กระทรวงอุดมศึกษาจะแก้วิกฤติระบบการศึกษาได้หรือไม่

กระทรวงอุดมศึกษาจะแก้วิกฤติระบบการศึกษาได้หรือไม่

หากเป็นไปตามที่ หมออุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเตรียมการเอาไว้ ประเทศไทยจะมี “กระทรวงอุดมศึกษา” ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่

และจะเป็นกระทรวงที่มีเพียงกรมเดียวเพื่อความคล่องตัว และตอบโจทย์ของการทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้ได้

แน่นอนว่าในทางปฏิบัติจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งรัฐบาลนี้และรัฐบาลต่อ ๆ ไปอย่างยิ่ง

เพราะถ้าหากไทยปฏิรูปการศึกษาไม่ได้อย่างจริงจัง ก็อย่าได้หวังว่าเราจะหลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” หรือสามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4”อย่างที่นักวิเคราะห์ระดับโลกกำลังนำเสนอกันอยู่ขณะนี้

คุณหมออุดมเคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล เคยเป็นประธานของที่ประชุมอธิการบดีระดับชาติย่อมจะคุ้นเคยกับบุคลากรและปัญหาของแวดวงอุดมศึกษาเป็นอย่างดี

แต่ภารกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งปีในตำแหน่งนี้ก่อนการเลือกตั้งจะทำได้เพียงใดเป็นคำถามที่ยาก และอาจจะไม่มีคำตอบ

หากเพียงแค่ปูพื้นของแผนที่นำเสนอเท่านั้นก็จะเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติแล้ว

กระทรวงอุดมศึกษาจะแก้วิกฤติระบบการศึกษาได้หรือไม่

เช่นจะให้อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหลายสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างคล่องแคล่ว

ให้ปฏิรูปหลักสูตรของมหาวิทยาลัยทั้งหลายเรียนข้ามคณะกันได้

ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับหลักสูตรและกิจกรรมให้ผู้สูงวัยมาเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์ได้ในขณะที่ไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัย”

คุณหมออุดมบอกว่าจะเริ่มด้วยการให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายเสนอตัวเป็นผู้ริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้

ใครเสนอทำก่อน รัฐบาลจะมีแรงจูงใจต่อหัวให้” รมช. อุดมบอกผมระหว่างการสนทนาผ่าน Suthichai Live เมื่อเช้าวันจันทร์

คงไม่ต้องตอกย้ำว่าหากสถาบันระดับอุดมศึกษาใดไม่ปรับตัวอย่างเร่งด่วนและจริงจังอาจจะ “ไปไม่รอด”

คุณหมออุดมบอกว่าในช่วงหลังนี้จำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนได้ลดลงถึง 50% และมหาวิทยาลัยของรัฐเองแม้จะไม่เผชิญกับการลดอย่างฮวบฮาบแต่ก็เจอกับปัญหาจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ผมถามว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า ตัวเลขนี้จะเป็นอย่างไร รมช. ศึกษาบอกว่า “ก็คงจะลดลงไปอีก”

ดังนั้นสถานการณ์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาจึงเข้าสู่ภาวะ “วิกฤติ” อย่างปฏิเสธไม่ได้

และถึงจุดหนึ่งในอนาคตอันไม่นานจากนี้ไป คำว่า “ปริญญา” จะไม่มีความสำคัญ เพราะเอกชนที่ต้องการบุคลากรที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น ไม่ได้สนใจว่าใครจบจากสถาบันใดหรือได้ปริญญาอะไร หากแต่ต้องการจะรู้ว่าคนสมัครงาน “ทำอะไรเป็น คิดอะไรออก” หรือไม่มากกว่าคะแนนสอบผ่าน 4 ปีของมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

การขยับเข้าสู่การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับคนไทยทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกันผ่านระบบMOOC (Massive Open Online Courses) ของไทยเรายังช้าและขาดการประสานกันระหว่างสถาบันการศึกษา

รมช. อุดมบอกว่าจะพยายามให้มีการบูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งหลายเพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชาชีพสามารถสร้าง content ให้กับคนทั่วไปผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยใด ๆ

ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่ผมเชื่อว่าจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วนและเอาจริงเอาจัง เพราะหากเรายัง “ค่อยทำค่อยไป” และคอยแก้ปัญหาระบบราชการที่เป็นมะเร็งร้ายของระบบการศึกษาไทยทีละเปลาะ, ไทยก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

และคนไทยก็จะกลายเป็นประชาชนของประเทศล้มเหลวที่เรียกว่า failed state ในทุก ๆ ด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน