ทำไม’บิล เกตส์’ใช้แอนดรอยด์ ถึงเป็นเรื่องใหญ่

ทำไม’บิล เกตส์’ใช้แอนดรอยด์ ถึงเป็นเรื่องใหญ่

หลังจากที่มหาเศรษฐีโลกอย่างบิล เกตส์ประกาศผ่านรายการของฟ็อกซ์ นิวส์ ซันเดย์ว่าตัวเขาเปลี่ยนมาใช้โทรศัพท์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ผู้คนก็พากันฮือฮาเรื่องนี้ทันที

บางส่วนมองว่าเขาไม่มีวันจะใช้ไอโฟนเป็นแน่ เพราะว่าในโลกธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไมโครซอฟต์กับแอปเปิ้ลยังเป็นคู่แข่งที่ชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา ทางเลือกที่ลงตัวหนีไม่พ้นแอนดรอยด์โฟนที่บิลเน้นย้ำว่า’มีแอพของไมโครซอฟต์หลายตัวในนั้น’ เป็นการไว้เชิงที่เข้าท่า กระนั้นโดยส่วนตัว เขาก็ยังยกย่องสตีฟ จ็อบส์เสมอว่าเป็นอัจฉริยะที่หาใครเทียบได้ยาก

สำหรับธุรกิจยักษ์ใหญ่ล้วนผ่านประสบการณ์จัดการสินค้าที่ล้มเหลวทั้งสิ้น ช่วงที่ผ่านมาไมโครซอฟต์พยายามอย่างสุดตัวในการทำระบบปฏิบัติการวินโดวส์(Windows)บนสมาร์ทโฟนแต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝัน ตัวเลขของวินโดวส์โฟนในตลาดล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนเพียง0.1เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รายได้ล่าสุดจากธุรกิจมือถือลดลงถึง361ล้านเหรียญสหรัฐ

โทรศัพท์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เปิดตัวเมื่อปี2010 ซึ่งในตอนนั้นถือเป็น’ผู้เล่นหน้าใหม่(New Player)’ที่ต้องประมือกับสองยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิ้ล(ไอโอเอส)และกูเกิ้ล(แอนดรอยด์)ที่ทำตลาดกันดุเดือดอยู่แล้ว ไอโฟนถือเป็นสินค้าอันดับ1ของแอปเปิ้ลซึ่งทุ่มสรรพกำลังอย่างมากในการชิงพื้นที่การใช้งานสมาร์ทโฟน ขณะที่วินโดวส์โฟนของไมโครซอฟต์นั้นเป็หนึ่งในผลิตภัณฑ์หลายสิบรายการที่ต้องแบกเอาไว้และพาไปข้างหน้า จึงไม่แปลกที่มีคนมองว่าแค่จุดเริ่มต้นของปฏิบัติการวินโดวส์บนมือถือก็แผ่วแล้ว เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง และไมโครซอฟต์ก็ก้าวช้าเกินกว่าการเปลี่ยนแปลงที่ไวปานสายฟ้าแลบของตลาดมือถือ

นอกจากนี้ด้วยความจุกจิกของระบบเอง ซึ่งลูกค้าต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิในการใช้งานซอฟต์แวร์ เมื่อเทียบกับระบบเปิดอย่างแอนดรอยด์ที่ให้ใช้ฟรีประกอบกับการทำการตลาดขยายฐานลูกค้าทุกเซกเมนต์ของแบรนด์ซัมซุง ปริมาณผู้ใช้งานแอนดรอยด์โฟนก็เติบโตชนิดที่แตะเบรคไม่อยู่ แม้ต่อมาจะจับมือจับคนเคยใหญ่อย่าง”โนเกีย”ในการผลักดันวินโดวส์โฟน กลับเจอปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายระหว่างไมโครซอฟต์และโนเกียประเด็นค่าไลเซนส์การใช้งาน ขณะที่โนเกียก็กลั้นใจฆ่าระบบปฏิบัติการ’ซิมเบียน(Symbian)’เดิมของตนหวังจะประสานพลังกันดันยอดขาย โดยที่ลืมไปว่าเวลานั้นไอโอเอสและแอนดรอยด์ทำตลาดมา3-4ปีแล้ว สุดท้ายฝันก็สลายในปี 2015 ไมโครซอฟต์อำลาโนเกียด้วยดีล 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ปลดพนักงาน 7,800 ตำแหน่งซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจมือถือ จนวันนี้โนเกียกลับมาอีกครั้งกับระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ ไม่เหลือเค้าของวินโดวส์โฟนอีกต่อไป

นี่เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการปรับตัวในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ กระบวนการสำคัญของธุรกิจคือ การพัฒนาสินค้า(Product Development)ซึ่งต้องเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา นอกจากการพัฒนาแบบทุ่มเทถวายชีวิตแล้ว ก็จำเป็นต้องเหลือบมองคนข้างๆและทิศทางลมเสมอ สินค้าที่ดีแต่ทำตลาดไม่ถูกจังหวะ ก็ล้มเหลวมานักต่อนักแล้ว

บิล เกตส์ไม่ได้บอกว่าตนใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นอะไร สื่อไอทีต่างประเทศพยายามวิเคราะห์ว่าเป็นซัมซุงกาแลคซี่ เอส8 ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนั่นอาจไม่สำคัญกับประโยคที่ว่า”ไม่ใช่ไอโฟน(No iPhone)”หรอกครับ

ระดับไมโครซอฟต์ยังเคยพลาดเลย จึงไม่ควรมีใครประมาทในเกมธุรกิจทั้งนั้น รู้แต่เวลาล้ม หามุมดีๆ ลุกขึ้นมาก็คงไม่เขินมากเท่าไหร่