มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (3)

มุมมองผู้คุมกฎตลาดทุนโลกกับ ICO (3)

ปัจจุบัน กฎระเบียบเกี่ยวกับ ICO ของไทยยังไม่มีใช้ชัดเจน แต่จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการกำกับดูแล Initial Coin Offering (ICO)

 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ของไทย ผมเห็นว่าแนวคิดของกลต.เกี่ยวกับ ICO นั้นเป็นแนวคิดที่ทันสมัย และเสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเข้าหาแหล่งเงินทุนที่น่าจะนำเอามาเขียนถึงในบทความนี้

ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว กลต.ได้ระบุว่า กลต.ให้ความสำคัญของนวัตกรรมดิจิทัล ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ ในการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ รวมทั้งช่วยเพิ่มทางเลือกของประชาชนและความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง 

“การระดมทุนด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน ( digital token) ต่อสาธารณชน ( Initial Coin Offering-ICO) เป็นตัวอย่างที่มีศักยภาพน่าสนใจในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเทคสตาร์ทอัพ ( tech startup) และธุรกิจเพื่อสังคม ( social enterprise) ให้สามารถเข้าถึงทุนได้”

กลต.ยังระบุด้วยว่า ICO เป็นช่องทางเข้าถึงทุนที่สะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ

ICO ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดดในไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจนมีมูลค่าสูงกว่าการระดมทุนผ่าน Venture Capital

แนวคิดในฐานะผู้กำกับควบคุมดูแล ICO ของกลต.ยังเห็นชัดขึ้นในในเอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ที่ระบุว่า ICO เป็น วิธีการระดมทุนแบบดิจิทัลต่อสาธารณชน โดยผู้ระดมทุน (ในบทความก่อนของผมใช้คำว่า “ผู้ออกเหรียญดิจิทัล”) จะออกดิจิทัลโทเคน ( ในบทความก่อนผมใช้คำว่า”เหรียญดิจิทัล”) มาแลกกับเงินดิจิทัล ( cryptocurrency) สกุลหลักเช่น Bitcoin หรือ Ether (Etherium) 

ผู้ระดมทุนผ่าน  ICO สามารถออกแบบให้ดิจิทัลโทเคนแสดงสิทธิของผู้ถือดิจิทัลโทเคนได้อย่างหลากหลาย ดิจิทัลโทเคนบางลักษณะจึงอาจเข้าข่ายเป็นตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทน และสิทธิต่างๆ ที่คล้ายกับหลักทรัพย์ภายใต้ พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงแนวความคิดของกลต.ที่คล้ายคลึงกับของสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศที่ยอมรับการทำ ICO ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องอยู่ในความควบคุมเท่าที่เป็นไป เพื่อป้องกันประโยชน์ของสาธารณชนไม่ให้ถูกหลอกหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งป้องกันมิให้ถูกใช้ในการฟอกเงิน

กลต.เอง ยอมรับว่าการระดมทุนในรูปแบบ ICO ยังไม่สอดคล้องกับเกณฑ์กำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเห็นความจำเป็นในการทำให้เกิดความชัดเจน เรื่องแนวทางการกำกับดูแลสำหรับผู้ระดมทุนและผู้ลงทุน

แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนของกลต.ก็ตาม แต่อาจมีประโยชน์บ้างหากจะกล่าวถึงแนวความคิดของกลต.ในการมองว่า ดิจิทัลโทเคนลักษณะใดจึงอาจเข้าข่ายเป็นตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทน และสิทธิต่างๆ ที่คล้ายกับหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ​​

หากเป็นดิจิทัลโทเคนมีลักษณะเป็น หลักทรัพย์” ตามคำจำกัดความของคำว่า “หลักทรัพย์” ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย ก็คงจะชัดเจนว่าต้องขออนุญาตกับกลต.ก่อนเริ่มจะทำ ICO 

