สตาร์ทอัพ Runway แค่ไหนคือจบเกม

สตาร์ทอัพ Runway แค่ไหนคือจบเกม

ถ้า Runway เหลืออยู่แค่ไม่ถึง 12 เดือน สิ่งที่ Founder ต้องทำแบบคู่ขนานและมีความสำคัญพอๆ กับการวิ่งระดมทุนคือการชะลอ Burn Rate

สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพคำว่าใกล้หมด Runway มักจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทีมงานผู้ก่อตั้งรู้สึกหวาดหวั่นเวลาที่ได้ยิน เพราะนั่นหมายถึงสถานการณ์ที่เงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกิจกำลังใกล้จะหมดลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าธุรกิจมีเงินลงทุนเหลืออยู่ 1 ล้านบาทและมีค่าใช้จ่ายต้องใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจหรือที่เรียกกันว่า Burn Rate เดือนละ 200,000 บาท นั่นหมายถึงธุรกิจนั้นอาจจะมี Runway เหลือเพียงแค่ห้าเดือน ยิ่งถ้าธุรกิจยังไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอมาหล่อเลี้ยง โอกาสไปต่อก็ริบหรี่เต็มที 

 นั่นคือในช่วงที่ Runway เหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่เดือนและที่สุดอาจจะอยู่ในสถานะจำยอมที่จะต้องเสียสัดส่วนหุ้นจำนวนมากเพื่อแลกกับเงินทุนเพียงน้อยนิดที่เป็นเสมือนสายออกซิเจนที่จะมาใช้ต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ หรือกรณีเลวร้ายที่สุดก็คือจบลงที่ไปต่อไม่ได้และจำต้องหยุดการดำเนินธุรกิจเพราะหมดเงินที่จะใช้จ้างพนักงาน จ่ายซัพพลายเออร์หรือกระทั่งค่าเช่าออฟฟิศ

นักลงทุนต่างชาติจากบริษัทร่วมทุนหลายบริษัท ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ “สิ้นสุดรันเวย์” จะไม่เกิดขึ้นถ้า Founderไม่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป เช่น ตั้งความหวังว่าอย่างไรก็ตามคงต้องได้เงินลงทุนมาต่อยอดจนได้ 

ในความเป็นจริงก็คือถ้า Runway เหลืออยู่แค่ไม่ถึง 12 เดือน สิ่งที่ Founder ต้องทำแบบคู่ขนานและมีความสำคัญพอๆ กับการวิ่งระดมทุนคือการชะลอ Burn Rate ด้วยการตัดค่าใช้จ่ายและเร่งสร้างรายได้ด้วยการหาลูกค้าอย่างเข้มข้นเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ นั่นคือความเห็นของนักลงทุนมากประสบการณ์ แต่สิ่งที่เรามักพบเห็นอยู่ในวงการสตาร์ทอัพทุกวันนี้คือ Founder ทุ่มพลังลงไปกับการแสวงหาเงินทุนในโค้งสุดท้ายมากกว่าการพยายามที่จะทำให้ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงค่าใช้จ่าย

หลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดพื้นฐานการทำธุรกิจที่ดูเหมือนทุกคนจะรู้กันอยู่แล้ว เช่น การลดค่าใช้จ่ายหรือเร่งหาลูกค้ากลับเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญรองลงมาจากการระดมทุน เหตุผลง่ายที่สุดที่จะอธิบายได้ก็คือ สังคมสตาร์ทอัพไทยยังให้คุณค่าของเม็ดเงินลงทุนที่แต่ละธุรกิจได้รับมากกว่ามูลค่าจริงๆ ที่ธุรกิจนั้นสร้าง เช่น ยอดขาย ผลกำไร หรือ การเติบโตของลูกค้า กระแสข่าวว่าธุรกิจนั้นๆได้รับเงินลงทุนเท่าไหร่กลับกลายเป็นพาดหัวตัวใหญ่ จนบางทีแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแพลตฟอร์มของธุรกิจนั้นทำอะไร ลูกค้าคือใคร เติบโตขนาดไหน หรือสามารถจะทำกำไรได้เมื่อไหร่ เป็นต้น ค่านิยมฉาบฉวยเหล่านี้เป็นเสมือนดาบสองคมที่อาจเป็นการกระตุ้นความตื่นตัวให้กับวงการสตาร์ทอัพ แต่ในอีกด้านอาจเป็นการทำลายแก่นที่แท้จริงของการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ทางรอดก่อนหมด Runway ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพควรนำกลับไปทบทวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการลด Burn Rate หรือตัดค่าใช้จ่ายจะทำให้นักลงทุนมองธุรกิจไม่ดี เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ย่อมทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและมองว่า Founder มีความสามารถในการ Turn Around ธุรกิจและมีประสบการณ์ที่นำธุรกิจผ่านวิกฤตและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต