สวัสดิภาพสัตว์...ก้าวสำคัญอาหารปลอดภัย สุขภาพดียั่งยืน

สวัสดิภาพสัตว์...ก้าวสำคัญอาหารปลอดภัย สุขภาพดียั่งยืน

กระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)

 เนื่องจากมีความเชื่อมโยงสู่อาหารปลอดภัย และมีส่วนสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนของหลักการอาหารมั่นคงขององค์การอาหารและเกษตรโลก (FAO) เพื่อหล่อเลี้ยงมนุษยชาติ โดยปราศจากการทรมานสัตว์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“สวัสดิภาพสัตว์” บางคนอาจเข้าใจเพียงว่าเป็นการจัดการให้สัตว์ที่เลี้ยงมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย แต่นัยที่แท้จริงแล้ว เป็นความเกี่ยวโยงในการจัดการ ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ที่ต้องมีขั้นตอนการดูแลเพื่อให้สัตว์มีความสุข มีสุขภาพพื้นฐานที่ดี แข็งแรง สามารถเติบโตดีตามศักยภาพพันธุกรรมธรรมชาติของเขาเอง ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร เมื่อสัตว์ไม่เจ็บป่วย ไม่เป็นโรค เท่ากับเป็นการลดโอกาสของปัญหาเชื้อดื้อยาไปโดยปริยาย ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ส่งถึงผู้บริโภคมีคุณภาพที่ดีและปลอดภัย

สหภาพยุโรป (อียู) นับเป็นภูมิภาคแรกที่ริเริ่มการศึกษาวิจัยในโครงการด้านสุขภาพ ที่มุ่งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกัน และผลักดันมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ให้กลายเป็นหลักเกณฑ์ในระดับนานาชาติ ด้วยมองว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก โดยได้หยิบยกหลักอิสรภาพ 5 ประการในการปฏิบัติต่อสัตว์ ประกอบด้วยความเป็นอิสระจากความหิวกระหาย (Freedom from hunger and thirst), อิสระจากความไม่สบายกาย (Freedom from discomfort), อิสระจากความเจ็บปวดและโรค (Freedom from pain injury and disease), อิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน (Freedom from fear and distress) และอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ (Freedom to express normal behavior) มาเป็นข้อเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตระหนักและใส่ใจในมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่ในอุตสาหกรรม ต้องกำหนดพื้นที่สำหรับไก่ ไม่ให้ไก่อยู่อย่างแออัด และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุขสบายมีสุขลักษณะที่ดี เป็นต้น

สำหรับกรมปศุสัตว์ได้นำหลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Organization for Animal Health : OIE) และมาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของอียูมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ โดยฟาร์มไทยทั้งหมดเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์มาตั้งแต่ปี 2543 ทำให้ประเทศไทยมีภาคเอกชนรายแรกนอกกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับการรับรองด้านสวัสดิภาพสัตว์ และถือเป็นต้นแบบมาตรฐานการผลิตระดับโลก

สำหรับทุกสายธุรกิจทั่วโลกที่ดำเนินธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ การผลิตเนื้อสัตว์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมถึงคู่ค้านำไปปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการทั้งห่วงโซ่การผลิตเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ และได้ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย ถูกหลักโภชนาการ ตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัยมาตรฐานเดียวกันสู่ผู้บริโภค

เช่นเดียวกับธุรกิจสุกร ที่มีเป้าหมายขยายการเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องจากแบบยืนซอง คอกขังเดี่ยว เป็นการเลี้ยงแบบคอกขังรวม (Group Pen Gestation) ให้ครอบคลุมกิจการประเทศไทยภายในปี 2568 และกิจการต่างประเทศภายในปี 2571 รวมทั้งการศึกษาพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบปล่อยอิสระภายในโรงเรือน หรือ Cage-Free

ขณะเดียวกันยังมีโครงการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีก ด้วยการร่วมกับมหาวิทยาลัย Bristol ประเทศอังกฤษ พร้อมกับต่อยอดสู่การพัฒนาเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ปีก (Poultry Welfare Officer) โดยร่วมกับสถาบัน AW Training UK ที่มีชื่อเสียงด้านฝึกอบรมสวัสดิภาพสัตว์ของอังกฤษ อบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ปีกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะขยายขอบเขตจากประเทศไทยให้ครอบคลุมธุรกิจทั่วโลก

นับเป็นความสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ในตลาดโลก อย่างในงานสัมมนาวิชาการของบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ทั้งงาน The 2018 Poultry Innovation Days ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก จัดโดย Boehringer Ingelhiem และงานสัมมนาวิชาการ The 7th Biology Scientific Forum ของบริษัท Ceva Animal Health ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทั้ง 2 งานมีผู้แทนจากซีพีเอฟ ร่วมบอกเล่าถึงความสำเร็จในการนำสวัสดิภาพสัตว์มาใช้ และได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในงานยังเน้นนวัตกรรมด้านสุขภาพสัตว์ พันธุกรรมสัตว์ปีก และอาหารปลอดภัย (Food Safety) ด้วย

สิ่งที่ได้ตามมาไม่เพียงจะช่วยให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดสาร ปราศจากการทรมานสัตว์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังช่วยตอกย้ำในศักยภาพของเนื้อสัตว์ส่งออกของไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ นำพาให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

 

โดย... 

 น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล

องกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีก และผู้เชี่ยวชาญสวัสดิภาพสัตว์ ซีพีเอฟ