“เลิฟวิ่ง วินเซนต์ : หนังน่าดูวันคริสต์มาส”

“เลิฟวิ่ง วินเซนต์ : หนังน่าดูวันคริสต์มาส”

วันนี้วันคริสต์มาส เลยอยากเขียนเรื่องเบาๆ ให้เข้ากับบรรยากาศเทศกาลวันแห่งความสุขของครอบครัว

พอดีปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง Loving Vincent เป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตช่วงสุดท้ายของวินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent Van Gogh) ศิลปินชาวดัตช์ ยุคอิมเพรสชั่นนิสม์(Impressionism) ที่โด่งดังของโลก เป็นจิตรกรที่ผมชื่นชมผลงาน และก็ชอบหนังเรื่องนี้ วันนี้ก็เลยอยากเขียนถึงเลิฟวิ่ง วินเซนต์

ใครที่ชอบฟังเพลง คงรู้จักวินเซนต์ดีจากเพลง Vincent ร้องโดย ดอน แมคลีน นักร้องชาวอเมริกันยุคต้น 70 ที่เนื้อร้อง starry starry night มาจากภาพเขียนที่ดังมากภาพหนึ่งของแวนโก๊ะ 

ดอนบอกว่าแต่งเพลงนี้ทันทีหลังอ่านประวัติของวินเซนต์ ผู้ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นคนสติไม่ดี และเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 

แต่ในเนื้อเพลง ดอนได้ระบายความรู้สึกว่า วินเซนต์ไม่ใช่คนฟั่นเฟือน แต่เป็นคนดีเกินไปสำหรับโลกนี้ที่ไม่มีใครเข้าใจ ซึ่งตรงกับความรู้สึกที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เดินเรื่องเกี่ยวกับช่วงหกสัปดาห์สุดท้ายก่อนวินเซนต์เสียชีวิต เขาเสียชีวิตเดือน ก.ค.ปี 1890 อายุเพียง 37 ปี

สิ่งแรกของหนังที่ชอบคือ เนื้อเรื่อง หรือ plot ที่พยายามปะติดปะต่อให้เห็นถึงเหตุการณ์ก่อนวินเซนต์เสียชีวิต โดยสร้างเป็นเรื่องว่า นายไปรษณีย์ที่เป็นเพื่อนของวินเซนต์ และชื่นชมเขาในฐานะศิลปินได้มอบหมายให้ลูกชายนำจดหมายฉบับสุดท้ายที่วินเซนต์เขียนถึงน้องชายที่สนิทกันมากคือ ธีโอ (Theo) ไปมอบให้ภรรยาของธีโอ หลังธีโอเสียชีวิต 

การเดินทางของลูกชาย เพื่อตามหาน้องสะใภ้ของวินเซนต์ทำให้เขาได้พบปะกับบุคคลต่างๆ และทราบถึงชีวิตที่แท้จริงของวินเซนต์ จนกลายเป็นการสืบเสาะถึงสาเหตุการเสียชีวิตของวินเซนต์ว่า เป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม รวมถึงได้รับรู้ความเป็นตัวตนของวินเซนต์จากผู้คนในเมืองโอแวร์ซูร์อัวส์ (Auvers-sur-Oise) ในฝรั่งเศส ที่วินเซนต์มาพักฟื้นก่อนเสียชีวิต

แต่จุดเด่นมากๆของหนังก็คือ เป็นภาพยนตร์แบบแอนิเมชั่น ที่ใช้ภาพวาดแปดร้อยกว่าภาพเป็นตัวเดินเรื่อง 

เริ่มจากการนำภาพที่วินเซนต์วาดในช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส 94 ภาพ ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเปลี่ยนจากนักวาดโนเนม มาเป็นศิลปินแบบอัจฉริยะ ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์ ดอกไม้ บ้าน สถานที่ต่างๆ รวมถึงบุคคลที่รู้จัก มาปะติดปะต่อให้เป็นเนื้อเรื่องของหนัง ทำให้หนังมีฉากและตัวละคร ที่มาจากภาพที่วินเซนต์วาด และมีการวาดภาพเพิ่มอีก 853 ภาพ เพื่อให้สามารถเล่าเรื่องทั้งหมดได้ครบถ้วนตามเนื้อเรื่อง 

กระบวนการวาดภาพเพิ่มเริ่มโดยการหาผู้แสดงที่มีหน้าตา และลักษณะเหมือนบุคคลที่อยู่ในภาพที่วินเซนต์วาด และให้ผู้แสดงแสดงตามบทภาพยนตร์ และถ่ายเป็นภาพยนตร์ 

จากนั้นก็นำภาพนิ่งจากภาพยนตร์มาวาดเป็นภาพสีน้ำมันตามสไตล์การวาดของวินเซนต์ ปรับแต่งสีและบรรยากาศให้เข้ากับเนื้อเรื่อง ซึ่งต้องใช้จิตรกรที่เข้าใจถึงวิธีและอารมณ์การวาดของวินเซนต์มากถึง 125 คน 

ภาพยนตร์ทั้งเรื่องยาว 1 ชั่วโมง 34 นาที แต่ละนาทีจะต้องใช้ภาพ 12 เฟรม ทำให้ภาพที่ต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมดจึงมีกว่า 66,000 ภาพ ตบแต่งและดัดแปลงเพิ่มเติมจากภาพที่วาดไว้ 853 ภาพ เพื่อให้ตัวละครสามารถเคลื่อนไหวเป็นภาพยนตร์ 

การดูหนังเรื่องนี้จึงเหมือนดูนิทรรศการภาพวาดสไตล์ของแวนโก๊ะกว่า 60,000 ภาพเป็นเวลาชั่วโมงกว่า นับเป็นประสบการณ์และความรู้สึกที่แปลกและน่าประทับใจ

อีกจุดหนึ่งที่น่าทึ่งของหนังคือ วิธีการจัดทำ ความคิดในการทำหนังเริ่มจากศิลปินหญิงชาวโปแลนด์ ที่ศึกษาและประทับใจในชีวิตและงานศิลปะของแวนโก๊ะ จึงอยากจะนำความรู้สึกและความเป็นตัวตนของแวนโก๊ะออกมาให้โลกเข้าใจผ่านภาพที่วาดในสไตล์ของแวนโก๊ะ โดยระดมศิลปินจากทั่วโลกมาถ่ายทอดอารมณ์ของวินเซนต์ในภาพวาดสีน้ำมันที่ต้องทำมากถึง 853 ภาพ

ในโปแลนด์หาศิลปินที่มีความสามารถดังกล่าวได้เพียง 45 คน จึงต้องระดมเพิ่มจากทั่วโลก เชิญชวนผ่านแคมเปญทางเว็บไซต์ ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 5,000 คน แต่คัดเลือกมา 80 คน ทุกคนล้วนเป็นศิลปินที่เข้าใจเทคนิคการวาดของแวนโก๊ะและใช้เวลามากกว่า 5 ปี ในการวาดภาพทั้งหมด 

นอกจากการระดมศิลปินแล้ว งบการทำภาพยนตร์วงเงิน 4.9 ล้านดอลลาร์  ส่วนหนึ่งก็มาจาก Crowdfunding คือ ระดมเงินลงทุนจากผู้สนใจผ่านแคมเปญทางเว็บไซต์ เช่นกัน

วินเซนต์ แวนโก๊ะ เป็นศิลปินยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ชั้นแนวหน้าของโลก เสียชีวิตอายุ 37 ปี หลังเริ่มวาดรูปอย่างจริงจังเพียงเก้าปี

เมื่ออายุ 27 ปี ช่วงเก้าปีที่วาดรูป แวนโก๊ะได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณความเป็นศิลปินของเขาอย่างแท้จริง ที่เขาทุ่มเทให้กับสิ่งที่เขารักและตั้งใจจะทำให้ดีคือการวาดรูป ให้รูปสื่อสารความรู้สึก และความสามารถของเขาให้โลกรู้ 

เขาวาดและสเก็ตช์ภาพต่างๆ กว่า 2,000 ภาพ เป็นภาพสีน้ำมัน 800 ภาพ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 ภาพ แต่ขายงานของเขาจริงๆ ได้เพียงภาพเดียวคือ ภาพ Red Vineyard ที่ขายให้กับเพื่อนศิลปินที่สะสมภาพ ในราคา 400 ฟรังก์สมัยนั้น เขาจึงเป็นศิลปินที่มาดังหลังเสียชีวิต 

หลังจากที่ญาติและพี่น้องในตระกูลเริ่มเผยแพร่ผลงานของเขาต่อสาธารณชน รวมถึง จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ แวน โก๊ะ ที่นครอัมสเตอร์ดัม 

ปัจจุบันภาพที่ วินเซนต์ แวนโก๊ะวาด ภาพติดอันดับภาพชั้นนำ Top 30 ของโลก และ  ภาพติด Top 10 ของภาพวาดที่มีราคาแพงที่สุด คือ ภาพ Dr. Gachet ที่ขายในราคา 82.5 ล้านดอลลาร์ เมื่อ 27 ปีก่อน 

ขณะที่ภาพ Starry Night ที่เราคุ้นกัน มีการประเมินว่าถ้ามีการเปลี่ยนมือ ราคาปัจจุบันน่าจะอยู่ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ 

ต้นเดือนนี้ตอนไปสอนหนังสือที่ญี่ปุ่น ก็มีโอกาสไปชมนิทรรศการภาพวาดของแวนโก๊ะที่กรุงโตเกียว ที่ Theme เน้นอิทธิพลของศิลปะจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะงานภาพพิมพ์แกะไม้(woodblock) ของศิลปินญี่ปุ่น เช่น โฮะคุไซ (Hokusai) ที่ใช้หมึกพิมพ์สีต่างๆ ที่มีต่อศิลปินยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่ฝรั่งเศสสมัยนั้น รวมถึง แวนโก๊ะ 

ส่วนเมืองโอแวร์ซูร์อัวส์ในฝรั่งเศส ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่ผู้สนใจงานของแวนโก๊ะจะมาเมืองนี้ เพื่อเดินตามรอยเท้าของแวนโก๊ะ ที่ทางการได้วาดไว้ตามทางเดินริมถนน นำไปสู่จุดต่างๆ ที่แวนโก๊ะนั่งวาดรูปตอนที่พักฟื้นอยู่เมืองนี้ 

ผมเองเคยเดินตามรอยเท้าไปที่จุดที่แวนโก๊ะนั่งวาดรูป Wheatfield with Crows ที่วาดเดือนก.ค.ปี 1890 ซึ่งเป็นเดือนที่เขาเสียชีวิต

วันนี้ ถ้ามีเวลาก็ลองไปชมนิทรรศการภาพวาดสไตล์วินเซนต์ แวนโก๊ะ ในภาพยนตร์ Loving Vincent ซึ่งน่าจะเป็นการใช้เวลาที่ดีช่วงวันหยุดคริสต์มาส และคนที่มีใจศิลปินทั้งหลายคงชอบ สุขสันต์วันคริสต์มาสครับ