โอกาสแห่งดิจิทัล

โอกาสแห่งดิจิทัล

นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปี 2561 สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกก็มาถึงในรูปแบบของภูมิอากาศที่ผันผวนสุดขั้ว

โดยเฉพาะในสหรัฐที่ประสบกับภาวะหนาวจัดเป็นประวัติการณ์ในหลายๆ รัฐนับตั้งแต่เท็กซัสไปจนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

แม้กระทั่งฟลอริดาที่ถือเป็นเขตอบอุ่นก็ยังมีหิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกอีกครั้งเพราะพื้นที่ๆ ไม่ควรจะหนาวก็หนาวจัด ขณะที่พื้นที่ๆ ควรจะหนาวบางแห่งก็ประสบกับคลื่นความร้อนอย่างรุนแรง

อากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เพราะพลังธรรมชาตินั้นไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์เข้าไปต่อกรได้เลย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจนั้นแม้จะเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ล้วนๆ แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเศรษฐกิจของทุกประเทศถูกเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด

ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่เราถูกตั้งเป้าหมายเอาไว้มาก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดูจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ 5% - 5.4% ทำให้ตัวเลขการเติบโตของบ้านเราที่ 3.5% - 4% ดูมีความเป็นไปได้สูงมาก

ความพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปถึงเป้าหมายดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นเป็นนโยบายต่างๆ ที่เน้นสร้างความเติบโตจากอุตสาหกรรมที่มีความถนัดและมีความเชี่ยวชาญจริงๆ เช่นเป้าหมายของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้ง 5 หรือที่เรียกว่า New S-Curve

เริ่มจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ต่อยอดจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งรากฐานที่สำคัญนี้ได้เสริมสร้างให้ไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่ต่างๆ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก การเน้นที่อุตสาหกรรมนี้จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

สองคืออุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์เพราะนับตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของไทยในฐานะการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์รายสำคัญเพราะเกิดภาวะขาดแคลนทั่วโลก

สามคืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับบนและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการยกระดับจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ประเทศไทยถือเป็นปลายทางการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมยกให้ประเทศไทยเป็นฮับของการท่องเที่ยวและบริการทางการแพทย์ไปพร้อมๆ กัน

อุตสาหกรรมที่ 4 คือการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพในฐานะที่เป็นแหล่งอาหารของโลก และเคยตั้งเป้าจะเป็นครัวของโลกจึงต้องส่งเสริมบทบาทของเกษตรกรให้ถูกทาง รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกรูปแบบ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมที่ 5 คือการแปรรูปอาหาร ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก ไม่เน้นขายเฉพาะวัตถุดิบเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องมีการแปรรูปทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มและได้รับความนิยมในคนหมู่มากรวมถึงในตลาดโลก

ทั้ง 5 อุตสาหกรรมหลักจะถูกระบบดิจิทัลสมัยใหม่ยกระดับคุณภาพและบริการให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในแง่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน หรือใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เข้าถึงตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าให้มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่จะเห็นในปีนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ฐานราก จากธุรกิจหลักที่หล่อเลี้ยงคนไทย โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการในประเทศซึ่งยังมีช่องว่างเพื่อการพัฒนาอีกมาก

แนวโน้มของอุตสาหกรรมไฮเทคในปีนี้จึงถือว่าสดใสและมีโอกาสมากกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าได้สะสมความพร้อมไว้เพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะเติบโตในช่วงที่โอกาสมาถึง