ทฤษฎี Nudge Theory กับเรื่องของโรงงานกระทิงแดง

ทฤษฎี Nudge Theory กับเรื่องของโรงงานกระทิงแดง

ศาสตราจารย์ริชาร์ด เทเล่อร์ (Prof. Richard Thaler) ที่สอนเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavior Economic) จิตวิทยา และ การเงิน

และเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2017 พูดถึงทฤษฎีใหม่ที่เขาเรียกว่า Nudge Theory ว่าพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์เป็นเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล แต่เป็นไปโดยอัตโนมัติตามความต้องการทางการตลาด (Human irrationality and markets) ซึ่งต่างจากทฤษฎี Rational Comprehensive Model of Decision making ที่อธิบายว่าการตัดสินใจในการบริหารจัดการเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างที่อธิบายกันมานานแล้ว

 

ทฤษฎีนี้ถือว่าฉีกแนวออกไปจากที่เคยอธิบายว่ามนุษย์ตัดสินใจจากการพิจารณาทางเลือกหลายทางเลือก และตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีเหตุผลมากสุดที่เรียกว่า Rational Decision-Making Model ที่ ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ท ไซมอน (Herbert Simon) อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในการตัดสินว่าเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลจากการเลือกหลายทางเลือกและตัดสินเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด (A multi- step process for making logically sound decision that aims to follow the orderly path from problem identification through decision) และพวกที่เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางการบริหาร (Administrative Science) ได้ใช้ทฤษฎีของศาสตราจารย์ไซมอน อธิบายมานานหลายสิบปี

 

ทฤษฎีใหม่ของ ศ.เทเล่อร์ ที่เป็นอาจารย์สอนบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโก้ ทางด้านพฤติกรรมมนุษย์ในการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์นี้ ดูจะสอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์ในปัจจุบันไม่น้อย

 

ยกตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นที่บ้านเรา เรื่องการสร้างโรงงานของบริษัทกระทิงแดง ที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่ถูกชาวบ้านประชาชนรากหญ้าต่อต้าน จนประกาศยุติการก่อสร้าง ถอนการลงทุนที่คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาทในพื้นที่ และอาจหาทางลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน

 

เท่าที่ติดตาม ออกจะงงๆในเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะที่ดินที่อ้างว่าบริษัทเข้าครอบครองโดยไม่ชอบนั้นเป็นที่ดินสาธารณะผืนเล็กๆ ไม่น่าที่บริษัทขนาดใหญ่ทำธุรกิจแสนล้านจะไปครอบครองโดยไม่ชอบถึงขั้นรังแกประชาชนรากหญ้า นอกจากอาจมีระดับปฏิบัติการที่ทำอะไรเกินขอบเขตอำนาจเพื่อเอาใจระดับสูง ซึ่งก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ระดับสูงเห็นชอบถ้าทราบเรื่องนี้ แต่อาจไม่ได้ติดตามเรื่องที่ระดับล่างปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เลยพลาดไป

 

น่าเสียดายที่ประชาชนชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่น่าจะได้ประโยชน์ มีงานทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น กลับสูญโอกาส

 

ไม่ได้โทษใคร แต่คิดว่าคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่โดดเข้าร่วมข้างใดข้างหนึ่งโดยไม่ได้คิดรอบด้านหลายทางเลือกเชิงเปรียบเทียบ มองแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่งแล้วตัดสินใจเข้าร่วมคัดค้านหรือสนับสนุนด้วยความไม่รู้จริง ถูกเขาจูงจมูกโดยไม่รู้ตัว

 

เรื่องนี้ ถ้าอธิบายโดยทฤษฎี Nudge Theory ของ ศ. เทเล่อร์ ก็สามารถอธิบายได้ว่า กลุ่มประชาชนที่ตัดสินใจเข้าร่วมต่อต้านบริษัทนั้น เป็นการตอบโต้โดยอัตโนมัติ และไม่ได้พิจารณาทางเลือกหลายทางเลือกก่อนตัดสินใจแบบที่อธิบายโดยทฤษฎี Rational Decision-Making Model

 

การตัดสินใจแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆในบ้านเรา เช่นต่อต้านการสร้างเขื่อน ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า ต่อต้านการสร้างโรงงานกำจัดขยะ ต่อต้านการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และอีกหลายโครงการที่สะดุดหยุดอยู่ ไปต่อไม่ได้

 

ไม่ได้บอกว่า การต่อต้านเป็นไปอย่างไม่มีเหตุผลเสียเลย แต่ถ้าตามทฤษฎี Nudge Theory แล้ว ก็ต้องอธิบายว่าเป็นพฤติกรรมการตัดสินใจที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ แค่ว่าสร้างหรือไม่สร้างโดยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง มากกว่าการพิจารณาหลายๆทางเลือก และตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เป็นเหตุเป็นผลได้ประโยชน์มากสุดเป็นตัวเลือก

 

การตัดสินใจแบบนี้มีโอกาสที่จะสร้างความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นต้นทุนสำคัญที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น เพราะทั้งสร้างเงิน สร้างงาน สร้างความรู้ สร้างการศึกษา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้าน ถ้าโครงการที่ต่อต้านนั้นไม่ถูกต่อต้านจนเกินหลักการและเหตุผล

 

คงต้องดูกันต่อไปว่าทฤษฎีใหม่ของผู้ที่เพิ่งรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้จะเป็นที่ยอมรับกันแค่ไหน