ธุรกิจเยี่ยมชมเด็กกำพร้าในอาเซียน

ธุรกิจเยี่ยมชมเด็กกำพร้าในอาเซียน

กุลระวี สุขีโมกข์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.

การท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ชาติสมาชิกอาเซียน ใช้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติ ส่งผลให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับรูปแบบของอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง ธุรกิจเยี่ยมชมเด็กกำพร้า” (Orphanage Tourism) ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ อาทิ กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย และทางภาคเหนือของไทย

คำถามที่น่าสนใจคือสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการท่องเที่ยวได้อย่างไร? หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า สาเหตุประการหนึ่งมาจากความประสงค์ของกลุ่มนักท่องเที่ยวเอง ที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กกำพร้า ทำให้กิจกรรมดังกล่าวเติบโต กระทั่งเป็นที่นิยมและปรากฏอยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจเสาะหาเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี มาไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว

สำหรับกรณีกัมพูชา สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าบางแห่ง ดำเนินการโดยผิดกฎหมาย และไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ เนื่องจากเด็กกลุ่มดังกล่าว มีครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด แต่ด้วยเพราะความยากจน เด็กเหล่านี้จึงถูกส่งมาให้อยู่ภายใต้การดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า ด้วยความคาดหวังของผู้ปกครองที่ว่า เด็กจะได้รับโอกาสทางการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยหารู้ไม่ว่า เด็กถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทุน ผ่านการขอรับเงินบริจาคเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ต่อปี

เด็กหญิงชาวกัมพูชาคนหนึ่งที่เคยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เล่าว่า เธอถูกครอบครัวส่งมาอยู่ในสถานที่ดังกล่าวนี้ตั้งแต่เด็ก หลายครั้งที่นักท่องเที่ยวบริจาคเสื้อผ้าหรืออาหารให้กับเธอ ผู้ดูแลเธอในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าก็มักจะเอาของเหล่านี้ไปขายเพื่อแลกเป็นเงิน โดยที่เงินที่ได้มานี้ ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเธอและเพื่อนๆในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และยังคงถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ และมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สู้ดี เพื่อเรียกร้องความสงสารจากกลุ่มนักท่องเที่ยวให้บริจาคเงินเพิ่มเติม

สอดคล้องกับข้อมูลของรัฐบาลกัมพูชา โดยนายวง สวด (Vong Sauth) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก และการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนของกัมพูชา กล่าวว่า เด็กกลุ่มนี้จำต้องพบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นผู้ดูแลศูนย์ฯ อาสาสมัครเลี้ยงดูเด็ก และกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งต่างไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก อีกทั้ง ยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นใครหรือมีประวัติอย่างไร ดังนั้น การปล่อยให้เด็กเล็กอยู่ภายใต้การดูแลของคนกลุ่มนี้ จึงเสมือนเป็นการปล่อยให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาว

ล่าสุด รัฐบาลกัมพูชาได้ดำเนินการกวาดล้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าลักษณะดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตและดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้ง ยังพบว่าเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า 16,579 คน หรือคิดเป็น 80% ของเด็กทั้งหมดที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจำนวน 400 แห่ง ไม่ใช่เด็กกำพร้า เช่นเดียวกับเมียนมา ที่รัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยว่า มีเด็กจำนวน 17,322 คน เข้าลงทะเบียนเป็นเด็กกำพร้า แต่มีเด็กกำพร้าจริงๆ เพียง 27% ของเด็กทั้งหมดเท่านั้น

ด้านกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ยืนยันว่า เยาวชนที่อยู่ในธุรกิจเยี่ยมชมเด็กกำพร้าจำนวนเฉลี่ย 75% ไม่ใช่เด็กกำพร้า เนื่องจากเด็กเหล่านี้มีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องอย่างน้อยหนึ่งคน แต่พวกเขาถูกนำพาเข้าสู่ธุรกิจนี้ก็เพราะความยากจน ยูนิเซฟวิจารณ์ว่าธุรกิจในลักษณะนี้เสมือนเป็นการหาผลประโยชน์จากเด็ก อีกทั้งสภาพแวดล้อมในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าไม่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาทางร่างกายและสติปัญญาของเด็ก เช่น เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรถูกทอดทิ้ง เพราะการดูแลโดยอาสาสมัครที่ขาดประสบการณ์ในสถานรับเลี้ยงเด็กจะทำให้สมองของเด็กเติบโตไม่เต็มที่

ในขณะที่องค์การไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศอื่นๆ ก็พยายามสร้างความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เช่น ศูนย์ Friend International ที่ได้ดำเนินการรณรงค์เพื่อต่อต้านธุรกิจนี้ ภายใต้แนวคิด “เด็กไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว” (children are not tourist attractions.) มานับตั้งแต่ปี 2554 ในส่วนของอาเซียนนั้นคณะกรรมาธิการอาเซียนเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children : ACWC) เป็นกลไกด้านสิทธิเด็กที่สำคัญ ซึ่งได้มีการพูดถึงประเด็นเรื่องสิทธิเด็กกำพร้าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงสิทธิเด็กในธุรกิจเยี่ยมชมเด็กกำพร้าอย่างตรงไปตรงมายังคงไม่มีความชัดเจน ธุรกิจดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อไปและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไม่ใช่เพียงเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงพื้นที่ส่วนอื่นๆของโลกด้วย