คาบวิชาเศรษฐศาสตร์ของหลินอี้ฟู

คาบวิชาเศรษฐศาสตร์ของหลินอี้ฟู

งหนึ่งที่ผมรู้สึกเสียดายสมัยเรียนที่ ม.ปักกิ่ง ก็คือ ผมไม่ได้มีโอกาสเรียนคาบวิชาเศรษฐกิจจีนกับ ศ.หลินอี้ฟู

วิชาเศรษฐกิจจีนของ ศ.หลินอี้ฟู เป็นวิชาเลือกทั่วไปที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัย แต่ละเทอมมีนักศึกษาคณะต่างๆ ลงทะเบียนเรียนมากกว่า 500 คน ทุกคาบคนแน่นจนล้นออกมาจากห้อง

ตอนแรกผมคิดว่าจะเก็บไว้ลงเรียนตอนปีท้ายๆ แต่พอถึงตอนนั้น ศ.หลินอี้ฟู ก็ไปเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคารโลกเสียแล้ว โดยเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากประเทศกำลังพัฒนาคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว

คาบวิชาเศรษฐศาสตร์ของหลินอี้ฟู

มักพูดกันว่า หลินอี้ฟู เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน คนดังๆ มักมีประวัติพิสดารให้คนร่ำลือกัน หลินอี้ฟูก็เช่นกัน ท่านเกิดที่ไต้หวัน เรียนปริญญาตรีวิศวกรรมการเกษตร และเข้ารับราชการเป็นทหารไต้หวัน

จนวันหนึ่ง ในวัย 27 ปี (ค.ศ. 1976) ท่านตัดสินใจหนีจากเกาะที่ฐานทัพไต้หวันตั้งอยู่ ว่ายน้ำข้ามทะเลมายังฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ ทิ้งภรรยาที่กำลังตั้งท้องและลูกทารกไว้ที่ไต้หวัน (ครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้งหลายปีต่อมา) โดยท่านให้เหตุผลในการตัดสินใจครั้งนั้นว่า ท่านมีอุดมการณ์ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างชาติจีน

ท่านเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จีน เปลี่ยนชื่อแซ่ เริ่มต้นเรียนหนังสือใหม่ โดยเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ ม.ปักกิ่ง ปรากฏว่าวันหนึ่งมีอาจารย์เศรษฐศาสตร์จาก ม.ชิคาโก มาบรรยาย อาจารย์ในคณะรู้ว่าหลินอี้ฟูภาษาอังกฤษดีกว่าเด็กจีนคนอื่นๆ จึงมอบหมายให้เป็นล่าม อาจารย์จากชิคาโกประทับใจในตัวหลินอี้ฟูและติดต่อหาทุนให้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ ม.ชิคาโก หลินอี้ฟูจึงเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่คนแรกที่ไปจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จาก ม.ชิคาโก ในวัย 34 ปี

ในสมัยนั้น คนจีนหลายคนที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ มักเลือกที่จะอยู่หางานสอนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แต่หลินอี้ฟูเลือกที่จะกลับจีน เพราะฝันที่จะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมารับใช้ชาติ คนทั่วไปเห็นว่าไม่บ้าก็โง่ เพราะมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีและสะดวกสบายที่สหรัฐฯ ขณะที่ตอนนั้นจีนยังยากจนและไม่มีใครคาดคิดว่าจะกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างวันนี้ได้

เมื่อกลับจากชิคาโกมาเป็นอาจารย์ที่ ม.ปักกิ่ง ท่านก็ผลิตผลงานวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง จนเป็นนักเศรษฐศาสตร์จีนที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ผมตื่นเต้นกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในครั้งนี้มาก เพราะจะมีการเปิดตัวหนังสือคำอธิบายเศรษฐกิจจีนของหลินอี้ฟู ฉบับภาษาไทย เป็นหนังสือถอดคำบรรยายในวิชาเศรษฐกิจจีนที่ ม.ปักกิ่ง ซึ่งท่านรวมพิมพ์ขึ้นก่อนที่จะไปรับตำแหน่งที่ธนาคารโลก เพื่อให้นักศึกษารุ่นหลังที่ไม่มีโอกาสได้เรียนวิชายอดฮิตนี้ได้ศึกษาเรียนรู้ (ในปี ค.ศ. 2012 ท่านจึงครบวาระจากธนาคารโลกกลับมาสอนที่ ม.ปักกิ่งอีกครั้ง)

หนังสือแปลเล่มนี้ใช้ชื่อไทยว่า เศรษฐกิจจีน: ปริศนา ความท้าทาย และอนาคต พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Openworlds ฝีมือแปลโดยกูรูจีนอย่าง รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เป็นอาจารย์ของผมด้วย

หลินอี้ฟูอธิบายว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน เป็นเพราะจีนเลือกใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา จีนส่งเสริมอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น เพราะจีนมีค่าแรงถูก ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ สะสมทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือ การยกระดับเทคโนโลยี

ก่อนยุคปฏิรูป การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในสมัยเหมาเจ๋อตงประสบความล้มเหลว เพราะเหมาเจ๋อตงเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทุนเข้มข้นตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ทำให้รัฐวิสาหกิจจีนไม่มีกำไร รัฐบาลต้องอุดหนุนรัฐวิสาหกิจมหาศาล เศรษฐกิจทั้งประเทศจึงติดหล่ม ไม่ไปไหน

อีกเคล็ดลับความสำเร็จของจีน ก็คือ การปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในด้านหนึ่ง หันมาใช้กลไกตลาดและส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจที่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนก็ไม่ได้ปล่อยให้อุตสาหกรรมทุนเข้มข้นแต่เดิมล้มละลายในทันที ดังเช่นการปฏิรูปเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ดังนั้น การปฏิรูปในจีนจึงสามารถรักษาเสถียรภาพทางสังคม ไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือคนตกงานมหาศาลอย่างในโซเวียต จีนค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นยกระดับเทคโนโลยีภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

หลินอี้ฟูสนับสนุนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจีน เพียงแต่ย้ำเน้นว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมต้องสอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในแต่ละช่วงเวลายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไม่ใช่ว่าจะก็อปปี้อุตสาหกรรมไฮเทคของต่างชาติมาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะถ้าทำเช่นนั้น ก็มีแต่จะล้มละลาย ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต้องค่อยๆ เริ่มยกระดับอุตสาหกรรมทีละนิด โดยเรียนรู้เทคโนโลยีขั้นต่อไปจากต่างชาติ ใช้วิธียกระดับทีละขั้น แต่พัฒนาในอัตราที่รวดเร็ว

ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับหลินอี้ฟู นักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าในจีนมองว่า หลินอี้ฟูเชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลมากเกินไป ทั้งๆ ที่หัวใจของการปฏิรูปควรอยู่ที่การส่งเสริมกลไกตลาด ส่วนนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาชื่อดังในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น Ha Joon Chang หรือ Dani Rodrik ก็มักมองว่าความสำเร็จของเศรษฐกิจจีนเป็นเพราะจีนกล้าฝันไกล คือกล้าลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง ตั้งแต่ตอนที่จีนยังไม่มีความพร้อม

ผมเล่าเรื่องของหลินอี้ฟู และชวนอ่านหนังสือของท่าน เพื่อเราจะได้ช่วยกันขบคิด คำอธิบายของหลินอี้ฟูทำให้เราเข้าใจหลักคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ซึ่งซับซ้อนและหลายอย่างดูย้อนแย้งในตัวเอง ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เรามองเห็นความท้าทายในการวางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่กำลังเสาะหายุทธศาสตร์ชาติเช่นไทย