Step 8: Sustainable Leadership

Step 8: Sustainable Leadership

เทรนด์หนึ่งของโลก Open Source 4.0 คือ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย เป็นวัยรุ่นพันล้าน 

Forbes Billionaires List ปี 2016 มีรายชื่อมหาเศรษฐีที่อายุน้อยกว่าสี่สิบถึง 66 คน เยอะที่สุดในประวัติการณ์ เติบโตถึง 7 เท่าจาก ปี 2010 สมาชิกคลับพันล้านอายุน้อยที่สุดเป็นชาวนอร์เวย์ เธออายุเพียง 19 ปี

ส่วนคนที่รวยด้วยลำแข้งตนเองอย่าง Even Spiegel แห่ง Snapchat ก็อายุ 25 แม้แต่ Mark Zuckerberg แห่ง Facebook เอง ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีนี้ด้วยวัยเพียง 32 ปีเท่านั้น 

ตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจแห่งโลก 4.0 คือ Unicorn Decacorn และ Hectocorn แปลว่าบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้าน 1 หมื่นล้าน และ 1 แสนล้าน ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตติดจรวดแบบนี้พุ่งพรวดเป็นสองเท่าระหว่างปี 2012 ถึง 2015 จึงไม่แปลกอะไรที่เจ้าของกิจการทั้งหลายจะมีเงินมีทองมหาศาลตั้งแต่ยังเด็ก

คำถามคือ “คนที่ร่ำรวยตั้งแต่อายุขนาดนี้ ต้องเผชิญโจทย์อะไรบ้าง”

วารสาร Independent ลงบทความเรื่องหนึ่งชื่อ รู้สึกอย่างไรที่รวย People who became millionaires by 25 describe what it’s like to be so rich, so suddenly, so young ผมขอดึงบางหัวข้อมาคุยกระตุ้นสมองกัน

1. People treat you differently คนรอบตัวปฏิบัติกับคุณเปลี่ยนไป พอเขารู้ว่าคุณรวย บางคนปรี่เข้ามาคุยด้วย ทำอย่างไรจึงจะรวยบ้าง ไปฟิตเนสก็มีคนมาถามว่าซื้อหุ้นตัวไหน เพื่อนบางคนตีตัวออกห่าง ตัวเขาเป็นแค่พนักงานบริษัทนั่งรถเมล์ ส่วนเรานั่งรถมีคนขับ จึงห่างหายไปโดยปริยาย ขนาดพ่อแม่หรือครูยังไม่กล้าสอน ไม่รู้ว่าคนที่เข้ามานั้นมาด้วยความจริงใจ หรือเพราะหวังพึ่งเงินพึ่งความสำเร็จ 

2. You treat yourself differently ตัวเองก็เปลี่ยนไป บางคนพอรวยแล้วซื้อของแพงๆ โดยไม่คิดหากพอลืมตัวกลับแอบประหยัด จ่ายเงินพักห้องโรงแรมคืนละเป็นหมื่น แต่ไม่กล้าเปิดมินิบาร์เพราะแพง ครั้งแรกที่บินชั้นธุรกิจรู้สึกตื่นเต้น แต่ต่อๆ มากลายเป็นความเคยชิน ที่ร้ายคือเริ่มรู้สึกทนชีวิตเดิมแบบบินอีโคไม่ได้ 

“มันเป็นสโลปที่น่ากลัว เพราะพอตกลงไปแล้ว อะไรๆก็ไม่ดีพอ อะไรๆก็ไม่หรูพอ ต้องไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีขึ้นสูงขึ้นเรื่อยไป”

3. What do you want to do in life? ความสำเร็จมาพร้อมกับความเหงา สิ่งที่ผู้นำอายุน้อยเหล่านี้ต้องประสบคือชีวิตประจำวันที่ ‘แก่’ กว่าวัยจริง ค่าเฉลี่ยอายุมหาเศรษฐีพันล้านในอเมริกาคือ 60 ปี คนยี่สิบปลายๆสามสิบต้นๆกับสังคมแบบนั้นจะรู้สึกอย่างไร แค่แต่งตัวเข้าโรงแรมเข้าร้านอาหารก็ต้องภูมิฐานเกินวัยแล้ว พอเงินไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป น้องๆที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้จึงเคว้ง

 “What am I supposed to do – retire for the next 50 years? ถามตัวเองทุกวันมากว่าสองปีแล้ว” หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์กล่าว

เพื่อนสนิทของผม อิ๊น ดร. สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ MD คนสวยของกลุ่มสลิงชอต เล่าให้ฟังถึงโจทย์ผู้นำรุ่นดิจิทัลที่เคยประสบ บางคนร่ำรวยมหาศาลตั้งแต่ยังอายุไม่ถึงสามสิบ แต่ยิ่งรวยยิ่งเครียด ประชุมกับลูกค้า หาที่ดินเนอร์ ทะเลาะกับพ่อแม่ ชอปปิงของแบรนด์เนม โกรธกับแฟน เที่ยวรอบโลก เข้าค่ายปฏิบัติธรรม ไปปาร์ตี้ สุดท้ายก็กลับมานั่งเบื่อ 

“บางทีก็อดคิดไม่ได้นะพี่ธัญ คนรุ่นเรา (รำพันอย่างนี้แสดงว่าเริ่มแก่) ทำงานจนเกษียณ แล้วยังรู้สึกว่าเหลือเวลาหลังเกษียณอีกตั้งเกือบ 30 ปีจะทำอะไรดี แล้วคนที่เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังไม่สามสิบ จะคิดอย่างไรกับอีก 60 ปีที่เหลือ”

 4. Think about what you want to do in life ผมเขียนเรื่องนี้ประกอบสเต็ปสุดท้ายของ Leadership Energy Journey เพราะผู้นำต้องเรียนรู้การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน เครื่องยนต์ที่หมุนได้เพียงสูบเดียวไม่มีประโยชน์ เขื่อนที่ปั่นไฟได้เพียงรอบเดียวไม่มีประโยชน์ ผู้นำที่มีแรงขับเคลื่อนเพียงรอบเดียวก็ไม่มีประโยชน์

หัวใจคือต้องหมั่นพิจารณาและทบทวนเส้นทางแห่งผู้นำอย่างสม่ำเสมอ Leadership Energy Journey มิใช่เส้นทางตรงจากต้นสู่ปลาย แต่มันคือวัฏจักรที่วนกลับมาเป็น Loop จาก 1 ถึง 8 แล้ววนกลับไป 1 อย่างยั่งยืน ยอดเขาแห่งเส้นชัยจะขยับออกไปเรื่อยตามชีวิตที่เปลี่ยนไป

Jack Ma ตัวแทนยอดผู้นำแห่งเอเชีย สรุปได้ดีที่สุด

“หนึ่งล้านเหรียญแรกนั่นเป็นเงินของผม พอมียี่สิบล้านมันเริ่มเป็นปัญหา พอถึงพันล้าน ผมตัดสินใจว่านี่มันไม่ใช่เงินของผม มันคือเงินของโลกที่สังคมมอบให้มา เพราะเขาเชื่อว่าผมจะใช้มันสร้างประโยชน์ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่”

ทั้งหมดนี้คือ Leadership Energy Journey เส้นทางแห่งผู้นำ ครับ!