มองกองกำลังที่ 6

มองกองกำลังที่ 6

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐให้เตรียมการจัดตั้งกองกำลังที่ 6

กองกำลังนี้จะเสริมกองกำลังที่มีอยู่แล้วคือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพนาวิกโยธินและยามชายฝั่ง หน้าที่ของกองกำลังใหม่ได้แก่การดูแลด้านอวกาศซึ่งในปัจจุบันอยู่ในกรอบความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ ประธานาธิปดีทรัมป์อ้างว่ากองกำลังใหม่จะทำให้สหรัฐสามารถควบคุมพื้นที่ในอวกาศได้ซึ่งจะมีผลดีทั้งในด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ

การก่อตั้งกองกำลังใหม่เพื่อหวังจะใช้ควบคุมพื้นที่ในอวกาศอาจมองได้จากหลายแง่มุม จากมุมมองพื้นฐาน มันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์ กล่าวคือ พยายามแข่งขัน หรือช่วงชิงกันเป็นใหญ่เพื่อหวังจะได้สิ่งของมาสนองกิเลสตนศาสดาของหลายศาสนามองเห็นความบกพร่องของมนุษย์ตรงนี้ จึงแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมอันเกิดจากกิเลส แต่เป็นเวลาหลายพันปี คำแนะนำยังไม่มีผลอะไรอย่างมีนัยสำคัญ การแข่งขันจึงจะดำเนินต่อไป

จากมุมมองของเศรษฐกิจ การขยายกองกำลังและสร้างอาวุธจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแน่นอนเพราะจะเกิดการใช้จ่าย ทั้งในด้านค่าแรงและการลุงทุนในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ ต่อจากนั้น จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปอีกหลายทอด อย่างไรก็ดี ส่วนสำคัญของการขยายตัวนี้จะไม่มีประโยชน์ต่อชาวอเมริกันเนื่องจากอาวุธทั้งหลายนั้นไม่อาจนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ นั่นหมายถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากประโยชน์

มองกองกำลังที่ 6

จากมุมมองของด้านการเมือง การสร้างกองทัพเพิ่มขึ้นเป็นความปรารถาของนายทุนใหญ่ ๆ ในวงการอุตสากรรมโดยเฉพาะผู้ผลิตอาวุธและทหาร ซึ่งต้องการความมั่นคงของงานพร้อมกับฐานในการเลื่อนยศ 2 กลุ่มนี้ มีผลประโยชน์แฝงอยู่ จึงพยายามผลักดันให้เกิดการขยายกองทัพอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง อดีตนายพล 5 ดาว ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ จึงได้เตือนไว้ให้ระวังก่อนก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อต้นปี 2504 แม้จะมาจากพรรคเดียวกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ แต่นายทรัมป์ไม่ฟังคำเตือนนั้นเพราะแนวคิดพื้นฐานของเขาเข้าข้างฝ่ายนายทุนใหญ่และชาวอเมริกันสายเหยี่ยวที่ต้องการใช้กำลังทหารเพื่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

จากมุมมองของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี กองกำลังนี้จะกระตุ้นให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ซึ่งจะก่อให้เกิดทั้งประโยชน์และโทษ กล่าวคือ หากนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชน เทคโนโลยีใหม่มักจะทำให้เกิดประโยชน์สูง แต่ในขณะเดียวกัน มันอาจทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงเมื่อนำมาใช้เพื่อการทำลายล้างและการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์และระบบนิเวศ คอลัมน์นี้พูดีถึงความเสียหายแนวนี้แล้วหลายครั้งในนามของ คำสาปของเทคโนโลยี

จากมุมมองของการครองและเสียอำนาจของมหาอำนาจในประวัติศาสตร์ซึ่ง Paul Kennedy วิเคราะห์ไว้ในหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Great Powers (มีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)การตั้งกองกำลังใหม่เพิ่มค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ต่อไปทั้งกองกำลังใหม่และกองกำลังเก่าจะต้องได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อถึงจุดหนึ่งในวันข้างหน้า เศรษฐกิจจะไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายแบบนี้ได้ส่งผลให้อำนาจของสหรัฐเสื่อมลง หากมีมหาอำนาจใหม่ท้าทายสหรัฐในตอนนั้น การต้อสู้กันจะนำไปสู่สงครามใหญ่ เมื่อคู่ต่อสู้มีอาวุธร้ายเช่นนิวเคลียร์ โลกคงจะถูกทำลายย่อยยับ

เราจะทำอย่างไรในเมื่อโลกอาจจะถูกทำลายจากอาวุธร้ายดังกล่าว? ทางหนึ่งอาจเป็นรีบกิน รีบใช้ รีบหาความสำราญใส่ตัวอย่างเต็มที่ เพราะโอกาสจะมีตอนนี้เท่านั้น พฤติกรรมแนวนี้มีแต่จะเร่งโลกให้ล่มสลายไม่ว่าสงครามใหญ่จะเกิดหรือไม่ก็ตาม อีกทางหนึ่งคืออยู่อย่างเรียบง่ายโดยกินใช้และหาความสำราญบนฐานของความจำเป็น ทางนี้มีโอกาสสนับสนับสนุนโลกให้อยู่ต่อไป ในกรณีที่ไม่มีสงครามใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้นำของมหาอำนาจเข้าใจว่า สงครามจะทำให้ทุกอย่างถูกทำลายจึงพร้อมใจที่จะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ปริศนาใหญ่สำหรับรัฐบาลของประเทศทั่วไปคือ จะใช้นโยบายอะไรที่จะชักจูงให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายโดยใช้จ่ายอยู่บนฐานของความจำเป็น? กรอบสำหรับนโยบายแนวนี้มีอยู่ในเมืองไทยแล้วชื่อ เศรษฐกิจพอเพียง