“สังคมผู้สูงวัยรับมือได้ด้วยเทคโนโลยี”

“สังคมผู้สูงวัยรับมือได้ด้วยเทคโนโลยี”

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

ทำให้ปัจจุบันเราได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเลขประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 15 หรือราว 10 ล้านคน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรครั้งใหญ่ คือมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำลง เพราะคนสมัยใหม่มีบุตรน้อยลง และบางคนเลือกที่จะไม่มีเพราะมองว่าเป็นภาระ บวกกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ล้ำหน้าขึ้น คนไทยมีชีวิตยืนยาวมากยิ่งขึ้น อัตราการเสียชีวิตในแต่ละปีก็ลดลงตามไปด้วย โดยในอีก 20 ปีข้างหน้าได้มีการคาดการณ์ว่าประชากรกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่า และประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียนเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศของเราจะพุ่งไปถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ปัญหาที่ตามมาของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คือ ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคล เพราะจำนวนคนวัยทำงานจะลดลงตามไปด้วย บวกกับอัตราการเกิดที่ต่ำ ทำให้สัดส่วนของประชากรวัยเด็กลดลง และจะไม่เพียงพอต่อการทดแทนจำนวนแรงงานในทุกอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทดแทนกับจำนวนพนักงานที่ปลดเกษียณ เห็นได้จากการขยายกำหนดอายุเกษียณจาก 60 เป็น 65 ปี ที่สำคัญคนวัยทำงานต้องมีภาระหนักขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ขนาดครอบครัวที่เล็กลง นั่นหมายถึงผู้สูงวัยมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ลำพังมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่วางแผนรับมือให้ดีแล้วอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ในระยะยาวทั้งในด้านสังคมและภาคเศรษฐกิจ

ในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะที่สุดในโลกอย่างญี่ปุ่น  ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ เช่น หุ่นยนต์ที่ช่วยในการเดินเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ง่ายขึ้น ในประเทศจีนมีการพัฒนาและทดลองนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงทดแทนจำนวนแรงงานที่ขาดไปเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกกว่าเท่าตัว รวมทั้งยังช่วยลดข้อผิดพลาดของการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นลงได้อีกด้วย หรือในประเทศที่ได้รับอันดับสูงสุดในด้านการดูแลผู้สูงวัยแบบมีคุณภาพอย่างสวีเดน มีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เสมือนพยาบาล ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนไข้ผู้สูงอายุ กับแพทย์หรือพยาบาลแบบเรียลไทม์

เห็นได้ว่าหลายประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าวมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจอันดีด้วยเช่นกัน เพราะมันได้ส่งผลให้แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป กลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ได้กลายมาเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่มีอำนาจต่อรองในการซื้อ และมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากมีเงินเก็บจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิต จึงมีศักยภาพสูงในการใช้จ่าย ผู้ประกอบการจึงควรเร่งศึกษาช่องทางในการดึงพวกเขาเหล่านั้นมาเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญ และที่สำคัญการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวจะช่วยเพิ่มจำนวนสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวให้ออกสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เช่น นวัตกรรมและบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อการบำบัดรักษา และเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 

ในประเทศไทยเริ่มมีการตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวแต่ก็ยังไม่มีนโยบายในการรับมือกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามเราก็เริ่มมีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เห็นกันบ้างแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและอุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้ดูแลผู้สูงอายุภายในบ้านก็มีออกมาวางขายกันมากขึ้น ยังมีแอพพลิเคชั่นทางการแพทย์เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดูแลตนเองในกรณีต่างๆ 

นอกจากนี้เทคโนโลยีที่อาจจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะแต่ก็ทำให้มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้นอย่างการค้าออนไลน์ (eCommerce) หรือ การทำธุรกรรมออนไลน์ (ePayment) ก็เป็นอีกแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถซื้อของหรือชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย 

ในการทำธุรกิจเรามองว่านอกจากจะต้องทำให้ผู้สูงวัยเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกกับชีวิตแล้ว จะต้องมีตลาดสำหรับรองรับความต้องการของคนกลุ่มนี้ด้วย เป็นเหตุผลให้ Shopee  มองเห็นถึงโอกาสนี้และมีการเพิ่มสินค้าที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้บริโภคทุกๆ กลุ่มให้ครอบคลุมมากที่สุด  

ในอนาคตหลายประเทศทั่วโลกจะต้องเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตามเราสามารถวางแผนในการรับมือกับการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างของสังคมให้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการศึกษาตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ ที่สำคัญคือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรเร่งพัฒนาในเรื่องของนวัตกรรม เทคโนโลยี และนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด การจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในอนาคตที่จะต้องเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงวัยนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถสร้างโครงสร้างและสาธารณูปโภคที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้แบบพึ่งพิงตัวเองหรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุดได้หรือไม่