สู่ระบบการจัดการนวัตกรรมที่เป็นสากล

สู่ระบบการจัดการนวัตกรรมที่เป็นสากล

หลายปีที่เป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการจัดการนวัตกรรมให้องค์กรต่างๆ มักมีคำถามถึงระบบหรือมาตรฐานที่อธิบายถึงแนวทางในการจัดการองค์กร

ให้พร้อมสำหรับการก้าวสู่องค์กรที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จนไปถึงการได้ชื่อว่าเป็นองค์กรนวัตกรรม


แม้ว่านวัตกรรม จะทำให้เรานึกถึงเหตุการณ์ อาทิ การฉีกกฎเกณฑ์ ออกนอกกรอบ ทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ สร้างสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งคงไม่มีใครตอบได้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง หรือทำอย่างไรในแบบที่เป็นสูตรสำเร็จ


แต่กระนั้นองค์กรจำนวนไม่น้อยก็ยังค้นหาแนวทางที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนรูปแปลงร่าง จากวัฒนธรรมการทำซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นนั้นมีคุณภาพในระดับที่ยอมรับได้อย่างคงเส้นคงวา ไปสู่วัฒนธรรมการทำใหม่ ที่ทุกคนภายในองค์กรตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงพนักงานระดับปฎิบัติการ มีใจเปิดกว้างและยอมรับในมุมมองที่แตกต่าง กล้าลองผิดลองถูก ล้มได้แต่ต้องลุกให้เร็ว และเดินหน้าค้นหาความรู้ใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อที่จะได้ชื่อว่า “เราเป็นผู้สร้างคุณค่าใหม่”


เป็นเวลาร่วม 30 ปีแล้วที่องค์กรของไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่คุ้นเคยกับระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการคุณภาพ ISO 9000 ที่เราคุ้นเคย ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 และอีกหลายระบบตามมา


และแน่นอนการจัดการนวัตกรรม ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งได้มีการเตรียมการ ศึกษา และจัดวางแนวปฎิบัติมานานนับ 10 ปี นอกจากมาตรฐานสากล (ISO) นั้นก็ยังมีมาตรฐานอื่นๆ อาทิ มาตรฐานของยุโรป (CEN) และมาตรฐานของอังกฤษ (BS)

ในมาตรฐานของยุโรป CEN/TS 16555 ได้ให้คำนิยามและความหมายของนวัตกรรม (Innovation) ว่าเป็น การดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กระบวนการใหม่ วิธีการจัดการองค์กรแบบใหม่ทั้งในทางธุรกิจ

และวิธีการทางการตลาดใหม่ๆ และให้คำนิยามของระบบการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management System – IMS) ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆที่มีปฎิสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตั้งแต่การจัดทำนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรม พร้อมไปกับการกำหนดกระบวนการเพื่อที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว


ระบบการจัดการนวัตกรรมตามมาตรฐานของยุโรปนี้ ได้ให้แนวทางที่ทำให้ทุกคนในองค์กรจะต้อง
- ทำความเข้าใจกับบริบทขององค์กร
- จัดทำระบบการนำและการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูง
- การวางแผนเพื่อให้เกิดความสำเร็จด้านนวัตกรรม
- การบ่งชี้และผลักดันปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยเกื้อหนุนทางนวัตกรรม
- การพัฒนากระบวนการจัดการเชิงนวัตกรรม
- การประเมินและการปรับปรุงสมรรถนะของระบบการจัดการนวัตกรรม
- ทำความเข้าใจถึงเทคนิควิธีการและการใช้มันในการจัดการนวัตกรรม

โดยการปฏิบัติตามแนวทางของเอกสารมาตรฐานนี้ องค์กรสามารถเพิ่มความตระหนักในคุณค่าของระบบการจัดการนวัตกรรมแก่ทุกคนในองค์กร
การจัดทำระบบที่สอดรับกับบริบทองค์กร การขยายขีดความสามารถของคนในองค์กรเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม และการสร้างคุณค่าที่มากกว่าที่องค์กรเคยทำ ถือได้ว่าเป็นการใช้แนวทางเชิงระบบ เพื่อให้เกิดการจัดการนวัตกรรมที่เป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับองค์กรใดก็ตามที่มุ่งหมายจะกลายเป็นองค์กร
ที่มีความสามารถสร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น

มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรมนี้ มีองค์ประกอบหลักครอบคลุมเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 ระบบการจัดการนวัตกรรม (16555-1:2013)
ส่วนที่ 2 การจัดการความอัจฉริยะเชิงกลยุทธ์ (16555-2:2014)
ส่วนที่ 3 การคิดเชิงนวัตกรรม (16555-3:2014)
ส่วนที่ 4 การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (16555-4:2014)
ส่วนที่ 5 การจัดการความร่วมมือ (16555-5:2014)
ส่วนที่ 6 การจัดการความติดสร้างสรรค์ (16555-6:2014)
ส่วนที่ 7 การประเมินการจัดการนวัตกรรม (16555-7:2015)


และจัดทำเป็นแผนภาพความเชื่อมโยงที่ช่วยให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีระบบย่อยๆ เริ่มต้นที่วงรอบนอกสุดเป็น บริบทขององค์กร (Context of the Organization) – clause 4 และมีวงรอบถัดไปด้านในว่าด้วยเรื่อง ภาวะผู้นำสู่นวัตกรรม และกลยุทธ์เชิงนวัตกรรม (Leadership for Innovation and Innovation Strategy) – clause 5

เพื่อที่จะทำให้องค์กรสามารถเปลี่ยนความคิด (Idea) ผ่านขั้นตอนต่างๆ (Process) จนได้ผลลัพธ์ (Result) ที่เป็นนวัตกรรมในที่สุด จึงต้องมีการวางแผน (Planning) – clause 6 ค้นหาปัจจัยเกื้อหนุน (Enabling factors) – clause 7 ออกแบบกระบวนการนวัตกรรม (Innovation Process) – clause 8 และเพื่อให้ได้กระบวนการที่ดีขึ้นอยู่เสมอจำเป็นต้องมีการประมินผล (Assessment) – clause 9 และการปรับปรุง (Improvement) – clause 10 ผ่านเทคนิคการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management Techniques) – clause 11

ระบบการจัดการนวัตกรรมสามารถดำเนินการได้เป็นระบบเดี่ยวโดยลำพัง หรือบูรณาการเข้าไปกับระบบการจัดการในด้านอื่นๆ แต่ต้องแน่ใจว่าวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรมจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง และมีสมรรถนะที่ได้รับการวัดผลและเกิดการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