กังขา “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

กังขา “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ”

นับตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์ผิดพลาดชนิดหน้าแตกเนื่องจากหาคนพยากรณ์ไม่ได้เลยว่าจะเกิด "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ขึ้นในปี 2007-2008 ในสหรัฐ

เศรษฐศาสตร์ก็ถูกตรวจสอบอย่างเป็นพิเศษว่า มีสิ่งใดบกพร่องจึงทำให้สามารถวิเคราะห์สิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นคุ้งเป็นแคว แต่ไม่ค่อยจะเป็นสับปะรดในการพยากรณ์ ปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกบ่นกันไม่น้อยว่าถึงเวลาต้องผ่าตัดเศรษฐศาสตร์ในบางเรื่องกันสักทีกระมัง

ล่าสุดนิตยสารThe Economist อันเกรียงไกรระดับโลก ลงบทความวิจารณ์จุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ในหลายเรื่อง โดยทยอยออกมาเป็นชุด เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและเกี่ยวพันกับบ้านเราก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เสียงจากThe Economist นั่นน่ารับฟัง เพราะแต่ละอาทิตย์ตีพิมพ์มากกว่า 1-5 ล้านเล่ม (ไม่รวมคนอ่าน online อีกนับล้านคน) ครึ่งหนึ่งขายในสหรัฐที่เหลือกระจายไปทั่วโลก เนื้อหาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองธุรกิจในระดับโลกอย่างได้รับความน่าเชื่อถือสูงตีพิมพ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1843 หรือเมื่อ 175 ปีก่อน ผู้เขียนคอลัมน์และข่าวล้วนมีความรู้ดีมากในเรื่องที่ตนเขียนและเป็นนิตยสารแนวนี้เล่มเดียวที่ไม่สะทกสะท้านกับการคุกคามจากโลกดิจิทัล

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหมายถึงการขยายตัวของขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือขนาดของ GDP หรือรายได้รวมของคนทั้งประเทศ หรือมูลค่ารวมของสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในแต่ละประเทศในแต่ละปี มาตรฐานของการกินดีอยู่ดีวัดได้คร่าวๆ โดย GDP ต่อหัว ดังนั้นถ้า GDP ไม่ขยายตัวแต่ประชากรขยายตัว ความกินดีอยู่ดีก็ต้องลดลง ดังนั้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องจำเป็น

อย่างไรก็ดีมีข้อวิจารณ์ว่าแม้แต่ในปัจจุบันเศรษฐศาสตร์ก็บอกไม่ได้อย่างแจ่มชัดว่าอะไรเป็นปัจจัย (สาเหตุ) ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโต อะไรอธิบายการขยายตัวของ GDP จีนอย่างน่าอัศจรรย์ ในขณะที่อินเดียใช้เวลานานกว่าที่เครื่องจะร้อน เหตุใดสิงคโปร์ที่ประเทศเล็กมากสามารถมีการเจริญเติบโตสูงมากในชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น ซึ่งประเทศอื่นขนาดเดียวกันก็มีอีกมากมายในโลกแต่เทียบไม่ได้เลยกับสิงคโปร์

สิ่งที่เรารู้ก็คือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (GDP ต่อหัวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง) เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในโลกในศตวรรษที่ 18 หรือเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ประเทศจะร่ำรวยได้ก็ด้วยการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องข้ามระยะเวลายาวนานเท่านั้น อีกทั้งรู้อีกว่าทุนและเทคโนโลยีทำให้แรงงานแต่ละคนสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น มากไปกว่านี้ในระดับย่อยแล้วยังไม่รู้อย่างชัดเจน

มีอยู่ แนวคิดในเรื่อง การเจริญเติบโต แนวคิดที่หนึ่ง Robert Solow พบว่าการเจริญเติบโตเป็นผลพวงจากการสะสมของทุน (capital accumulation) โมเดลของเขาอธิบายว่าประเทศยากจนสามารถไล่ตามประเทศร่ำรวยได้อย่างไร แต่ไม่ได้อธิบายชัดเจนว่าเหตุใดประเทศร่ำรวยจึงมีการเจริญเติบโตได้ในตอนแรก นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ก็เสริมต่อว่าความรู้ที่ได้รับมาและการแพร่กระจายของมันเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โมเดลอธิบายการทำงานของการเจริญเติบโตได้ดี แต่ไม่สามารถอธิบายว่ามันเกิดจากอะไรอย่างแจ่มแจ้ง

Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลคนสำคัญวิจารณ์ว่า มีการใช้สมมติฐานเกี่ยวกับสิ่งที่วัดไม่ได้ (unmeasurable things) ว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งอื่นๆ ที่วัดไม่ได้เช่นกัน โดยไม่สามารถบอกได้ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่วัดไม่ได้นี้คืออะไร มีบทบาทมากน้อยอย่างไร

เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ว่าวัฒนธรรมความเชื่อ สมรรถนะด้านเทคโนโลยี ความเชื่อด้านศาสนา ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยการเมือง ลักษณะของทุน สิทธิความเป็นเจ้าของ ฯลฯ มีบทบาทมากน้อยอย่างไรต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 

แนวคิดที่สอง  มาจากงานวิจัยเชิงประจักษ์ประเทศต่างๆ เพื่อค้นหาว่าอะไรคือปัจจัยในการอธิบายการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ บ้างก็เน้นเทคนิคที่เรียกว่า “growth accounting” เพื่อหาคำตอบเชิงปริมาณของการมีส่วนร่วมของทุนและแรงงาน บ่อยครั้งที่ปัจจัยคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและ “สิ่งที่เราไม่รู้” งานวิจัยในแนวคิดนี้มีมากมาย แต่ก็หาคำตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะโลกเราซับซ้อนและยุ่งเหยิงเกินกว่าที่โมเดลคณิตศาสตร์จะให้คำตอบได้

แนวคิดที่สาม ใช้การวิจัยเพื่อหาบทเรียนจากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากความมั่งคั่งและความยากจนของประเทศอาณานิคมต่างๆ ปัญหาที่พบก็คือข้อมูลมีจำกัด อย่างไรก็ดี เส้นทางนี้นำเศรษฐศาสตร์เข้าไปใกล้ปัจจัยการเมืองและวัฒนธรรม การศึกษาเชิงบรรยายไม่อาจให้คำตอบได้ชัดเจนมากเท่าเชิงปริมาณซึ่งบ่อยครั้งก็ไร้ความหมาย

การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในรอบ 30 ปี เป็นเรื่องเหลือเชื่อจนมีการวิจัยกันกว้างขวาง และพบว่าทุนต่อแรงงาน เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ความสามารถในเชิงธุรกิจของคนจีน การปล่อยเสรีด้านเศรษฐกิจแต่ควบคุมด้านการเมืองโดยรัฐบาล ฯลฯ มีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอนและอาจนึกไปถึงเรื่องความสามารถในการ สั่งได้ ของรัฐบาลจีนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

เศรษฐศาสตร์มาไกลมากในเวลา 200 กว่าปี ในการช่วยทำให้ชาวโลกมีความกินดีอยู่ดีสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นนี้ มีความจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องการเจริญเติบโตที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น การลืมตาอ้าปากของมนุษย์เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่ไม่อาจอาศัยเพียงความเข้าใจขั้นพื้นฐานได้อีกต่อไป​