Commission v. Google

Commission v. Google

วันนี้ ผมจะนำท่านผู้อ่านไปรู้จักคดีเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่น่าสนใจ 2 คดี ที่ Google ถูกคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)

ดำเนินคดีและมีคำสั่งปรับเป็นจำนวนเงิน 2.42 พันล้านยูโรเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 และอีก 4.34 พันล้านยูโรเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 อันเนื่องมาจากการปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป

คดีแรกเกี่ยวกับ Google Shopping ซึ่งเป็นบริการที่ยังไม่มีในประเทศไทยแต่ได้รับความนิยมแพร่หลายในฝั่งสหภาพยุโรปและสหรัฐ โดย Google Shopping มีคุณลักษณะที่เป็นมิตรกับผู้ลงโฆษณาจากเครื่องมือค้นหาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อัลกอริทึมที่ Google ออกแบบมาจะรวมข้อมูลเชิงลึกที่ชาญฉลาดให้เข้ากับสิ่งที่ผู้ใช้และนักการตลาดต้องการมาผสมผสานเข้ากับอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายของ Google ได้อย่างลงตัว

ในประเทศที่ Google Shopping ให้บริการ เวลาที่ท่านผู้อ่านค้นหาสินค้าสักอย่าง อัลกอริทึมที่ Google ออกแบบไว้จะดึงข้อมูลราคาจากร้านค้าต่างๆ หรือเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เปรียบเทียบราคาขึ้นมาแสดงผล แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการค้นหาทุกครั้งคือ ไม่ว่าจะเปรียบเทียบราคาอย่างไร “By Google” (ซึ่งหมายถึง Google Shopping) ก็จะขึ้นแสดงผลมาเป็นอันดับแรกเสมอ ซึ่งในทางพฤติกรรมของผู้บริโภคมักปรากฏว่าผู้บริโภคจะเลือกเข้าไปใช้บริการ (คลิก) สิ่งที่เห็นเป็นอันดับแรก แม้ว่าอาจจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือมีความสามารถมากกว่า การคลิกในโลกออนไลน์หมายความว่ามีการดึงแทรฟฟิคหรือการจราจรเข้าไปในเว็บนั้น การมีแทรฟฟิคสูงก็จะตามมาด้วยการที่จะมีผู้สนใจลงโฆษณาขายสินค้ามากขึ้น อันเป็นผลมาจากลักษณะของตลาด 2 ด้าน (Two-sided market)

การที่ผู้บริโภคค้นหาสินค้าออนไลน์ผ่าน Google Search ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเสิร์ช เอนจิน รายใหญ่และผูกขาด (มีอำนาจเหนือตลาด) และ Google Search จะแสดงผลบริการอีกตัวหนึ่งของ Google ก่อนผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปมีความเห็นว่าการกระทำของ Google ไม่ชอบด้วยกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (Abuse of dominant position) ซึ่งขัดกับมาตรา 102 TFEU

Google ทำอะไร? Google ใช้อัลกอริทึม (AI) ที่ออกแบบมาใน Google Search เพื่อให้เปรียบในการแข่งขันกับธุรกิจของตนเองอีกตัวหนึ่ง คือ Google Shopping ที่แข่งขันอยู่ในตลาดเดียวกันกับ Shopping FM และผู้ให้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้ารายอื่นๆ ซึ่งในคดีนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองไปราว ๆ 2.4 พันล้านยูโร หรือประมาณ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และให้ระงับการกระทำดังกล่าวในสหภาพยุโรป (แต่ Google ยังทำแบบเดิมได้ในประเทศอื่น ๆ) กล่าวคือ Google ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมระหว่างผู้ให้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้าทุกราย (Equal treatment) จะให้เปรียบบริการของตนเองไม่ได้

คดีที่สอง Google Android ในคดีนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปมีคำสั่งปรับ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google เป็นเงิน 4.34 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนค่าปรับที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป โดยการกระทำของ Google ที่เป็นความผิดในคดีนี้มี 3 ประการ ดังนี้

1) การบังคับพ่วงขายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Illegal tying) โดยการกำหนดให้ผู้ผลิตติดตั้งแอพ Google Search, Google Chrome และ App Store ของ Google (Play Store) เป็นเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้ใช้และติดตั้ง Google Android

2) สนับสนุนทางการเงินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กับผู้ผลิตรายใหญ่บางรายและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องติดตั้งแอพพลิเคชัน Google Search ไว้ล่วงหน้าบนอุปกรณ์ของตน และ

3) จำกัดการแข่งขันของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อื่นๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการจำกัดห้ามมิให้ผู้ผลิตที่ต้องการติดตั้ง Google Apps จำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์ที่ทำงานบน Android เวอร์ชั่นอื่นหรือที่เรียกว่า “Android forks” โดยไม่ได้รับการอนุญาตจาก Google

ความน่าสนใจของคดีนี้มีหลายประการ โดยเฉพาะการกำหนด ตลาดที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการเป็นความผิดตามมาตรา 102 ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสภาพยุโรปมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญ กล่าวคือ (1) เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด และ (2) มีพฤติกรรมที่บิดเบือนหรือใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่ชอบ ซึ่งต้องมีครบทั้งสององค์ประกอบจึงจะเป็นความผิด (กฎหมายไทยก็เขียนลักษณะเดียวกัน)

ในคดีนี้ คณะกรรมการกำหนดขอบเขตของตลาดจำกัดเพียง Android Market กล่าวคือ ไม่นำ iOS เข้ามาพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของตลาด Mobile OS เมื่อพิจารณาเฉพาะ Android Market ดังนั้น Google จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งหากในการกำหนดบทนิยามของ “ตลาดที่เกี่ยวข้อง” รวมเอา iOS หรืออื่นๆ เข้ามาด้วยก็อาจทำให้ Google ไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด Mobile OS อีกต่อไป และจะไม่ครบองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามาตรา 102

ตามคำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป Google จะต้องยุติการกระทำ ทั้ง 3 ดังกล่าวข้างต้นและจะต้องไม่ใช้มาตรการอื่นใดที่ให้ผลในทำนองเดียวกันหรือมีวัตถุประสงค์เดียวกันกับพฤติการณ์ทั้ง 3 ประการดังกล่าว ในกรณีที่ Google ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรป Google อาจจะต้องชำระค่าปรับเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 5% ของผลตอบแทนทั่วโลกต่อวัน และยังอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลในรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อกฎหมายของ Google อีกด้วย

จากทั้ง 2 คดีข้างต้นจะพบว่าพฤติกรรมการค้าที่ Google ใช้นั้นเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเดียวกันทั่วโลก โดยในสหภาพยุโรปเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายและขัดต่อกฎหมายของตน แต่ในขณะที่ในสหรัฐที่เป็นสถานที่ตั้งของบริษัทแม่ของ Google ก็ไม่ได้มองว่าพฤติกรรมของ Google จะทำลายการแข่งขันแต่อย่างใด

โดย... 

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์