ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์

ดิฉันเขียนบทความนี้ ในวันแห่งความเศร้าโศกของพสกนิกรชาวไทย วันที่ 26 ตุลาคม 2560 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงเป็นผู้นำของโลก ทรงเป็นแบบอย่างของผู้นำในการที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย และทรงเผื่อแผ่ไปถึงประชากรอื่นๆของโลกด้วย

ในวันนี้ พระบรมราโชวาท ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเป็นของขวัญปีใหม่ในทุกๆปี และพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตต่างๆเป็นเวลากว่า 50 ปี และแก่คณะบุคคลต่างๆ ล้วนเต็มไปด้วยความหวังดี และพระเมตตาที่ทรงอยากเห็นประชาชนเป็นคนดี มีความสุข พระบรมราโชวาททั้งหมด จะคงก้องอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป จะคอยเตือนใจเหล่าพสกนิกรให้ดำรงตนเป็นคนดี ให้รักชาติ ให้มีสติในการจัดการกับเรื่องต่างๆ

ดิฉันขออัญเชิญพระบรมราโชวาทบางส่วนมาเพื่อเตือนใจผู้อ่านดังนี้

ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษามาก

“…ในยามที่มีความตึงเครียดระหว่างประเทศอยู่นี้ ประชาชนชาวโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความยุ่งยากลำบากประจำวัน ดังนั้น จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องให้อาวุธแก่มนุษย์ เพื่อพิทักษ์เสรีภาพและเกียรติของมนุษย์ อาวุธที่ใช้ได้ผลดีที่สุดนั้น มิใช่ปืนใหญ่หรือลูกระเบิดปรมาณู แต่เป็นการศึกษา นั่นคือ ความรู้ที่จะช่วยเราให้ตัดสินใจได้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

การศึกษาเป็นอาวุธสำหรับต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งหวังจะก่อความแตกแยก และความพินาศย่อยยับ เป็นการง่ายที่จะชักจูงจิตใจหรือชักนำคนที่ไร้ความรู้ แต่คนฉลาดและมีการศึกษาแล้ว ย่อมยากที่จะทำให้หลงเชื่อได้โดยง่าย...”

(พระราชดำรัสตอบอธิการบดี มหาวิทยาลัยเว้ เนื่องในโอกาสที่ได้เสด็จฯ เยือนมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2502)

วัยเด็ก เป็นวัยสำคัญสำหรับวางรากฐานเพื่อความสำเร็จความเจริญ และความสุขในชีวิต เยาวชนจึงต้องไม่ปล่อยให้ผ่านไปเปล่า โดยมิได้ขวนขวายหาความรู้และความดีใส่ตัว เพราะการกระทำเช่นนั้น เป็นการทำลายตนเองทำลายส่วนรวมโดยแท้” (พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” พ.ศ. 2519)

ทรงเน้นความสำคัญของการศึกษาในทุกระดับ

“...การศึกษานี้ ถ้าดูกว้างๆก็มีความสำคัญอย่างยอดยิ่ง ทำให้รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในทางการศึกษาเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากแก่ชีวิตของมนุษย์ทั่วๆไป และโดยเฉพาะสำหรับบ้านเมือง ก็เป็นผู้ที่สร้างความมั่นคงของบ้านเมืองได้ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติงานหน้าที่ของตน ความสำคัญนี้ก็มีมากและก็คงตระหนักอยู่แล้ว ขอให้ตระหนักด้วยว่าจะต้องพยายามที่จะหาวิธีที่จะสั่งสอนอนุชนทั้งในด้านวิชาการ ทั้งในด้านความรู้เบื้องต้น เพื่อให้สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้ จึงขอร้องให้สนใจเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้ ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นขั้นก่อนอนุบาล จนกระทั่งเป็นความรู้ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดมศึกษา และขั้นค้นคว้าอย่างสูง และทุกความรู้มีความสำคัญทั้งนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกัน...” (พระบรมราโชวาท เนื่องในโอกาสเสด็จฯทรงดนตรี ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร 18 มีนาคม 2515)

ในบรรดาเพลงทั้งหมด เพลงที่ทำให้ดิฉันร้องไห้เพลงแรกคือ ต้นไม้ของพ่อ เป็นเพลงที่ฟังแล้วนึกเห็นภาพการทรงงานของพระองค์ท่านได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกลเพียงใด ทุรกันดารเพียงใด ไม่ว่าแดดจะร้อนเพียงใด ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง น้ำจะท่วม ทรงเสด็จไปดับทุกข์บำรุงสุขของราษฎรอย่างสม่ำเสมอ อย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย

ขอให้พวกเราร่วมใจกันสืบสานพระปณิธานที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ให้คนไทยเป็นคนดีมีคุณธรรม และเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณา ต่อกันและกัน ตามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่าง ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์

ขออนุญาตนำเพลงต้นไม้ของพ่อ คำร้องโดย คุณนิติพงษ์ ห่อนาค มาปรับระยะเวลาให้สะท้อนระยะเวลาจริงดังนี้

“นานมาแล้ว...พ่อได้ปลูกต้นไม้ไว้ให้เรา เพื่อวันหนึ่งจะบังลมหนาว และคอยเป็นร่มเงา ปลูกไว้เพื่อพวกเราทุกๆคน

พ่อใช้เหงื่อแทนน้ำรดลงไป เพื่อให้ผลิดอกใบ ออกผล ให้เราทุกๆคน เติบโตอย่างร่มเย็น ในบ้านเรา...

ผ่านมาแล้วเจ็ดสิบปี ต้นไม้นั้นสูงใหญ่ ลมแรงเท่าไรก็บรรเทา ออกผลให้เก็บกิน แตกใบเพื่อให้ร่มเงา

คอยดูแลเรา ให้เรายังมีวันต่อไป..

จนวันนี้ ใต้เงาแห่งต้นไม้ต้นใหญ่ ลูกได้อยู่ได้คอยอาศัย แผ่นดินยังกว้างไกล แต่เหมือนว่าหัวใจ พ่อกว้างกว่า...

ลูกที่เกิดตรงนี้นั้นยังอยู่ และยังอยู่เพื่อคอยรักษา จะรวมใจเข้ามา จะมีเพียงสัญญา ในหัวใจ

จากวันนี้สักหมื่นปี ต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้องสวยต้องงดงามและยิ่งใหญ่ สืบสานและติดตามจากรอยที่พ่อตั้งใจ

เหงื่อเราจะเทไป ให้ต้นไม้ของพ่อ ยังงดงาม...