ถอดรหัสความสำเร็จ

ถอดรหัสความสำเร็จ

การตัดสินใจใดๆ ท่ามกลางความปรวนแปรทางอารมณ์ มักเป็นการตัดสินใจที่ขาดวิจารณญาณอย่างรุนแรง

เป้าหมายของนักธุรกิจ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร พนักงานบริษัท หรือนักเรียน นิสิต นักศึกษาล้วนมีสิ่งหนึ่งเหมือนกันหมดคือ “ความสำเร็จ” เพราะแน่นอนว่าไม่มีเจ้าของธุรกิจคนใดอยากเปิดร้านมาเพื่อหวังจะล้มเหลว หรือนักเรียนตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อหวังสอบตก

ลึกๆ ในใจทุกคนล้วนหวังความสำเร็จในระดับที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นฐานและความทะเยอทะยาน มีความต้องการเป็นคนสำคัญทั้งในกลุ่มเพื่อนฝูง สังคม ไปจนถึงระดับประเทศชาติ ที่ผ่านมาจึงเห็นข้อคิดเพื่อความสำเร็จมากมายจากหนังสือและโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทัศนคติ จังหวะเวลา การสนับสนุนจากคนรอบข้าง ความมุ่งมั่น ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบแห่งความสำเร็จได้จริงๆ คนที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกก็ล้วนต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตามไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่าย ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทุกวันนี้ล้วนล้มลุกคลุกคลานผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความยากลำบากมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่เขามีพลังแห่งความมุ่งมั่นคล้ายๆ กันหลายข้อทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายได้สำเร็จ

ประการแรกคือ ความมั่นใจจนทำให้เราทุ่มสุดตัวเพื่อเป้าหมายในครั้งนี้ เพราะความเชื่อมั่นนี้นอกจากจุดประกายให้กับตัวเราเองได้แล้วยังถ่ายทอดไปสู่คนรอบข้าง ทำให้ทุกคนรู้สึกมีพลังที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายด้วยกัน ความลังเลใจ ความไม่มั่นใจจะทำให้เกิดความคิดด้านลบจนอาจทำลายความรู้สึกของตัวเราและคนรอบข้างลงได้

หากเราไม่เชื่อมั่นในตัวเองแล้วจะหวังให้คนอื่นมาเชื่อมั่นในตัวงานของเราก็คงเป็นไปไม่ได้ การขจัดอุปสรรคทั้งหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำและหันมาสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับตัวเองและทีมงานให้เร็วที่สุด รวมถึงลูกค้า คู่ค้า ที่เขาพร้อมจะสนับสนุนเราต่อไปอย่างมั่นใจเต็มที่

ประการที่ 2 อย่าหวังที่จะเอาใจทุกคนรอบข้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนพอใจได้เหมือนๆ กันและความพยายามเช่นนั้นก็จะทำให้เป้าหมายใหญ่ที่ต้องการล่าช้าหรือเป็นไปไม่ได้ในที่สุด เพราะมัวแต่เสียเวลาไปกับการทำงานเอาใจคนอื่น

ความต้องการของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับความชอบซึ่งอาจมีความเป็นไปคนละทางจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตอบสนองความต้องการของทุกคนได้หมด และเป็นไปไม่ได้เช่นกันที่จะต้องเสียเวลาไปอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ทุกคนรอบข้างมีความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด

ประการที่ 3 เลิกอิจฉาริษยาผู้อื่น คำถามว่าทำไมเขาถึงดีกว่าเรา ทำไมเขาถึงทำได้ ทำไมเขาถึงมีตำแหน่งดีกว่าเรา ฯลฯ ล้วนเป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ก่อให้เกิดการคิดเชิงบวก เพราะในความเป็นจริงแล้วแม้จะมีสาเหตุมากมายที่ทำให้คนอื่นดีกว่า แต่ลึก ๆ แล้วเขาต้องมีบางอย่างที่เหนือกว่าเราจริง ๆ

การเปลี่ยนความริษยาเป็นการค้นหาความจริงจึงเป็นการเปลี่ยนพลังจากการคิดลบให้กลายเป็นบวกด้วยการเรียนรู้จากผู้อื่น เพื่อมองเห็นจุดแข็งของเขาซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงที่เราอาจนำมาใช้สร้างความสำเร็จในอนาคตได้ ความอิจฉาริษยาจึงอาจกลายเป็นครูสอนเราได้หากรู้จักคิดให้เหมาะสม

ประการที่ 4 ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ความคิดและความรู้สึกให้ถูกที่ถูกทาง โดยต้องเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของตัวเองว่าอยู่ในสถานะใด และต้องเข้าใจด้วยว่าการตัดสินใจใดๆ ในภาวะที่อยู่ในอารมณ์โกรธ เกลียด ก็มักจะส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ณ ขณะนั้นโดยไม่รู้ตัว

การตัดสินใจใดๆ ท่ามกลางความปรวนแปรทางอารมณ์ มักเป็นการตัดสินใจที่ขาดวิจารณญาณอย่างรุนแรง เพราะเป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์จึงขาดการใช้เหตุผลอย่างที่ควรจะเป็น ความคิดในเวลานั้นจึงขาดความรอบคอบเพราะไม่ไตร่ตรองและไม่คิดถึงผลที่ตามมา

สุดท้ายเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็มักจะโทษกันไปมาเพราะขาดสติ ขาดการใช้ปัญญาในการตัดสินใจ เราจึงจำเป็นต้องรู้ตัวเองให้ได้ว่าแต่ละช่วงเวลามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไร เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญในขณะที่เราขาดความพร้อมทางด้านอารมณ์

ยังคงมีปัจจัยอีก 3 ข้อที่ต้องขอให้ติดตามต่อฉบับหน้านะครับ