ลูกจ้างเกษียณอายุ เตรียมรับค่าชดเชยได้แล้ว ***

ลูกจ้างเกษียณอายุ เตรียมรับค่าชดเชยได้แล้ว ***

นับเป็นข่าวดีอีกหนึ่งอย่างของลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560

ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้าง และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2560 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา

ประเด็นหลักของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ฉบับนี้และผู้เขียนเชื่อว่าเป็นประเด็นที่ลูกจ้างทั้งหลายคาดหวังจากการทำงานให้กับนายจ้างมาเป็นระยะเวลานานคือ การได้รับเงินชดเชยเมื่อตนเองออกจากงานเนื่องจากการเกษียณอายุ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยได้เพิ่มมาตรา 118/1 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ดังนี้

“มาตรา 118/1 การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนาและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง”

ประเด็นเรื่องการเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างนั้น ศาลฎีกาได้เคยตีความและได้วางแนวบรรทัดฐานไว้ในหลายๆ คดี โดยศาลท่านนำบทบัญญัติมาตรา 118 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาปรับใช้โดยถือว่าการที่นายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุนั้น เป็นการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างให้แก่ลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2548) ดังนั้น แม้จะไม่มีการกำหนดบทบัญญัติเรื่องการเกษียณอายุไว้ในกฎหมายโดยตรง นายจ้างซึ่งได้มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุของลูกจ้างไว้ในข้อบังคับการทำงาน ก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเมื่อลูกจ้างครบเกษียณอายุ อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยไว้โดยตรง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งลูกจ้างอาจต้องฟ้องร้องต่อศาลให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกจ้างและลูกจ้างบางคนอาจไม่ทราบถึงสิทธิทางศาลที่ตนเองมีอยู่ด้วย

บทบัญญัติมาตรา 118/1 นั้น ได้มีการวางข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าหากนายจ้างลูกจ้างมีการตกลงกันเรื่องการเกษียณอายุไม่ว่าจะตกลงกันโดยวาจาหรือระบุไว้ในสัญญาจ้าง หรือเป็นกรณีที่นายจ้าง เช่น บริษัทต่างๆ ได้มีการกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ในข้อบังคับการทำงานของบริษัท ให้ถือว่าการเกษียณอายุตามข้อตกลงหรือข้อกำหนดในข้อบังคับการทำงานนั้น เป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งมีผลให้นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุงานของลูกจ้าง

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 118/1 นี้ มิได้กำหนดไว้ตายตัวว่าลูกจ้างจะต้องเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างและนายจ้างสามารถตกลงกันกำหนดการเกษียณอายุไว้น้อยกว่า 60 ปี ก็ได้ ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามที่ตกลงกันก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยการเกษียณอายุให้ลูกจ้างเช่นกัน แต่ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างมิได้มีการตกลงกันเรื่องกำหนดการเกษียณอายุไว้ในสัญญาจ้างหรือข้อบังคับการทำงานหรือได้มีการกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่า 60 ปี มาตรา 118/1 ได้กำหนดให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่อายุครบ 60 ปี สามารถที่จะแสดงเจตนาของตนเองเพื่อขอเกษียณอายุได้เองโดยให้แจ้งแก่นายจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามสิบวัน ในกรณีนี้ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างเนื่องจากการเกษียณอายุ โดยไม่ถือว่าเป็นการลาออกจากงานของลูกจ้าง

ค่าชดเชยจากการเกษียณอายุนั้น ลูกจ้างมีสิทธิได้รับในอัตราเดียวกับการเลิกจ้างในกรณีปกติคือ จ่ายตามอายุงานของลูกจ้างคือ อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับการชดเชย 300 วัน หากทำงาน 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับการชดเชย 240 วัน อายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับค่าชดเชย 180 วัน อายุงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับค่าชดเชย 90 วัน และอายุงาน 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 30 วัน

นับจากนี้ลูกจ้างทั้งหลายคงมีกำลังใจในการทุ่มเททำงานให้กับนายจ้างอย่างเต็มที่ และนายจ้างเองคงต้องระมัดระวังที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนายจ้างจะได้รับโทษทางอาญา ทั้งโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

พบกันใหม่คราวหน้า ค่ะ

 ////

โดย สมพร มโนดำรงธรรม

*** ชื่่อเต็ม : ลูกจ้างเกษียณอายุ เตรียมรับค่าชดเชยได้แล้ว (Severance Pay for Retirement)