ช่องว่างทักษะกับการพัฒนา EEC

ช่องว่างทักษะกับการพัฒนา EEC

คนที่ได้มีโอกาสขับรถไปทางฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จะเห็นโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่เรียงรายตลอดทาง โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้คือ

ภาพสะท้อนความสำเร็จของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)ในปี พ.ศ. 2538 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้ง 3 จังหวัด มีมูลค่าเท่ากับ 0.416 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9.87% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปี 2558 มูลค่าได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.981 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20.85% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 4.8 เท่า และยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก

รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายให้ 3 จังหวัดนี้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศอีกครั้ง ด้วยการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดซูเปอร์คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไปด้วย

ประมาณกันว่า พื้นที่ 3 จังหวัดจะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 แสนคน หรืออาจจะเพิ่มขึ้นได้มากถึง 2 แสนคนหากอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง แรงงานที่ต้องการเพิ่มนี้ แทบทั้งหมดเป็นแรงงานระดับกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือ ประเด็นก็คือ เราจะสามารถผลิตแรงงานเหล่านี้เพียงพอที่จะรองกับการเติบโตในพื้นที่หรือไม่

ในขณะที่ความต้องการแรงงานใหม่ในพื้นที่มีจำนวนมาก แต่หากมองภาพรวมในประเทศกลับพบว่าแรงงานที่มีวุฒระดับอุมศึกษาเป็นกลุ่มที่ตกงานมากที่สุด

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแหงชาติแสดงให้เห็นว่า ในช่วงปี 2556 ถึง 2560 จำนวนผู้ว่างงานที่มีวุฒิระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ในปี 2556 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 แสนคนในนปี 2560 ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการที่แรงงานมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ฝั่งของนายจ้างเองก็ยังมีความต้องการจ้างงานอยู่ ข้อมูลจากระบบ PAMP ของกระทรวงแรงงานชี้ให้เห็นว่า นายจ้าง 80-90% หาคนมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการได้เสียที แสดงว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานคงไม่ใช่เรื่องจำนวนเพียงอย่างเดียว ตัวเลขผู้ว่างงานที่สูงในระดับอุดมศึกษาอาจจะสะท้อนให้เห็นปัญหาด้านช่องว่างทักษะด้วยก็ได้

ช่องว่างทักษะหมายถึงความแตกต่างระหว่างทักษะที่นายจ้างคาดหวังจากแรงงานเมื่อเทียบกับที่แรงงานทำได้จริง เช่น หากค่าช่องว่างทักษะเท่ากับ 25% สะท้อนว่าแรงงานที่ทำงานอยู่มีความสามารถในทำงานได้ต่ำกว่าที่นายจ้างคาดหวังไว้ 25%

เมื่อพิจารณาในบริบทของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และซูปเปอร์คลัสเตอร์ ก็น่าห่วงว่า ปัญหาช่องว่างทักษะอาจจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ จนทำให้การเติบโตของพื้นที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ช่องว่างทักษะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ที่มา ข้อมูลปี 2560 คำนวณจากระบบ PMANP ของกระทรวงแรงงาน เฉพาะ 3 จังหวัดในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง จึงขอนำผลการศึกษาเรื่องช่องว่างทักษะใน 3 จังหวัดเป้าหมายมาแสดงให้เห็น โดยรูปที่แสดง เป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบ PMANP ของกระทรวงแรงงาน

จะเห็นได้ว่า ประเด็นที่มีช่องว่างทักษะสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ ความรู้ด้านกฎหมายและกฎระเบียบในวิชาชีพ มีค่า 39.7% ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีค่า 38.2% ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ มีค่า 38.0% ความรู้ด้านธุรกิจ 37.1% และความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาชีพ 36.0% แต่หากพิจารณาถึงผลที่ได้ภาพรวมแล้ว ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแรงงานในพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้ง 10 อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงพอที่จะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพ ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ ทักษะในการสื่อสาร และทักษะความสามารถเฉพาะในวิชาชีพ จะเห็นได้ว่าประเด็นเหล่านี้มีช่องว่างทักษะที่สูงเกินกว่า 30% ทั้งนั้น จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้ช่องว่างทักษะเหล่านี้ลดลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 20%-25%

การพัฒนาแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ไม่ได้มีแค่การผลิตแรงงานให้มีจำนวนเพียงพอ แต่ยังต้องมีแนวทางยกระดับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยเพื่อให้ปัญหาช่องว่างทักษะเหลือน้อยที่สุด นอกจากนี้แล้ว การผลิตกำลังคนไม่ควรมุ่งแต่ป้อนธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ต้องผลิตกำลังคนให้สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้ด้วย เพราะที่ผ่านมาธุรกิจในพื้นที่ไม่จะเป็นใหญ่ กลาง หรือ เล็ก ต่างก็เจอปัญหาการขาดแคลนแรงงานจนต้องกุมขมับเหมือนกัน