ผันแปรตามโลก (จบ)

ผันแปรตามโลก (จบ)

เราอยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีสารพัดอย่างให้ใช้บนปลายนิ้ว แต่เรากลับใช้เวลากับมันอย่างไร้สมดุล

วิถีชีวิตของคนดิจิทัลดูจะย้อนแย้งกันอยู่ไม่น้อย ด้วยความที่เราอยู่ในยุคที่มีเทคโนโลยีสารพัดอย่างให้ใช้บนปลายนิ้ว แต่เรากลับใช้เวลากับมันอย่างไร้สมดุลจนทำให้การใช้เวลาส่วนตัวกับการใช้เวลาทำงานสับสนปะปนกันไปหมด เพราะเราแบ่งแยกเวลาไม่เป็น สิ่งนี้เป็นปัญหาที่เราจะพบว่ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และบางครั้งอาจร้ายแรงถึงชีวิต เช่นการแชทส่งข้อความ  ขณะขับรถ หรือใช้มือถือขณะทำงานกับเครื่องจักรอันตราย

ข้อต่อมาคือการสร้าง “คุณค่า” ให้กับงานที่ทำอยู่ อย่าทำไปเพียงเพราะเป็นหน้าที่แต่ทำเพราะอยากสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น หากคิดได้แบบนี้เราจะใส่ใจกับงานที่ทำในทุกขณะ เมื่อพบเห็นอะไรดี ๆ ที่อาจเป็นนำไปใช้ได้เราจะรีบจดบันทึกไม่ปล่อยให้มันผ่านเลยไปการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่ทำนั้นหมายความรวมถึงทุกรายละเอียดที่ทำให้งานของเราสมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยต้องใช้มุมมองของคนอื่น โดยเฉพาะลูกค้าเป็นมุมมองหลักไม่ใช่มุมมองของเจ้าของหรือคนทำงานแต่เพียงอย่างเดียว

กับธุรกิจร้านอาหารเราอาจเข้าใจไปเองว่าคุณภาพของอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องอร่อย สะอาด ซึ่งไม่ผิดแต่องค์ประกอบอื่น ๆ เช่นการบริการ การจัดการ ในมุมมองของลูกค้า หากเข้ามาในร้านแล้วพนักงานไม่สนใจบริการ หรือสั่งไปแล้วรอเป็นชั่วโมง อาหารอร่อยแค่ไหนลูกค้าก็คงไม่กลับมาใช้บริการร้านนี้อีก คุณค่าของอาหารชั้นดีจึงตกไปทันที เช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจซึ่งเราต้องหาให้เจอว่าจุดไหนที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า อย่าให้เขารู้สึกว่าจ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย เพราะสิ่งที่เราส่งมอบให้ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของเขา

บางครั้งการทำเกินสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากรับปากลูกค้าว่าจะทำสิ่งต่าง 1-2-3 แต่เวลาส่งมอบงานอาจต้องกลายเป็น 1-2-3-4 อย่ารับปากลูกค้าว่าจะทำ 1-2-3-4 แต่ส่งมอบงานได้จริงเพียงแค่ 1-2-3 เพราะการทำต่ำกว่าความคาดหวังจะทำให้ลูกค้าขาดความไว้ใจเราในอนาคต

ข้อที่ 3 การกล้ารับความเสี่ยง โดยอย่าเข้า ๆ ออก ๆ ไม่กล้าที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า เราก็อาจพลาดจังหวะสำคัญในชีวิตไปได้ง่าย ๆ หากมั่นใจว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เป็นแนวทางที่เราอยากไปจริง ๆ ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนวัตกรรมในโลกล้วนเกิดมาจากความเสี่ยงในสิ่งที่ไม่มีใครรู้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หรืออาจเป็นสิ่งที่มีคนเคยพยายามทำแล้วแต่ทำไม่ได้ รวมถึงไม่มีคนอยากทำเพราะคิดว่าเสี่ยงมากเกินไป แต่การที่เราทำได้ สร้างนวัตกรรมขึ้นมาสำเร็จก็อาจยังไม่ใช่ปลายทางสุดท้าย

ขึ้นอยู่กับว่านวัตกรรมนั้นมีคนอื่นเห็นคุณค่าไหม มีคนยอมรับไหม และท้ายที่สุดแล้วคือจะมีคนยอมเสียเงินเพื่อซื้อมันไหม ซึ่งทุกขั้นตอนนั้นมีความไม่แน่นอนที่เราต้องเอาชนะให้ได้ ซึ่งยุคดิจิทัลเราจะเห็นโอกาสเหล่านี้ผ่านมาผ่านไปมากมายจุดกำเนิดของธุรกิจระดับโลกทั้งหมดก็ล้วนเกิดขึ้นโดยไม่มีความพร้อม แม้แต่ facebook ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัยในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่มีความเร็วสูงขนาดนี้ แต่ก็ปรับตัวและเติบโตขึ้นมาเปลี่ยนโลกจนเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ทั้ง facebook, Amazon, Alibaba ไม่มีใครเฝ้ารอให้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแพร่หลาย ผู้คนมีสมาร์ตโฟน 4G ใช้กันเป็นล้าน ๆ เครื่องแล้วค่อยมาลงทุนทำธุรกิจ แต่ทุกคนล้วนล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่ผู้ใช้ยังไม่พร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จในอนาคต เช่นเดียวกับยุคอุตสาหกรรมที่คนสร้างรถยนต์ขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่มีถนนรองรับ การที่คนทำงานในยุคปัจจุบันมักเอาสภาพแวดล้อมมาเป็นข้ออ้างที่ทำให้เขาทำงานไม่สำเร็จจึงฟังไม่ขึ้นสักเท่าไรนัก ในเหตุผลที่ว่าลูกค้าไม่พร้อม ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เทคโนโลยี ฯลฯ

เส้นทางใหม่ ธุรกิจใหม่ ก็ล้วนเกิดขึ้นในจังหวะที่ไม่มีใครพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งนั้น ยิ่งในยุคดิจิทัลที่ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาและมีความต้องการใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวินาที คนที่ปรับตัวได้ก่อนเท่านั้นจึงเป็นผู้ที่มีโอกาสสร้างความสำเร็จได้ก่อนผู้อื่น