ภาษีที่ดินใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยอีกต่อไป ทุกคนต้องรู้ท

ภาษีที่ดินใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยอีกต่อไป ทุกคนต้องรู้ท

ภาษีที่ดินใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของคนรวยอีกต่อไป ทุกคนต้องรู้ทัน

ช่วงนี้ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับหลายฝ่ายถึงร่างพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ขอเรียกสั้นๆ ว่า ร่างก.ม.ภาษีที่ดินใหม่) โดยจัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน (ที่ดิน+สิ่งปลูกสร้าง) ที่ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 โดยสนช. โดยมีจุดมุ่งหมายในการ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งร่างก.ม.ภาษีที่ดินใหม่นี้มีการกำหนดและแยกประเภทที่ดินไว้ 4 ประเภทคือ

1. ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดานภาษี 0.2% โดยเว้นภาษีให้ทรัพย์สินที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และมูกค่าเกินกว่านี้มีอัตราตั้งแต่ 0.05%-0.1%

2. ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานภาษี 0.5% โดยเว้นภาษีบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท และมูลค่าเกินกว่านี้มีอัตราตั้งแต่ 0.05%-0.1% และบ้านหลังที่ 2 มีอัตราตั้งแต่ 0.03-0.3%

3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานภาษี 2% โดยทรัพย์สินไม่เกิน 20 ล้านบาทมีอัตรา 0.3% และมูลค่าเกินกว่านี้มีอัตราตั้งแต่ 0.5%-1.5%

4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษี 5% เริ่มเก็บ 2% และปรับเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี

ซึ่งมีข้อที่ควรระวัง 3 ข้อในการบังคับใช้กฎหมายนี้ที่อาจกลับเป็นทำให้ “ความเหลื่อมล้ำของสังคมเพิ่มมากขึ้น” แทนที่จะลดลงดังเจตนาที่ดีในตอนต้น และส่งผลกระทบถึงประชาชนแบบเราๆ ที่เป็นผู้เช่าอาศัย เช่าเพื่อค้าขาย หรือเจ้าของที่ดินโดยไม่ใช่รายใหญ่หรือมีธุรกิจใหญ่โตคอยสนับสนุน

1. กำหนดนิยามของที่ดินทั้ง 4 ประเภท และวิธีการตีมูลค่าทรัพย์สินให้ชัดเจน เช่นนิยามของการเกษตรคืออะไร ปลูกถั่วงอกบนเนื้อที่สักครึ่งนึงจะถือว่าเป็นการเกษตรไหม? นิยามของการพานิชย์คืออะไร เอาโต๊ะมาตั้งไว้และจดทะเบียนบริษัททิ้งไว้พอไหม? โดยเฉพาะสิ่งที่ตีมูลค่าได้ยากที่สุดคือมูลค่าของสิ่งปลูกสร้างจะมีมาตรฐานการตีมูลค่าอย่างไร ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพา “ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่” ซึ่งมักเป็นสาเหตุของการเหลื่อมล้ำทางสังคมที่แท้จริง เพราะบ่อยครั้งที่การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคนมักจะ “ต่างกรรมต่างวาระ”

2. หาทางเยียวยาให้กับเจ้าของที่-ผู้เช่ารายย่อย และผู้บริโภคที่จะเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะ SME ที่ต้องใช้ที่ดินมาก แต่กำไรน้อย เช่น ปั้มน้ำมัน อู่ซ่อมรถ หอเช่า โรงเรียน สนามฟุตบอล ตลาดสด จนถึงร้านข้าวแกงตามห้องแถวติดออฟฟิสในเมือง ที่ราคาที่ดินปัจจุบันพุ่งสูงขึ้น แต่ยังคงราคาย่อมเยา ซึ่งสุดท้ายแล้วหากภาษีที่ดินใหม่มีผลบังคับใช้ ต้นทุนที่เกิดขึ้นก็จะตกมาที่ผู้บริโภคในที่สุด ในรูปแบบของ ค่าน้ำมัน ค่าหอ ค่าเทอมลูก ค่าอาหาร เรียกว่าเกือบทุกปัจจัยในการดำรงชีพที่จะแพงขึ้นเป็นหน้ากระดาน

3. วางแผนจัดการรายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ใหม่ให้ดี เพราะก.ม.ภาษีที่ดินใหม่นี้ จะกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเก็บภาษีตัวนี้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ที่ดินตามต่างจังหวัดส่วนใหญ่ จะถูกยกเว้นการเก็บภาษี เนื่องจากเป็นเพื่อการเกษตรและมูลค่าไม่เกิน 50 บาท จึงต้องดูว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อกฎหมายบังคับใช้จะทำให้ชนบทมีงบประมาณในการพัฒนาตนเองมากขึ้น หรือน้อยลงจนยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นมากขึ้นกันแน่

เจ้าของที่รายย่อยที่ไม่สามารถจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากกฎเกณฑ์ใหม่นี้ได้ หรือไม่รู้วิธีโต้แย้งดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ควร จะมีแนวโน้มถูกเอาเปรียบและบีบขายจากอสังหาฯ รายใหญ่ ที่รอจังหวะกว้านซื้อที่ดินในราคาถูก โดยกลไกในการแก้ไขทางหนึ่งที่มีการทำในต่างประเทศคือ ตั้งธนาคารที่ดินเข้ามาช่วยซื้ออสังหาฯ ที่เจ้าของไม่สามารถจ่ายภาษีเองได้ ในราคาที่ยุติธรรม เพื่อไม่ให้ถูกบีบขายหรือเอาเปรียบจากนายทุนใหญ่ ซึ่งหากมีผู้ถูกบีบขายมากขึ้นเรื่อยๆ ราคาที่ดินในบ้านเราจะปั่นป่วนจนกระทบถึงธุรกิจและผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

อีกวิธีที่จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำและการใช้ดุลพินิจเฉพาะตัวมากขึ้น คือการทำให้ “Simple” ที่สุด โดยภาษีเป็นอัตราเดียวกันกับที่ดินทุกประเภทเพื่อไม่ให้เกิดการตีความ โดยมีขั้นบันไดที่เริ่มจากการกำหนดอัตราให้ต่ำไว้ก่อน และค่อยขึ้นให้สูงในขั้นหลังๆ จะทำให้เป็นการเอาเงินคนรวยมาช่วยคนจนอย่างแท้จริง และเพิ่มการลดหย่อนสำหรับกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม คล้ายๆ กับหลักการของภาษีเงินได้ ก็น่าจะช่วยแก้ไขข้อควรระวังเหล่านี้ได้

เรื่องที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ และเกี่ยวข้องกับทุกคนที่อาศัยในผืนแผ่นดินนี้ เจ้าสัวเจ้าของที่ดินติดอันดับท็อปท่านหนึ่งพูดกับผมว่า “เงินผมสามารถซื้อได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้นที่ดิน เพราะถ้าเจ้าของที่ไม่ขาย ยังไงก็ซื้อไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส ผมจะซื้อที่ดินเก็บไว้เสมอ” ถึงผมจะไม่ได้แอนตี้เรื่องทุนนิยม เทคโนโลยี และความเจริญมากนัก เพราะโดยธรรมชาติผมเองก็ทำงานสายการเงินและเทคโนโลยีมาตลอด แต่ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ใดที่ออกมาแล้วจะทำให้ทรัพยากรของชาติ ตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป และสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากไปกว่านี้ จึงขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่แสดงความเห็น เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้รับความเห็น ข้อดีข้อเสียหลายมุมมอง ร่วมกันคิดเพื่อให้แผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของเราเป็นดินแดนทุกคนสามารถอยู่อาศัยได้อย่างสงบสุข

บางคนอาจมองว่า “ภาษีที่ดินเป็นเรื่องของคนรวย” แต่ผมกลับมองว่า หากภาษีที่ดินใหม่สามารถทำให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของที่อย่างน้อยคนละ (หรือครอบครัวละ) 1 ผืนแล้วล่ะก็ ลูกหลานของเราคงจะมีความสุขไม่น้อยเลยนะครับ