาจจะมีได้หลากหลาย ในขณะที่ในทางกฎหมายนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเรื่อง 'ผิด' กับ 'ถูก' หรือ 'ขาว' กับ 'ดำ' ไม่มีสีอื่น ดังนั้น 'ทำไม่ได้' ก็คือ 'ทำไม่ได้' ถ้า 'อาจทำได้' ต้องถือว่า 'ทำไม่ได้' ไว้ก่อน เพราะความเสี่ยงทางกฎหมายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ผมจึงมักจะพูดถึงการแก้ปัญหาในทางกฎหมายว่าเป็นการ 'เปิดประตูที่ปิด'

การ 'เปิดประตูที่ปิด' นี้จะต้องใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวมทั้งสิ่งที่ลูกความต้องการและผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในทางธุรกิจและด้านอื่นๆ ในทางเลือกต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการ 'เปิดประตูที่ปิด' นั้น ซึ่งในการทำงานในส่วนนี้ ผมจะเตือนตนเองให้สำนึกอยู่เสมอว่าเราคือ 'ผู้ไม่รู้จริง' ได้ข้อเท็จจริงมาก็ต้องมาแกะมาซักไซ้ไล่เรียงให้หมดเปลือก ความรู้ที่มีอยู่แล้วก็ต้องทบทวนว่ารู้จริงหรือเปล่า และหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในเรื่องกฎหมายและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นเพื่อให้โอกาส 'เปิดประตูที่ปิด' มีความเป็นไปได้สูงขึ้น

ด้วยการที่ผมสำนึกตัวเองว่าเป็น 'ผู้ไม่รู้จริง' ในการทำงาน ทำให้ผมติดนิสัยเป็นคนใฝ่รู้ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับงานและสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งการหาความรู้ของผมก็จะมาจากการอ่านหนังสือเป็นหลักเพราะผมเชื่อว่าการที่ผมอ่านหนังสือออกเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดในชีวิต (The man who doesn’t read has no advantage over the man who can’t read. Mark Twain) ผมมักจะบอกกับใครๆ แบบติดตลกว่าผมเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ระดับโลกทั้งนั้น เช่น ในเรื่องการเจรจาต่อรอง ผมเป็นลูกศิษย์ของ Professor William Ury ในเรื่องการตลาดผมเป็นลูกศิษย์ของ Professor Philip Kotter ทุกคนรู้ว่าผมไม่เคยไปเรียนในคลาสที่ท่านสอน แต่ผมบอกว่าท่านสอนผมผ่านหนังสือที่ท่านเขียน

แม้การอ่านหนังสือจะเป็นวิธีหาความรู้ที่ผมชอบมากที่สุด แต่ผมก็ชอบสนทนากับคนที่มีความรู้เพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวคิดดีๆ ด้วย ซึ่งผมก็จะนำข้อมูลหรือแนวคิดที่ได้รับมานี้มาวิเคราะห์ถึงความสมเหตุสมผล ความน่าจะเป็น ฯลฯ รวมทั้งหาหนังสืออ่านเพิ่มเติมอีก โดยเรื่องที่ผมสนใจมากๆ เรื่องหนึ่งคืองานบริหารคน เพราะในธุรกิจที่ผมทำอยู่คือสำนักงานกฎหมายนั้น ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดคือคน สำนักงานกฎหมายจึงจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมเพื่อให้การสร้างคนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น (คือมีพัฒนาการด้านความรู้และด้านทักษะอื่นๆ) เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดทั้งระยะสั้นและระยะยาว สำหรับคนที่ผมชอบคุยด้วยมากๆ ในเรื่องของคน คือคุณรุจ สาครพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอคคูเรย์ วัน จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านบุคคลให้แก่ธุรกิจและหน่วยงานราชการจำนวนมาก

คุณรุจมีความรู้และประสบการณ์มาก ซึ่งมาทั้งจากการทำงานและการศึกษาเพิ่มเติมโดยการอ่านหนังสือ ดังนั้นไม่ว่าเราจะคุยกันในหัวข้อใดในเรื่องของคน ไม่นานหลังจากนั้นคุณรุจก็จะส่งเอกสาร Research หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่เราคุยกันนั้นมาให้ผมอ่านซึ่งทำให้ผมได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากเสมอมา

อุปสรรคของการ 'เปิดประตูที่ปิด' มักจะมาจากการด่วนสรุปไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ โดยเชื่อว่าตนเองเป็น 'ผู้รู้' (Effective learning is not a matter of the right attitudes or motivation. Rather, it is the product of the way people reason about their own behavior. จากบทความ Teaching Smart People How to Learn เขียนโดย Chris Argyris จากหนังสือ Harvard Business Review on Knowledge Management)

www.facebook/Weerawong: Wonderful Ways