GDP ที่เรา (ไม่) ต้องการ

GDP ที่เรา (ไม่) ต้องการ

การแก้ปัญหาความยากจน ด้วยการอุดหนุนโดยรัฐ จากบทเรียนที่ผ่านมาของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ไม่ได้ช่วยสร้างให้เกิดการพึ่งพาตนเอง

หรือทำให้คนยากจนเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว

ขณะที่การแก้ปัญหาสังคม ด้วยการช่วยเหลือโดยมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ทำไม่ได้อย่างต่อเนื่อง หากขาดการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากแหล่งทุนภายนอก

เช่นเดียวกับที่ องค์กรธุรกิจไม่สามารถช่วยเหลือชุมชนหรือสังคมให้ยั่งยืน ได้ด้วยการบริจาคเพื่อการกุศล หรืออาสาช่วยเหลือในรูปของกิจกรรมเพื่อสังคมนอกเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ

การขจัดความยากจน ความหิวโหย หรือการดูแลสุขภาวะ ที่เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว คือ การทำให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ และมีปัจจัยสี่ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พัฒนาทักษะให้มี “ความเป็นผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship) ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้

ความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก คือ ความเป็นฐานรากของเศรษฐกิจ ที่หากไม่ได้สร้างให้เกิดความเข้มแข็ง ตัวอาคาร หรือส่วนยอดของเศรษฐกิจ ก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง

ถ้าพิจารณาตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความเป็นผู้ประกอบการสูง พบว่า ประเทศไทย มีผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 11.7 ล้านคน สร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.5 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อ GDP รวมร้อยละ 42

ฐานรากของเศรษฐกิจอีกส่วนหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ เป็นผู้ประกอบการที่ถูกจัดอยู่ในหมวดเศรษฐกิจนอกภาคทางการ (Informal Economy) เช่น หาบเร่แผงลอย จักรยานยนต์รับจ้าง วิสาหกิจครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนแรงงานนอกระบบอยู่ราว 25 ล้านคน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ใน GDP แต่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60-70 เมื่อเทียบกับตัวเลข GDP

นี่คือ สาเหตุหลักที่แม้ตัวเลขการเติบโตของ GDP จะอยู่ในอัตราสูงเป็นที่น่าพอใจของคนในรัฐบาล (และคาดหวังจะให้คนในสังคมพอใจด้วย) แต่อานิสงส์นี้ กลับมิได้ตกอยู่กับคนหาเช้ากินค่ำหรือผู้ประกอบการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของพวกเขาเหล่านั้น ไม่ได้นับเป็นรายได้อยู่ในตัวเลข GDP (ที่หากนับรวมแล้ว GDP อาจจะไม่โตเลยก็เป็นได้)

มาถึงตรงนี้ นักเศรษฐศาสตร์ฟากรัฐ คงไม่นิ่งนอนใจที่จะเสนอทางออกโดยพยายามนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งหลายมาตรการที่ดำเนินอยู่เป็นเช่นนั้น อาทิ การส่งเสริมให้เกิดความง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of doing Business) ทั้งในแง่ของการลดระเบียบและขั้นตอนทางกฎหมาย รวมถึงการลดต้นทุนหรือธุรกรรมในการเข้าระบบ

ในความเป็นจริง แรงงานหรือผู้ประกอบการนอกภาคทางการเหล่านั้น อาจสมัครใจหรือเต็มใจที่จะอยู่นอกระบบ แม้จะมีการลดความยากในการประกอบธุรกิจแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ในสังคมปัจจุบัน ที่ได้รับอานิสงส์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีแนวโน้มที่จะเอื้อให้แรงงาน (ที่มีการศึกษา) ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) เข้าสู่เศรษฐกิจนอกภาคทางการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากเรามุ่งที่จะนำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ให้เข้ามาอยู่ในระบบถ่ายเดียว เราเตรียมพร้อมรับกับผลที่ติดตามมา ดังกรณีตัวอย่างเล็กๆ นี้ แล้วหรือไม่

งานบริการที่ถูกผลิตขึ้นภายในครัวเรือน เช่น การทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตซ้ำโดยแม่บ้าน มิได้นำมาคำนวณเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มิได้ถูกจดบันทึก

เราสามารถเพิ่มตัวเลข GDP ที่ว่า ด้วยการนำมูลค่าการผลิตในครัวเรือนเข้าสู่ระบบ ในลักษณะของการส่งเสริมให้เกิดการจ้างหน่วยงานหรือแรงงานภายนอกทำงานให้ (Outsourcing) ทั้งการทำความสะอาด การซักรีด การเตรียมอาหาร และแม้แต่การเลี้ยงดูบุตร ซึ่งทำให้มูลค่าของบริการเหล่านี้ สามารถบันทึกเป็นธุรกรรมของเศรษฐกิจในระบบ

แต่ผลที่ติดตามมา ประการแรก คือ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายจากการจ้างผู้ทำงานให้ ทำให้ครัวเรือนต้องขวนขวายหารายได้เพิ่ม ด้วยการทำงานมากขึ้นหรือทำงานเสริมเพิ่มขึ้น ความสะดวกสบายหรือเวลาว่างที่เพิ่มขึ้น อาจต้องหมดไปกับการทำงานส่วนเพิ่มเหล่านี้

ประการต่อมา คือ ผลิตภาพที่ได้จากผู้ทำงานให้ อาจต้องแลกกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะตัวอย่างเรื่องของการเลี้ยงดูบุตรโดยบุคคลภายนอก ที่สร้างความวิตกกังวลขึ้นว่า พี่เลี้ยงจะดูแลได้ดีหรือไม่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายจากการปล่อยให้เลี้ยงดูตามลำพังมีมากน้อยเพียงใด สิ่งเหล่านี้พัฒนามาเป็นความเครียด ระคนความทุกข์ที่เกิดจากการไม่ทำหน้าที่ตามบทบาทอันสมควร กังวลอยู่ลึกๆ ว่าจะมีผู้ใดมาติเตียนได้หรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจ ซึ่งถือเป็นความสุขของชีวิตก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้

สิ่งเหล่านี้ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ในสังคมตะวันตก ในหลายประเทศที่ได้ชื่อว่า เจริญแล้ว โดยที่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ต้องแลกด้วยคุณค่าที่เป็นความผูกพันในครอบครัว ความมีน้ำใจของญาติพี่น้อง (ที่ไม่คิดมูลค่า) หรือความไว้เนื้อเชื่อใจที่ได้รับจากเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในชุมชน

ในเมื่อตัวเลข GDP ไม่ได้สะท้อนถึงคุณค่าหรือสิ่งที่เป็นความดีงามหลายอย่างในสังคมที่ควรจะจรรโลงไว้ อีกทั้งไม่สามารถจะนำเข้าสู่การคำนวณมูลค่า โดยปราศจากผลที่ติดตามมา ฉันใด เราก็ไม่ควรที่จะวัดความสำเร็จ (ทางเศรษฐกิจ) โดยยึดถือ GDP เป็นสรณะ ฉันนั้น