สร้างพลังธุรกิจสะอาดต้านคอร์รัปชัน

สร้างพลังธุรกิจสะอาดต้านคอร์รัปชัน

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากองค์การสหประชาชาติโดย UNODC หรือสำนักงานยูเอ็นด้านยาเสพติดและอาชญากรรม

ร่วมกับศูนย์เพื่อธุรกิจที่มีความรับผิดชอบของประเทศพม่า (Myanmar Center for Responsible Business) เป็นองค์ปาฐกในงานสัมมนา การสร้างธุรกิจซื่อตรงและรับผิดชอบ” ที่กรุงย่างกุ้ง โดยขอให้ไปพูดเกี่ยวกับบทบาทภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต จากที่ผู้จัดพม่าสนใจโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition against Corruption : CAC) ที่ทางสถาบันไอโอดีกำลังขับเคลื่อนในนามองค์กรธุรกิจหลักของประเทศแปดองค์กร

โครงการ CAC ได้ดำเนินการมาแล้วประมาณหกปี และกำลังเป็นที่สนใจของหลายประเทศ เพราะรูปแบบของโครงการเปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสามารถร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศได้โดยสมัครใจ คือเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ทำธุรกิจสะอาดที่ปลอดการทุจริตคอร์รัปชันและการให้สินบน หลังเข้าร่วม บริษัทที่เข้าร่วมต้องออกนโยบายและวางระบบควบคุมภายในบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจ่ายสินบนหรือการทุจริตคอร์รัปชัน และต้องผ่านการสอบทานจากผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอกว่าบริษัทมีการปฏิบัติจริงตามนโยบายและแนวปฏิบัติที่ได้วางไว้และการสอบทานต้องเสร็จภายในเวลา 18 เดือน หลังการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งบริษัทที่ผ่านการสอบทานจะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโครงการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฎิบัติในการต่อต้านการทุจริตตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด

รูปแบบการมีส่วนร่วมดังกล่าวทำให้บริษัทเอกชนสามารถช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้ โดยการสร้างธุรกิจสะอาดให้เกิดขึ้น เพราะประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงอย่างประเทศไทย การแก้ปัญหาจะหวังพึ่งภาคราชการและนักการเมืองคงไม่ได้ ถ้าจะสำเร็จ การแก้ไขปัญหาต้องมาจากทุกฝ่าย ทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ บริษัทเอกชน และภาคประชาสังคม สำหรับบริษัทเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญมาก เพราะบริษัทอยู่ในสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้หรือผู้จ่ายสินบน เป็นด้านอุปทานของสมการคอร์รัปชัน ดังนั้นถ้าบริษัทเอกชนร่วมกันปฏิเสธไม่จ่ายสินบน คอร์รัปชันก็จะลดลงโดยปริยาย แต่บริษัทเอกชนบริษัทเดียวหรือสองบริษัททำไม่ได้ ต้องมีบริษัทจำนวนมากพร้อมใจกันทำ เป็นแนวร่วมใหญ่ เป็นพลังใหญ่ที่ปฏิเสธการจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ พลังดังกล่าวจะทำให้อุปทานคอร์รัปชันลดลงและกดดันให้ผู้รับหรือฝ่ายราชการหรือฝ่ายการเมืองที่ทุจริตต้องเปลี่ยนพฤติกรรม 

นอกจากนี้ พลังธุรกิจสะอาดก็สามารถผลักดันให้การทำงานของระบบราชการต้องโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดเงื่อนไขของการใช้อำนาจหน้าที่ทางราชการหาประโยชน์ การผลักดันนี้ทำได้ทั้งการออกกฎหมายใหม่หรือปรับปรุงระบบการทำงานของภาคราชการให้โปร่งใสขึ้น อย่างที่กำลังพยายามทำกันขณะนี้

ความคืบหน้าของโครงการ CAC ถึงขณะนี้ต้องบอกว่าเป็นความสำเร็จของบริษัทเอกชนที่ต้องการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ คือ ทำธุรกิจที่ปลอดการให้สินบนและคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมากสำหรับสังคมไทยที่ให้สินบนกันจนกลายเป็นวัฒนธรรมธุรกิจและวัฒนธรรมราชการ จนปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศเติบโตติดอันดับโลกและกำลังทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอยู่ขณะนี้

แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีความหวังว่า พฤติกรรมลักษณะนี้กำลังเปลี่ยน เพราะคนจำนวนมากรู้และตระหนักดีว่าประเทศจะแข่งขันไม่ได้และจะอยู่ไม่ได้ ถ้าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไม่มีการแก้ไข และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา และที่สะท้อนจากโครงการ CAC ก็คือ มีภาคเอกชนที่พร้อมแสดงตนเข้าร่วมแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยสมัครเข้าร่วมโครงการ CAC เป็นจำนวนมาก และพร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆของโครงการอย่างแข็งขัน สะท้อนจากข้อมูลบริษัทที่เข้าร่วมโครงการขณะนี้

  1. จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC ล่าสุดมี 844บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 405 บริษัท และเป็นบริษัททั่วไป 439 บริษัท
  2. บริษัทที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ มีทั้งบริษัทในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด และมีทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติ
  3. บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการ CAC 405 บริษัท มีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด และประมาณว่าบริษัทเหล่านี้มีการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน
  4. มีบริษัทที่เข้าร่วมอย่างน้อย 151 บริษัทที่เข้าร่วมแบบยกหรือกึ่งยกสมาคม คือ สมาคมธนาคารไทย 15 ธนาคารพาณิชย์ไทยเข้าร่วมทุกธนาคาร สมาคมบริษัทหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทจัดการกองทุน เข้าร่วม 53 บริษัท บริษัทประกันชีวิต เข้าร่วม 25 บริษัท บริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วม 51 บริษัท และสมาคมวิจัยการตลาดเข้าร่วม 7 บริษัท
  5. ในบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมมี 232 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด โดยเป็นบริษัทจดทะเบียน149 บริษัท
  6. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 20 อันดับแรกมี 17 บริษัท ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และมี 16 บริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC
  7. ตามเกณฑ์ของคณะกรรมการ CAC บริษัทที่ผ่านการรับรองจะต้องขอรับรองใหม่ทุกสามปี เพื่อให้การปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตของบริษัทเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดจาก 232 บริษัทที่ผ่านการรับรอง มี 50บริษัทที่ผ่านการรับรองเป็นรอบที่สอง หมายถึงได้ปฏิบัติตามนโยบายธุรกิจสะอาดต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อยสามปี
  8. ทุกไตรมาสที่คณะกรรมการ CAC พิจารณาให้การรับรอง จะมีบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์ยื่นขอรับรองเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 บริษัทต่อไตรมาส
  9. มีบริษัทที่ผ่านการรับรองอย่างน้อยสองบริษัท คือ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้ขยายผลธุรกิจสะอาดไปสู่บริษัทในห่วงโซ่การผลิตของตนคือ เชิญชวนให้บริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเข้าร่วมโครงการ CAC เพื่อสร้างวงจรธุรกิจปลอดการทุจริตคอร์รัปชันที่ครบถ้วน นำมาสู่การสมัครเข้าร่วมโครงการ CAC ของบริษัทในห่วงโซ่ของสองบริษัทนี้ รวมแล้ว 128 บริษัท

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงโมเมนตั้มของโครงการ CAC และพลังของธุรกิจสะอาดที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นตัวอย่างที่หลายประเทศให้ความสนใจ พม่าก็เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงความสนใจ นอกจากนี้ก็มีอินโดนีเซีย รัสเซีย บราซิล ที่ได้สอบถามมา และมีประเทศมอริเชียส (Mauritius) ที่ได้นำลักษณะของโครงการ CAC ไปประยุกต์ใช้แล้ว ล่าสุด CIPE (Center for International Private Enterprise) ที่เป็นองค์กรสนับสนุนโครงการ CAC ตั้งแต่เริ่มแรก ได้รับการติดต่อจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐอเมริกาขอนำโครงการ CAC ไปเขียนเป็นกรณีศึกษา หรือ case study ประกอบการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจและนโยบายสาธารณะ

นี่คือความก้าวหน้าของบริษัทเอกชนที่ต้องการสร้างธุรกิจสะอาดต่อต้านการทุจริต โดยมุ่งลดอุปทานคอร์รัปชันและสร้างพฤติกรรมธุรกิจใหม่เพื่อสร้างประเทศให้ปลอดการทุจริต บริษัทที่สนใจเข้าร่วมกับโครงการ CACสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่ www.thai-cac.com และติดต่อโครงการได้ที่คุณกิตติเดช ฉันทังกูล ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2955-1155 เบอร์ต่อ 302