Preview sector : BANK

Preview sector : BANK

Preview sector : BANK

เริ่มเข้าสู่ปลายไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยทำเรื่อง Surprise กับนักลงทุนไทยอย่าง การทำดัชนี SET ทะลุ 1,600 จุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 5.8% จากไตรมาส 2 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียดอย่างปัญหาสงครามเกาหลีเหนือ พายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ โดยมุมมองของทางฝ่าย ASL research ต่อ SET เรามองว่าหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยเรา Laggard อยู่นาน ก็ถึงเวลาที่จะเข้าสู่ตลาด Outperform สักที จากปัจจัยบวกที่ตลาดรับรู้จุดต่ำสุดของผลประกอบการไปแล้วและเริ่มมีสัญญาณที่ผลประกอบการจะกลับมาดีขึ้น รวมกับเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปลายปีนี้ แต่ปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศที่จะกดดันให้ SET ไม่ดีกว่าที่คาดไว้อย่าง สถานการณ์ในเกาหลีเหนือ และการปรับลดงบดุลของสหรัฐฯ ที่อาจจะเริ่มขึ้นในปลายปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามเราประเมิน SET index ว่าจะสามารถแตะเส้นชัยที่ 1,700 ได้ในปีนี้ โดยในวันนี้เราจะขอพูดถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะประกาศผลประกอบการเป็นกลุ่มแรกๆอย่างกลุ่มธุรกิจธนาคารกันครับ

สำหรับในกลุ่มธนาคาร ทางฝ่าย ASL Research นั้นได้มีมุมมองเชิงบวกในผลประกอบการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้จนถึงปีหน้า ซึ่งในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.08%QOQ และลดลง 9.19%YoY รวมถึงมีกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.268 บาทต่อหุ้น โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของธนาคารขนาดใหญ่อย่าง SCB KBANK BBL BAY และ KTB มีเพียง BAY ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสและปีก่อน ขณะที่ SCB มีค่าใช้จ่ายจากการกลับรายการทางบัญชีประกอบกับค่าใช้จ่ายทางด้านการบริหารและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ส่วน KBANK และ KTB กลับมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากการมีลูกหนี้รายใหญ่ผิดนัดชำระหนี้ และ BBL ที่มีคุณภาพของลูกหนี้ที่ต่ำอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กกลับมีผลงานที่โดดเด่นออกมามากกว่าไม่ว่าจะเป็น TMB TCAP TISCO และ LHBANK

จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เติบโตเป็นอย่างมากส่งผลให้ธุรกิจธนาคารเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไปด้วย โดยเฉพาะภาคเอกชนที่กำลังเริ่มมีแนวโน้มในการลงทุนมากขึ้น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารต่างๆ จึงเพิ่มมากขึ้นไปด้วย จากรายงานสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคาร ณ วันที่ 31 ส.ค. 2560 ธนาคารส่วนใหญ่มีแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นเว้นแต่ KTB โดยสินเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่และสินเชื่อบ้าน อีกทั้งปริมาณเงินฝากที่ปรับตัวสูงขึ้นตามเงินกู้นั้นมีเพียงธนาคารขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีการเติบโตมากกว่า ส่งผลให้ Loans to Deposits ของธนาคารขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 92.74% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนอย่างการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่มีเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่ปัจจัยบวกจากทางต่างประเทศที่ส่งผลต่อกลุ่มธนาคารของไทยให้คึกคักคงหนี้ไม่พ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปลายปีนี้ หลังจากที่คณะกรรมการ FOMC ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้และอย่างน้อยอีก 3 ครั้งในปีหน้า (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ระดับ 1.00 – 1.25%) รวมถึงเฟดยังประกาศว่าจะเริ่มปรับลดงบดุลที่ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล, ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS ในเดือน ต.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรายังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มธนาคารคงเป็นเรื่องคุณภาพของสินทรัพย์ แม้ว่าทาง ASL research จะคาดการณ์ว่าการขยายตัวของสินเชื่อจะมีมากกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน แต่ปัจจัยกดดันโดยเฉพาะสินเชื่อด้อยคุณภาพจะทำให้ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารอาจเติบโตไม่ได้เต็มที่ในปีนี้ เราอยากให้จับตา BBL KKP และ CIMBT ที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องนี้ โดยเรามองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ NPLs จะยังคงเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี

ส่วน Top pick ที่น่าจับตามองในปีนี้ได้แก่ TMB และ SCB โดยเรายังคงให้หุ้นราคาจิ๋วแต่ผลประกอบการแจ๋วอย่าง TMB โดดเด่นที่สุดในกลุ่มหลังได้ Access fee จาก FWD ที่ช่วยเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของ TMB สูงถึงปีละ 1.3 พันล้านบาท สัญญา 15 ปี รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อที่เติบโตกว่า 6.18%YTD คาดการณ์รายได้ปีนี้อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.255 พันล้านบาท มีมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 2.82 บาท ตามมาด้วย SCB ที่ราคายัง Laggard อยู่ แม้ว่าปีนี้ผลการดำเนินงานอาจจะดูไม่โดดเด่นเท่าไหร่รวมไปถึงอีก 2 – 3 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากการใช้งบลงทุนกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ในการลงทุนโครงการ SCB Transformation เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และ Big DATA เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานและการแข่งขันในระยะยาว อีกอย่างที่เรายังคงชอบ SCB นั่นคือคุณภาพของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอยู่ในระดับที่ดี โดยเราคาดการณ์รายได้อยู่ที่ 1.40 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 4.02 หมื่นล้านบาท โดยประเมินมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 172.00 บาท

ทางด้าน KBANK และ BBL ที่มางฝ่าย ASL research ได้จัดทำบทวิเคราะห์ไว้นั้นเรามีมุมมองที่ยังเป็นบวกกับทั้ง 2 ธนาคาร เริ่มที่ KBANK แม้ว่าจะมีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ แต่ด้าน NPLS ratio ยังคงทรงตัวจากครึ่งปีแรก รวมกับการขยายตัวของสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในระยะยาว จึงคาดการณ์รายได้อยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 4.21 หมื่นล้านบาท และได้มูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 215.00 บาท ส่วน BBL เรายังมีความกังวลทางด้านคุณภาพของสินทรัพย์ ที่อาจส่งผลให้ NPLs ratio อาจจะไป peak ในช่วงปลายปีจึงต้องจับตาผลประกอบการในงวด 3Q17 อย่างใกล้ชิด แต่การขยายตัวของสินเชื่อจะเติบโตมากกว่า 4.5% จากสินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภาครัฐในด้านการก่อสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยทางเราคาดการณ์รายได้อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 3.34 หมื่นล้านบาท และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 212.00 บาท