แต่หากเป็น หน่วยลงทุนรวม หรือ กลต.ใช้คำว่า ส่วนแบ่งร่วมลงทุน ( collective investment scheme) ที่ดิจิทัลโคเคนจำนวนมากออกมาให้สิทธิจะตีความอย่างไร เพราะส่วนแบ่งร่วมลงทุน ยังไม่มีรวมอยู่ในนิยามของคำว่า “หลักทรัพย์” ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ในเอกสารรับฟังความคิดเห็นของ กลต.ได้เสนอให้มีนิยามของคำว่า ส่วนแบ่งร่วมลงทุนเป็นนิยามเพิ่มขึ้นของคำว่า หลักทรัพย์ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  โดยระบุว่า  “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” หมายถึง ตราสารการแสดงสิทธิที่แบ่งเป็นหน่วย แต่ละหน่วยมีข้อตกลงที่เป็นสาระสำคัญเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งตราสารดังกล่าวออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน และให้สิทธิแก่ผู้ถือ ในการได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดจากการร่วมลงทุนในทรัพย์สินหรือการดำเนินการใด โดยผู้ถือไม่มีส่วนในการบริหาร การจัดการหรือดำเนินการในลักษณะประจำ 

แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงหลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และไม่รวมถึงตราสารแสดงสิทธิตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สิทธิในการใช้ทรัพย์สินหรือรับบริการ

สมมติว่ามีนักระดมทุนออกดิจิทัลโคเคนด้วยวิธี ICO โดยกำหนดว่าเงินที่ได้จากการการระดมทุนจากวิธี ICO จะนำไปใช้สร้างโรงเรียนในประเทศยากจนโดยดิจิทัลโคเคนที่นักลงทุน ( crypto investor)ได้รับ และถือทุกๆ 10 เหรียญ จะมีสิทธิพักในโรงแรม 4 ดาวฟรีเป็นระยะเวลา 30 วันใน 1 ปีในหลายๆประเทศได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาสิ้นสุด กรณีนี้จะถือว่าดิจิทัลโทเคนเป็นส่วนแบ่งร่วมลงทุนหรือไม่

ดิจิทัลโคเคนที่ให้สิทธิในลักษณะนี้ผมเห็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามคำจำกัดความของคำว่า “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ตามที่กลต.ให้คำจำกัดความไว้ ดังนั้น หากกลต.ออกกฎด้าน ICO และคงคำจำกัดความของคำว่า “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน การทำ ICO ข้างต้นในประเทศไทยก็ไม่ต้องขออนุญาต กลต. ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้ใครจะคุ้มครองนักลงทุนว่าการพักโรงแรม 4 ดาว ฟรีได้ทั่วโลกโดยไม่จำกัดระยะเวลาสิ้นสุดนั้นทำได้จริงหรือไม่?

เอกสารรับฟังความคิดเห็นของกลต. ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการระดมทุนผ่าน ICO ที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ที่ผู้อ่านอาจเข้าไปอ่านจากเว็บไซต์ของกลต .เช่นเรื่องการกำหนดนักลงทุน และเงินลงทุนของนักลงทุนรายย่อย การกำหนดระยะเวลายกเลิกการลงทุน คุณสมบัติของคนจะเป็น ICO portal เป็นต้น แต่ผมขอเอาเฉพาะแนวความคิดของกลต.ที่มีกับ ICO ในภาพรวมมาลงไว้ในบทความนี้เท่านั้น

แม้ประเทศไทยเรายังไม่มีหลักเกณฑ์ด้าน ICO โดยตรงแต่ก็เชื่อได้ว่าอีกไม่นานกลต.คงจะเผยแพร่ความคืบหน้าในเรื่องนี้ออกมา 

ณ.เวลานี้เองจึงอาจมีคำถามว่าแล้วตอนนี้บริษัทในไทยจะทำ ICO ได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตกลต.หรือไม่ 

หากยังไม่มีกฎห้ามผมก็เห็นว่าทำได้ ตราบใดที่อยู่ในกรอบที่ไม่ใช่เป็นการการออกหลักทรัพย์ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่หากเป็นหลักทรัพย์ก็ต้องไปดูตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเรื่องข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ปี2558

และหากมีคำถามต่อไปว่าสมมตว่ามีบริษัทเทคสตาร์ทอัพไทย อยากจะไประดมทุนด้วยการทำ ICO ในต่างประเทศที่ไม่ห้ามการทำ ICO จะทำได้หรือไม่ หรือมีทางเลือกอย่างอื่นหรือไม่ 

เดิมผมตั้งใจจะเขียนวิธีการที่คนไทยจะไประดมทุนด้วยการทำ ICO ในต่างประเทศว่าจะต้องทำเช่นใดในบทความตอนนี้ แต่เนื่องจากมีเนื้อหาค่อนค้างมาก ผมขออนุญาตต่อเป็นตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย

 

โดย... 

จุลพงศ์ อยู่เกษ

ประธานสำนักงานซิโก้ ลอว์ ประเทศไทย