คุณค่าเกษตรกร...ในสายตาผู้นำ

คุณค่าเกษตรกร...ในสายตาผู้นำ

ปกติแล้วต้องถึอว่าอาชีพ “เกษตรกร” เป็นพื้นฐานของทุกๆประเทศ เป็นส่วนสำคัญการผลิตอาหาร หนึ่งในปัจจัย4 ของชีวิต

รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงปกป้องดูแลเกษตรกรในบ้านในเมืองของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาญี่ปุ่นที่มีคุณภาพชีวิตดี๊ดี พักโรงแรมห้าดาว และสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกด้วยรายได้จากการปลูกข้าวของตนเอง ขณะที่บางประเทศไม่มีเกษตรกรให้ดูแลปกป้อง ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเป็นหลัก จึงนับเป็นโชคดีของบ้านเราที่มีคนทำอาชีพเกษตรกร นับล้านครัวเรือน ช่วยกันผลิตอาหารเพื่อให้คนไทยได้กิน ไม่ต้องหวังพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากประเทศอื่น

ลองไปดูเกษตรกรของสหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจกันบ้าง ผมเคยอ่านงานเขียนของ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ความตอนหนึ่งว่า “เกษตรกรของสหรัฐส่วนมากเป็นคนมีฐานะดี เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรขนาดใหญ่ ใช้เครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมด ใช้เครื่องบินหว่านเมล็ดพืชและยาฆ่าแมลง และเกษตรกรก็มีจำนวนจำกัด รัฐบาลโดยCCCหรือCommodity Credit Cooperationหรือบรรษัทสินเชื่อเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ จะรับประกันราคาพืชผลทั้งหมด โดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง 5 เท่า แต่ใครจะเป็นชาวไร่ชาวนาได้ต้องเป็นผู้ที่รัฐรับจดทะเบียนเท่านั้น จู่ๆจะประกาศตัวเป็นเกษตรกรแล้วไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดพื้นที่และประเภทของสินค้าเกษตร กำหนดให้เกษตรกรแต่ละครัวเรือนพื้นที่ไหนเพาะปลูกอะไรมากน้อยเท่าไหร่ รัฐบาลกลางจะจัดงบประมาณจากภาษีอากรมาช่วยอุดหนุน บรรษัทสินเชื่อเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์ให้เกษตรกรทั่วประเทศจำกัดจำนวนเกษตรกรไว้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ประมาณอีก 97 เปอร์เซ็นต์มิได้เป็นเกษตรกร ... ภาคเกษตรกรรมของสหรัฐเป็นระบบปิดโดยรัฐ ซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรก็คือเกษตรกร ไม่ใช่เกษตรกรก็ไม่ใช่เกษตรกรแยกกันชัดเจนเด็ดขาด” (คอลัมน์คนเดินตรอก โดย วีระพงษ์ รามางกูร)

น่าจะพอทำให้เรามองเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯให้ความสำคัญกับเกษตรกรเพียงใด มีการวางแผนการผลิต มีเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยเหลือ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนในการหาตลาดรองรับผลผลิตทั้งในและนอกประเทศ เมื่อประกอบกับพื้นที่ขนาดมหึมาของสหรัฐฯที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองส่งผลให้การผลิตสัตว์เพื่อบริโภคของสหรัฐฯนั้นมีต้นทุนที่ต่ำ ดังนั้น มิต้องสงสัยเลยว่าทำไมเกษตรกรของสหรัฐฯ จึงอยู่ดีกินดี

ล่าสุด ผมได้เห็นบทบาทนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯอีกครั้งจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังทำตามสัญญา เดินหน้านโยบาย“America First”นั่นก็คือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ซึ่งรวมถึง “เกษตรกร” ของสหรัฐฯก็ต้องมาก่อนด้วย

เรื่องของ “หมูมะกัน” ที่เราทราบกันมาตลอดว่ารัฐบาลสหรัฐฯพยายามช่วยเกษตรกรคนเลี้ยงหมูหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตเหลือทิ้ง เช่น หัวหมูและเครื่องในหมู มาอย่างต่อเนื่อง ซ้ำยังพุ่งเป้ามาที่ประเทศไทย ซึ่งได้ทำการเจรจาต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปีนี้เป็นยุคของผู้นำ 2 ประเทศคือ “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “ท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ของไทย ซึ่งนายกของเราก็เพิ่งเดินทางกลับจากทำเนียบขาว หลังเจรจาต้าอ่วยกันเป็นที่เรียบร้อย

ข่าวหนาหูที่ตามมาก็คือว่าไทยไม่รอด...จำต้องเปิดตลาดให้ทรัมป์ส่งหมูปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงมาขายให้คนไทยกิน...ทั้งๆที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศช่วยกันอธิบายหลายครั้งหลายคราถึงหายนะของอาชีพหากปล่อยให้หมูมะกันเข้ามา และไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ครอบครัวเท่านั้นที่ต้องหาอาชีพใหม่ แต่หมายรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ พ่อค้าพืชไร่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมยา-เวชภัณฑ์ ที่จะต้องได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ คิดรวมเป็นมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านบาท

ผลกลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาและพิจารณาผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อหมู พร้อมๆกับรับข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯที่ต้องการให้ไทยเปิดตลาดให้ไก่งวงและเครื่องในวัวมะกันเข้ามาศึกษาเพิ่มด้วย อันที่จริงข้อมูลจำนวนเกษตรกรไทยที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลงานวิจัยของนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นมหันตภัยของสารเร่งเนื้อแดง ข้อมูลมูลค่าเศรษฐกิจที่จะหายไป ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีการเสนอเป็นหนังสือถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแล้วมากมาย... จึงไม่แน่ใจว่ารัฐยังต้องการพิจารณาผลกระทบอื่นใดอีกหรือ?

ดูเหมือนความพยายามในการปกป้องและช่วยเหลือเกษตรกรของสหรัฐฯจะเข้มข้นจริงจัง ซึ่งต้องชื่นชมระดับการให้ คุณค่าต่ออาชีพเกษตรกรของเขา นี่คงเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรบ้านเขาอยู่ดีกินดี ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลไทยจะเห็นคุณค่าเกษตรกรเฉกเช่นเดียวกับสหรัฐฯบ้าง อาจไม่ต้องถึงกับอุดหนุนเงินทองเหมือนเขา ขอเพียงอย่าเปิดโอกาสให้เกิดการทำลายเกษตรกรบ้านเราก็พอครับ

////

โดย... สมคิด เรืองณรงค์