เริ่มเป็น Coach ตั้งแต่ต้นปี.. จะได้ไม่สิ้นใจตอนสิ้นปี !

เริ่มเป็น Coach ตั้งแต่ต้นปี.. จะได้ไม่สิ้นใจตอนสิ้นปี !

อีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่ช่วงปีใหม่แล้ว... มาว่ากันด้วยเรื่อง Coaching แบบเน้นๆกันดีกว่า เผื่อทุกท่านที่มีลูกน้อง

จะได้นำไป Coaching ลูกน้องให้พร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการลุยไปข้างหน้าในปีใหม่นี้..

ลองสังเกตดู.. ถ้าช่วงไหนท่านยุ่งจนไม่มีเวลาที่จะ Coaching ลูกน้อง หรือละเลยไม่ใส่ใจในเรื่องนี้.. ปัญหาต่างๆนาๆในเรื่องงานที่เกิดจาก“ทัศนคติที่ผิดพลาด” หรือ “ทักษะที่อ่อนด้อย” จะเริ่มปรากฏ!

เช่น งานล่าช้า งานผิดพลาด ที่ส่งผลเสียกับแผนกที่เกี่ยวข้องไปจนถึงส่งผลเสียกับลูกค้า หรือปัญหาในเรื่องความขัดแย้งในหน่วยงานและความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน เริ่มมีมากขึ้น...

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ได้เวลาที่ท่านจะต้องเตรียมและลงมือแล้ว...

“ก่อนที่ท่านจะไป Coaching ทีมงาน...”

ท่านจำเป็นต้องรู้“ทุกอย่างที่ควรรู้”เกี่ยวกับลูกน้องของท่าน เช่นใครมีศักยภาพหรือความสามารถระดับใด? (ดูจากผลงาน) และใครมีทัศนคติอย่างไร? (ดูจากพฤติกรรมและคำพูดที่แสดงออก) รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับลูกน้องของท่านในหลายๆเรื่อง เพราะจะทำให้ท่านเข้าถึง“จริต”ของลูกน้องแต่ละคนได้ชัดเจนขึ้น

เมื่อท่านรู้ข้อมูลพอสมควร ท่านก็จะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าลูกน้องของท่านแต่ละคน ใครบ้างที่อยู่ระดับใด (เช่น ระดับA+ ที่เป็น Talent หรือเป็นมือรองได้. ระดับ A ที่เก่ง ระดับ B ที่พอใช้ และระดับ B ใครที่สามารถพัฒนาไปเป็น B+ หรือ เป็น A- ในอนาคตได้.

ส่วนระดับ C ใครที่ยังควรได้รับโอกาส และใครที่ไม่ควรได้รับโอกาส“มากเกินไป”ถ้ายังผิดพลาดซ้ำซากหรือมีทัศนคติลบๆ เป็นต้น

สิ่งสุดท้ายในการเตรียมก่อนการ Coaching ก็คือ... จะ Coaching ใครก่อนหลัง ใครมากใครน้อย และใช้วิธีใดในการCoaching แต่ละคน

“ระหว่างการCoachingทีมงาน..”

ท่านต้องใช้“ทัศนคติ”แบบผู้นำและ Coach มืออาชีพ คือ Coaching เพื่อสร้าง...ไม่ใช่เพื่อทำลาย!

เพราะมีจำนวนไม่น้อย เข้าใจผิดว่าการเรียกลูกน้องมาตำหนิ ระบุแต่ข้อผิดพลาด คุยแบบคาดคั้นคิดว่านั่นเป็นการCoaching! คนละเรื่องเลยครับ! แบบนั้นเรียกว่า เรียกมาจัดหนักให้สะใจไม่ใช่ Coaching!

Coaching by Question เป็นทักษะที่ต้องมีและต้องใช้ในระหว่างการ Coaching คือการตั้งคำถามอย่าง

สร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกน้องมีส่วนร่วมหรือหาทางออกทางแก้ได้ด้วยตนเอง ก็จะยิ่งดี

การ Coaching...ไม่ใช่การชี้นำ การ Coaching ไม่ใช่การบังคับให้เปลี่ยนแปลง...

แต่การ Coaching เป็นการสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้ลูกน้องตระหนัก และร่วมหาทางออกหรือแนวทางในการพัฒนา โดยตั้งแต่เริ่มจนจบด้วยความเข้าใจ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดี..

Problem & People Tip...

ถ้าเป็นการ Coaching เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องงานหรือเรื่องคน “สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”เพราะทำแล้วจะส่งผลให้การ Coaching ล้มเหลว(ซึ่งส่วนมากจะพลาดกันตรงจุดนี้) ก็คือ..จี้ไปที่ตัวบุคคล แต่ไม่ได้ ระบุไปที่ตัวปัญหา!

ส่วนมากผู้บริหารหรือผู้ที่มีลูกน้อง เวลามีปัญหา แล้วเรียกลูกน้องมาคุย มักจะเริ่มต้น “ผิดๆ” ด้วยการพูดถึงปัญหาพร้อมกับจี้ไปที่ตัวบุคคล หนักกว่านั้นก็คือเริ่มต้นโดยจี้ไปที่ตัวบุคคลทันทีเช่น“คุณรู้มั๊ย คุณกำลังสร้างปัญหาให้กับหน่วยงานเรา!?”

นั่นก็หมายความว่า บุคคลคือผู้ที่ผิดเต็มๆ! (ถึงแม้ว่าตัวบุคคลจะเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเป็นผู้ทำผิดก็ตาม!) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การต่อต้าน การไม่ยอมรับ การปฏิเสธต่างๆ! เพราะธรรมชาติของคนไม่ชอบให้ใครมากล่าวหาคาดคั้น ไม่ว่าตนเองจะถูกหรือผิดก็ตาม!

สิ่งที่ควรทำ...ให้ระบุไปที่“ปัญหา”และผลเสียที่เกิดขึ้น โดยไม่จี้หรือชี้ความผิดไปที่“ตัวบุคคล” (Problem & People) โดยตั้งคำถามให้คิด (Coaching by Question) เมื่อได้คิดและคิดได้ ก็จะเริ่มค้นหาสาเหตุร่วมกัน เกิดการยอมรับผลและการกระทำ สุดท้ายจะนำไปสู่การแสวงหาทางแก้ ทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

“หลังการCoaching..”

ไม่ใช่จบเพียงแค่คุยครั้งสองครั้งแล้วเลิก! แต่ต้องติดตามผลโดยการสังเกตุความเปลี่ยนแปลงหลังการคุย และมีการคุยมีการ Coaching เป็นระยะเพื่อ Feedback อย่างสร้างสรรค์

เริ่ม Coaching ทีมงานอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี... จะไม่เกิดอาการ “เครียดจนอยากจะสิ้นใจ” เพราะปัญหาเรื่องทีมงานในตอนกลางปีและสิ้นปีครับ!