นักเศรษฐศาสตร์ผู้ใหญ่ของจีนกังวลอะไร?

นักเศรษฐศาสตร์ผู้ใหญ่ของจีนกังวลอะไร?

ผมเพิ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ ศ.ลี่ อี่หนิง อดีตคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.ปักกิ่ง ซึ่งท่านเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ตะวันตกในจีน

ตั้งแต่สมัยที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆ ท่านยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียงสมัยที่เป็นนิสิต ม.ปักกิ่ง อีกด้วย ปัจจุบันท่านมีอายุ 87 ปี แล้ว แต่ยังออกมาแสดงความคิดเห็นและความห่วงใยบ้านเมืองอยู่เสมอ

คำถามที่น่าสนใจมากก็คือ ปัจจุบันท่านกังวลเรื่องใดมากที่สุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน

ท่านตอบว่า ท่านกังวลเรื่องการปฏิรูปที่เริ่มผ่อนแรงลง ท่านเล่าว่าได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในหลายท้องที่ของจีน หลายคนรู้สึกว่า เศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างดี มีเสถียรภาพ และโตได้ตามเป้า แตกต่างจากช่วงสองสามปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจีนดูไม่ค่อยดีนัก ทำให้เกิดแรงกดดันในการปฏิรูปอย่างมากในสมัยนั้นแต่พอมาตอนนี้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลายคนกลับเริ่มผ่อนแรง ไม่จริงจังเรื่องการปฏิรูปเช่นเดิม

การปฏิรูปที่ท่านพูดถึง คือ การปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทุกคนในจีน ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาล นักวิชาการ ต่างเห็นตรงกันเรื่องทิศทางการปฏิรูป โดยมองว่าจีนต้องเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาจากเดิมที่เน้นปริมาณและตัวเลขการเติบโตของ GDP มาเป็นเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์แทน

สิ่งเหล่านี้พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะต้องต่อสู้กับกลุ่มผลประโยชน์ที่ยังเก็บกินกับโครงสร้างแบบเดิม ตอนที่วิกฤติเริ่มส่อเค้า ยังมีแรงผลักดันการปฏิรูป แต่พอเศรษฐกิจเริ่มอยู่ตัว การปฏิรูปก็อ่อนกำลังลง จึงทำให้ท่านรู้สึกเป็นห่วง แม้ว่ารัฐบาลกลางยังย้ำเน้นเรื่องการปฏิรูป แต่ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ผ่อนกำลังลง ประเทศจีนก็ไปต่อได้ลำบาก

หัวใจของการปฏิรูป คือ การคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ถ้าไม่มีและไม่เกิดโมเดลธุรกิจที่สร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ย่อมไม่เกิดการพัฒนารูปแบบใหม่

นักเศรษฐศาสตร์ผู้ใหญ่ของจีนกังวลอะไร?

ท่านยกตัวอย่างสามคำถาม ซึ่งอยู่ในใจท่านอยู่ตลอด และอยากฝากถึงรัฐบาลจีนและวงนโยบายให้ช่วยกันคิดและผลักดัน

หนึ่ง จะพัฒนาภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ได้อย่างไร ท่านเห็นว่า ต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ สามอย่างต้องพร้อม 

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าวันนี้รัฐบาลบอกจะเปลี่ยนเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ พรุ่งนี้จะทำได้สำเร็จทันที เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลา ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐาน เช่น การศึกษาเพื่อเตรียมคนสำหรับเทคโนโลยีในอนาคต การลงทุน R&D และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อยืดหยุ่นให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

สอง จะพัฒนาสินค้าจีนบุกตลาดโลกได้อย่างไร  ทำอย่างไรให้จีนมี Brand สินค้าที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และมีศิลปะของตน ท่านเห็นว่า คนจีนในปัจจุบันยังพัฒนา Brand และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าสู้ฝรั่งไม่ได้นี่เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ต้องช่วยกันขบคิด ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์

สาม จะพัฒนาชนบทจีนอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท่านเป็นห่วงมากที่สุด ท่านบอกว่าแนวทางคือ ต้องให้ความรู้ทางธุรกิจกับคนชนบท ช่วยคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในการขายสินค้าเกษตร รายงานของสี จิ้นผิงเอง ก็เน้นเรื่องนี้เช่นกัน โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ส่งเสริมให้คนชนบทเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ

ท่านเห็นด้วยว่า ต้องให้เกษตรกรในชนบทรวมกลุ่มทำธุรกิจ ไม่ว่าจะในรูปสหกรณ์ รูปหุ้นส่วนบริษัท อย่าอคติคิดว่าเกษตรกรทำธุรกิจไม่ได้ ต้องพัฒนาความกระตือรือร้นและพลังสร้างสรรค์ของคนชนบท ปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจของคนชนบทให้ได้ ซึ่งจะเป็นแรงผลักที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนรอบใหม่

ปัจจุบัน หลายคนในจีนยังติดความคิดแบบเศรษฐกิจระบบวางแผนในสมัยก่อน คิดว่าเกษตรกรต้องเป็นเกษตรกรไปตลอดชีวิต 

ท่านอยากให้คนมองมุมใหม่ว่า เกษตรกรก็เป็นอาชีพหนึ่ง เขาอาจเลือกเป็นเกษตรกร หรืออาจเลือกทำธุรกิจ หรือเลือกเปลี่ยนมาทำงานภาคบริการ เช่น เปิดร้านอาหาร เปิดให้คนเช่าเครื่องมือเกษตร ทำธุรกิจท่องเที่ยวในชนบท ฯลฯ หรือแม้แต่เลือกเข้ามาหางานในเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นทางเลือกอาชีพของเขา

นักวิชาการจีนยังมักมีพวกสุดโต่งอยู่สองพวก พวกหนึ่งเห็นว่า เกษตรกรเป็นอาชีพที่รายได้ต่ำ ต้องพยายามให้คนเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปทำอย่างอื่น ส่วนอีกพวกมองตรงข้ามว่า คนชนบทย้ายเข้าเมืองจนงานในเมืองรองรับไม่ได้ ควรให้คนพวกนี้กลับไปทำนาในชนบท

ท่านไม่เห็นด้วยกับทั้งสองพวก ท่านบอกว่า โจทย์ในการปฏิรูปไม่ใช่ไปบังคับให้เขาเปลี่ยนอาชีพจากเกษตรกรไปทำอย่างอื่น แต่จะทำอย่างไรให้ได้เกษตรกรพันธุ์ใหม่ ซึ่งวางแผนธุรกิจเป็น และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ (เช่น ในบางพื้นที่ของจีนเลือกปลูกดอกไม้ขาย ซึ่งทำรายได้สูงกว่าปลูกพืชผักแบบเดิมๆ) ขณะเดียวกัน การปฏิรูปก็ไม่ใช่ไปห้ามคนชนบทไม่ให้เข้ามาหางานในเมือง แต่ต้องทำให้แรงงานชนบทที่เข้ามาในเมืองสามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้ พัฒนาธุรกิจของตนเป็น ยิ่งถ้าคนเหล่านี้ต่อไปสามารถกลับบ้านเกิดเดิม เพื่อสร้างธุรกิจที่บ้านเกิด ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

ท่านสรุปการสัมภาษณ์ได้อย่างชวนขบคิดครับว่า ถ้าจีนยังเอาแต่เน้นตัวเลขแบบสมัยก่อน ก็จะเห็นของที่ผลิตเกินตัวกองเป็นภูเขาเลากา ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น แทนที่รัฐบาลท้องถิ่นจะแข่งกันปั้มตัวเลข GDP แบบในสมัยก่อน ควรต้องเปลี่ยนมาแข่งกันคิดสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ 

เมื่อทำสำเร็จแล้ว พื้นที่อื่นก็สามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้ จนการปรับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนสำเร็จได้จริง