การเลือกลงทุนในภาษาคอมพิวเตอร์

การเลือกลงทุนในภาษาคอมพิวเตอร์

“ผลตอบแทน” เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งในโลกแห่งธุรกิจ

ดังนั้น “การลงทุน” จึงจำเป็นต้องเลือกสรรสิ่งที่มีคุณค่า เพื่อที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือ มืออาชีพ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการเลือกลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคต และหนึ่งในการลงทุน ที่มีความสำคัญและจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว คือความเชี่ยวชาญในภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ แอพบนมือถือ บิ๊กดาต้า หรือกระทั่ง สมองกล ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในภาษาคอมพิวเตอร์

แต่ต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์นั้นก็คือ เวลา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดที่สุดสำหรับธุรกิจและมืออาชีพ ทุกคนจึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะสร้างความเชี่ยวชาญในทุกภาษาที่มีอยู่ในโลกแห่งเทคโนโลยี เพราะบางภาษา ต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะเกิดความเชี่ยวชาญ จึงจำเป็นต้องเลือกลงทุน ในภาษาที่จะสร้างผลตอบผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบริบทของแต่ละธุรกิจหรือแต่ละคน ล้วนมีความแตกต่าง ผลของการตัดสินใจจึงได้มีอยู่อย่างหลากหลาย

ในยุคแรกของอินเทอร์เน็ต เมื่อราวปี 2000 คงไม่มีภาษาอะไร ที่จะมีทั้งมีประสิทธิภาพและความต้องการของตลาดไปกว่า Java ซึ่ง Java มีข้อได้เปรียบของการ “พัฒนาหนึ่งครั้ง และทำงานได้บนทุกระบบ” การมีระบบบริหารจัดการหน่วยความจำอย่างอัตโนมัติและการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ

Java ได้รับความนิยมขึ้นมาทดแทนภาษา C และ C++ จากหลายทศวรรษก่อนหน้า เพราะคุณสมบัติของ Java ตอบโจทย์ของความต้องการในยุคนั้นได้อย่างดีเยี่ยมและมหาวิทยาลัยทั่วโลก ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาสอนวิชาโปรแกรมมิ่งด้วย Java โดยได้ทดแทน C และ C++ จากยุคก่อนหน้า และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ก็ยังคงสอน Java เป็นภาษาหลัก

จากข้อมูลของ TIOBE.com นยุคนั้น Java มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ราว 25% ในขณะที่ C และ C++ มีอยู่ที่ 15 และ 20%

อย่างไรก็ดี ความนิยมในยุคนั้นของ Java ได้ถูกจำกัดอยู่ที่การพัฒนาระบบหลังบ้าน ในระดับของเว็บเซอร์เวอร์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ หรือกระทั่งสตาร์ทอัพ ก็นิยมใช้ Java

ต่อมา PHP เริ่มได้รับความนิยมในการพัฒนาระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ โดยมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 10% ในปี 2004-2010 ความแตกต่างของ PHP คือการเป็นภาษาที่ง่ายกว่า โดยผู้ที่ไม่เคยเรียนมหาวิทยาลัย ก็สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่ Java ยังคงมีข้อได้เปรียบ สำหรับระบบที่มีความสลับซับซ้อน PHP จึงได้รับความนิยมในกลุ่มสตาร์ทอัพ หรือกลุ่มโครงการที่ไม่แสวงหากำไร

ในช่วงเวลานั้นเอง Microsoft ก็ได้ พัฒนา C# ที่มีคุณลักษณะที่คล้าย Java แต่เพิ่มความผูกพันกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Microsoft และยังสามารถใช้พัฒนาแอพพลิเคชัั่นบน Windows ได้ ทั้งยังมีการสนับสนุนให้บางมหาวิทยาลัย เริ่มสอนด้วย C# อย่างไรก็ดี C# ไม่เคยประสบความสำเร็จเท่ากับ Java หรือ PHP โดยมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 9% ในปี 2012 ผู้ที่ใช้ C# ส่วนใหญ่จะเป็นรูปลักษณะของบริษัทที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft

