บังคับบัญชาผ่านเครือข่ายสังคม

บังคับบัญชาผ่านเครือข่ายสังคม

ถ้าท่านผู้บริหารสั่งการแทบทั้งหมดด้วยวาจา หรือทางโทรศัพท์ ท่านอาจจะเกลียดผู้บริหารของท่านมากขึ้น

 ทันทีที่ได้ยินเสียงที่บังคับให้ทำตามที่ผู้บริหารบัญชา ท่านจะบ่นตอบไปว่าหัวหน้าอะไรวะสั่งการโง่เง่าแบบนี้ ท่านมีหวังตกงานแน่ๆ เลยหมดโอกาสลดความเครียดในการที่จำใจทำตามคำบัญชาที่ท่านดูว่างี่เง่านั้น จะบ่นตามหลังจากฟังเสียงสั่งการ ก็ได้ความรู้สึกไม่เหมือนกับการที่ได้สบถกับคำสั่งที่ดูไม่ค่อยฉลาดนั้นในทันที ถ้าแค่ถูกบังคับจากถ้อยคำที่อ่านจากไลน์ อ่านแล้วบ่นแรงๆ ได้ในทันทีที่อ่านคำบังคับบัญชานั้น อาจลดความเครียดลงไปได้บ้าง นี่คือตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์ของการใช้เครือข่ายสังคมในการสั่งการต่างๆ ที่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ลูกน้องได้ทำอะไรเบื้องหลังที่ช่วยทุเลาความเครียดจากการสั่งการของผู้บริหารได้บ้าง

ผู้บริหารที่ชอบบังคับและบัญชาบางท่าน กล้าๆ กลัวๆ กับการสั่งการลูกน้องหัวแข็งบางคนโดยตรง สั่งอะไรไปเจ้าคนหัวแข็งสวนมาทุกครั้ง โดยเฉพาะหัวแข็งเส้นดีทั้งหลาย ท่านผู้บริหารอาจสั่งการผ่านไลน์แทนการสั่งการด้วยวาจา จะโต้ตอบอะไรมาก็แค่ตัวหนังสือ บางทีก็แกล้งไม่อ่านให้คนหัวแข็งจำใจทำงานที่สั่งโดยไม่สามารถสวนอะไรมาได้ทันทีเหมือนสั่งการเมื่อเจอหน้าตากัน  ซึ่งคล้ายๆ กับที่ผู้บริหารที่ชอบบังคับบัญชา แต่ไม่ดุดันพอที่จะลุยกับใครต่อใคร ชอบใช้หน้าห้องเป็นคนบอกต่อให้นั่นเอง การสั่งการผ่านเครือข่ายสังคมจึงเป็นไปตามวัฒนธรรมการบริหารดั่งเดิมของผู้บริหาร เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางไปเท่านั้น วิธีการยังเดิมๆ อยู่ 

เครือข่ายสังคมจึงช่วยเติมเต็มความสบายใจในการสั่งการลูกน้องหัวแข็งเส้นใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต้องเครียดกับการเผชิญหน้า  ถ้าลดระดับการเผชิญหน้าลงไปอีกด้วยการสั่งการผ่านกลุ่มในเครือข่ายสังคม ถ้าโชคดีสั่งถูกกาละ ท่านอาจได้กองหนุนจากลูกน้องบางคนที่ไม่ชอบหน้าคนหัวแข็งเส้นใหญ่นั้นอีกด้วย โดยสนับสนุนการสั่งการของท่านในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เครือข่ายสังคมมีให้ใช้ คนหัวแข็งเส้นใหญ่จะได้รู้ว่าท่านเองไม่ใช่ข้ามาคนเดียว ยังมีกองหนุนอยู่พอสมควร

ท่านผู้บริหารบางท่านไม่ชอบสั่งการโดยตรงไปที่ลูกน้องคนใดคนหนึ่ง ท่านบริหารแบบภาพรวมโดยตลอด คือบอกไปแล้วท่านเชื่อของท่านว่าคงมีใครสักคนหนึ่งที่ทำตามที่ท่านสั่งการได้ ซึ่งท่านผู้บริหารประเภทนี้ใครทำงานด้วยแล้วจะงงๆ คือไม่รู้ว่าท่านสั่ง หรือท่านสอน ปนกันไปหมด และท่านมักจะพูดอะไรที่เป็นนามธรรม ตีความไปได้สารพัด ถ้าท่านผู้บริหารประเภทนี้สั่งการผ่านเครือข่ายสังคม ท่านจะสั่งผ่านไลน์กลุ่มมากกว่าไลน์ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง การรับคำสั่งลอยๆ ไม่เจาะจงจากเครือข่ายสังคมมีข้อดีตรงที่ทำให้รู้ว่าใครจะทำ เพราะถามต่อกันในกลุ่มให้ท่านเห็นได้ว่าท่านแนะแล้วใครบ้างต้องทำอะไร เมื่อสื่อสารกันได้ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร ต่างคนต่างทำงานได้อย่างสบายใจขึ้น 

 เล่ากันว่าหลายสิบปีมาแล้ว มีเจ้านายในรูปแบบนักปราชญ์ท่านหนึ่ง มาบอกกล่าวฝากคนใหญ่คนโตในวันนี้คนหนึ่ง ซึ่งวันนั้นยังเป็นคนธรรมดา ให้เข้าทำงานกับคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้บริหารคณะนั้นรับฟังเจ้านายนักปราชญ์นั้นแล้วทั้ง 5-6 คนที่รับคำสั่งอยู่ด้วยกัน ไม่มีใครสักคนที่รู้เรื่องว่าเจ้านายต้องการฝากให้คณะนั้นรับคนใหญ่คนโตคนนั้นเข้ามาเป็นอาจารย์ จึงไม่ได้ทำอะไรต่อไป คนใหญ่คนโตคนนั้นเลยเกลียดชังคณะนั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ถ้าวันนั้นมีเครือข่ายสังคมให้เจ้านายท่านสั่งการ ทุกท่านในเหตุการณ์นั้นคงไม่มีใครเสียหน้าจนกลายเป็นความเกลียดชังกันต่อมา เครือข่ายสังคมถ้าใช้สั่งการอย่างถูกทาง ช่วยลดความเกลียดลงได้

ที่น่ากังวลที่สุดสำหรับการบังคับบัญชาผ่านเครือข่ายสังคม คือลูกน้องเอาไปเผยแพร่ต่อได้ง่าย แม้ว่าคนเผยแพร่เองก็สุ่มเสี่ยงทั้งต่อระเบียบวินัยของหน่วยงาน และกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่ก็มีปรากฏให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ ผู้บริหารรู้ดีว่าถ้าสั่งการอะไรที่ดูไม่ฉลาดออกไป ความไม่ฉลาดนั้นมีโอกาสกระจายออกไปได้ง่ายมาก จึงทำให้ระมัดระวังไม่สั่งอะไรที่ดูไม่ฉลาดออกไป เครือข่ายสังคมจึงช่วยให้ท่านผู้บริหารดูฉลาดขึ้น เว้นเสียแต่ว่าท่านไม่ฉลาดจริงๆ ความไม่ฉลาดของท่านย่อมปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในเครือข่ายสังคมอย่างแน่นอน