ต่อมา เป็นยุคของ Ruby และ Python ซึ่งเป็นภาษาที่ง่าย อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง PHP โดยทั้งสองภาษาได้รับความนิยมในการพัฒนาระบบหลังบ้านของเว็บไซต์ Ruby เคยมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 5% ในปี 2009 ในขณะที่ Python เคยมีส่วนแบ่งสูงสุดที่ 7% ในปี 2011 ปัจจุบัน Python ได้ถูกพัฒนามาเป็นภาษาหลักสำหรับ บิ๊กดาต้า และ สมองกล

นอกจากนี้ ตั้งแต่ 2010 เป็นต้นมา เข้าสู่ยุคของแอพบนมือถือ ซึ่ง Java กลายเป็นภาษาหลักเพื่อการพัฒนาบน Android และ Objective-C เพื่อพัฒนาบน iOS อย่างไรก็ดีไม่กี่ปีที่ผ่านมา Apple ได้คิดค้น Swift ภาษาใหม่ที่จะมาทดแทน Objective-C และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ที่จะกล่าวถึงเป็นภาษาสุดท้ายคือ Javascript เคยมีความนิยมสูงสุดที่ 4% ในปี 2009 แต่ต้องถือเป็นภาษาที่มีการใช้งานอย่างหลากหลายที่สุด ตั้งแต่การพัฒนารูปลักษณ์ของเว็บไซต์ การพัฒนาแอพบนมือถือ และการพัฒนาระบบหลังบ้านของเว็บไซต์

ปัจจุบัน Java ยังคงเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดที่ 12% ตามด้วย C ที่ 8% C++ ที่ 5% C# ที่ 4% Python ที่ 4% Javascript ที่ 3% และ PHP ที่ 3%

ส่วนแบ่งของแต่ละภาษา ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะในปัจจุบัน มีความหลากหลายของภาษายิ่งกว่าครั้งในอดีต และในปัจจุบัน ภาษาที่มีค่าตอบแทนสูงสุดคือ Java ตามด้วย Objective-C / Swift และตามด้วย Python เพราะ Java ใช้ทั้งพัฒนาพัฒนาเว็บไซต์ของบริษัทขนาดใหญ่ และแอพสำหรับ Android ในขณะที่ Objective-C / Swift ใช้พัฒนาแอพสำหรับ iOS และ Python ที่มีค่าตอบแทนสูงเพราะเป็นภาษาหลักสำหรับ บิ๊กดาต้าและสมองกล

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้จะไม่ได้เป็นภาษาที่ค่าตอบแทนสูงสุด Ruby ยังคงเป็นภาษาที่มีความนิยมสูงสุดสำหรับการพัฒนาเว็บไซต์ของสตาร์ทอัพ และศิลปินเดี่ยวโดยทั่วไป แต่โปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำงานสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ เนื่องจากความหลายหลายในการใช้งานของ Javascript โปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่ มักมีความเชี่ยวชาญในภาษานี้เป็นภาษาที่ 2 อยู่แล้ว รองมาจากภาษาหลัก

เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา Java ยังคงเป็นภาษาอันดับหนึ่ง และจะเห็นได้ว่า ตลาดให้ความสำคัญกับ ภาษาที่ใช้ในการ พัฒนาเว็บไซต์ แอพบนมือถือ และ บิ๊กดาต้า กับ สมองกล ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Python จัดเป็นภาษาที่มีการเติบโตสูงที่สุด ซึ่งมีผลมาจากพัฒนาการของ บิ๊กดาต้า กับ สมองกล ในวงการธุรกิจ และจากการจัดอันดับอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก TIOBE.com ยังได้จัดให้ Python ได้แซงหน้า Java ไปแล้ว

นักล่าฝัน และ ธุรกิจสตาร์ทอัพบางราย อาจเลือกใช้ภาษาจากความสวยงานของไวยกรณ์ ซึ่งบางรายก็ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับธุรกิจ หรือ มืออาชีพ ทั่วไป ย่อมเกิดผลดีกว่า หากจะเลือกลงทุนในภาษาด้วยความเหมาะสมในบริบทของธุรกิจ