“AI ปรากฎการณ์นวัตกรรมพลิกโฉมโลก”

“AI ปรากฎการณ์นวัตกรรมพลิกโฉมโลก”

กระแสของ AI และ IoT กำลังมาแรง และเป็นที่สนใจโดยเฉพาะแวดวงไอที และเทคสตาร์ทอัพทั่วโลก ที่กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้กันมาก

คำว่า AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งก็คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาให้มีตรรกะการคิดเป็นของตัวเอง 

ทั้งนี้ AI แต่ละประเภทต่างมีขีดความสามารถต่างกันไป บางตัวสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวผ่านการจดจำ และเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ ที่พบเจอแบบที่เรียกกันว่า Machine Learning หรือสามารถดึงข้อมูลเพื่อตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้งาน อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มักจะมาคู่กับ AI คือ หุ่นยนต์อัจฉริยะ โดย AI ทำหน้าที่เป็นเหมือนสมองคอยควบคุมทำงาน

นอกเหนือจากหุ่นยนต์แล้ว IoT หรือ Internet of Things ก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ Things ในโลกเทคโนโลยีทำงานได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและควบคุมการทำงานโดยโปรแกรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะของหลายๆค่าย ปัจจุบันเริ่มมีสินค้าและบริการที่อาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมาให้เห็นในตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งอเมริกาและยุโรป ที่หลายๆท่านน่าจะคุ้นเคยกันดี คือ AI ในรูปแบบผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียง ตัวอย่าง เช่น Apple Siri, Google Now, Amazon Alexa, Microsoft Cortana รวมถึง LINE Clova เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้งานได้ง่ายเมื่อมาในรูปแบบของ สมาร์ท สปีคเกอร์ หรือ ลำโพงอัจฉริยะ อย่าง กูเกิล โฮม หรือ อเมซอน แอคโค่ ที่มี AI เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฎิบัติการ ให้เราสามารถสั่งการและโต้ตอบกับมันได้ ตั้งแต่ สตรีม เพลง ฟังวิทยุ ไปจนถึงจัดการควบคุมเครื่องใช้ภายในบ้านให้สามารถเปิด-ปิด ปรับอุณหภูมิ และฟังก์ชั่นอื่นๆได้ และยังสามารถช่วยจัดการตารางต่างๆของเรา ช่วยเตือนความจำ เรียกรถโดยสาร ไปจนถึงแนะนำร้านอาหาร ตรวจสอบสภาพอากาศและการจราจรก่อนการเดินทาง 

นอกจากนี้เรายังได้เห็นการประยุกต์ใช้ AI ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูล บิ๊กดาต้า ของผู้บริโภค ทั้งในภาคการเงินการธนาคารและภาคธุรกิจอื่นๆโดยเฉพาะบนโลกออนไลน์อย่าง อีคอมเมิร์ซ ที่มีข้อมูลมากมายให้วิเคราะห์ หรือใช้เป็นตัวช่วยลดทอนงาน

เช่น Chat Bot ที่เข้ามาคอยตอบคำถามเบื้องต้นของลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้การทำธุรกิจต่อเนื่องไม่ขาดตอน ยิ่งไปกว่านั้นมีความพยายามในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆของโลก เช่น การทำนายแผ่นดินไหว ที่ทางมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนียกำลังศึกษาพัฒนาอยู่ หรือ การอ่านใจผู้ป่วย ALS ที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งไทเปพยายามคิดค้นให้ AI ตีความสัญญาณคลื่นสมองของผู้ป่วยที่ตรวจจับได้

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ทำไมเทคโนโลยีเหล่านี้ถึงสำคัญและกลายเป็นกระแสในปัจจบันุ ปัจจัยอย่างแรกเป็นเพราะปัจจุบันอุปกรณ์ต่างๆมีราคาถูกลง และอินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงยากอีกต่อไป ที่สำคัญคือสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตของคนทั่วโลกได้ ช่วยลดปัญหาความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์และลดต้นทุนในการทำธุรกิจ รวมถึงเป็นทางออกให้กับปัญหาขาดแคลนแรงงานจากภาวะสังคมผู้สูงวัยที่จะทยอยเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคตอีกด้วย

ผู้นำในวงการเทคโนโลยีหลายๆคนต่างออกมาให้ความเห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ตลอดจนทิศทางในอนาคตของเทคโนโลยีนี้ ตั้งแต่มหาเศรษฐีอย่าง บิล เกตส์ ที่ออกมาให้คำแนะนำกับเด็กจบใหม่ว่าการวิจัยและพัฒนา AI เป็นหนึ่งในอาชีพที่จะมีอนาคตไกล หรือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่หันมาลองสร้าง AI ด้วยตนเองไว้ใช้งานในบ้านของเขา และยังพยายามนำ AI มาช่วยตรวจสอบและคัดกรองข้อมูลที่ถูกแชร์ในเฟซบุ๊ค ไปจนถึง อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX และ Tesla ก็ได้ตั้งบริษัท Neuralink ขึ้นมาใหม่โดยหวังจะสร้างอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมองคนเราได้โดยตรง และเชื่อมมันเข้ากับคลาวด์ เน็ตเวิร์ค ให้คนที่ใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถติดต่อกันได้โดยตรงเหมือนโทรจิต 

หากทำสำเร็จจะกลายเป็นการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ของรูปแบบการเรียนรู้ไปจนถึงการเสพสื่อบันเทิงและประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษยชาติ แต่ทั้งนี้ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการควบคุมปัญหาที่จะตามมาจากเทคโนโลยีเหล่านี้ในอนาคตเช่นกัน

เช่น เทคโนโลยีอัจฉริยะพวกนี้จะเข้ามาลดความจำเป็นของแรงงานในหลายอาชีพ และหากพัฒนาจนกลายเป็นสิ่งที่ฉลาดกว่ามนุษย์ ก็อาจจะกลายมาเป็นโทษได้ แต่สิ่งหนึ่งที่กูรูในวงการเทคโนโลยีหลายๆ ท่านเห็นตรงกัน คือ เทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นและจะเข้ามาพลิกโฉมวิถีชีวิตคนทั่วโลก จนในที่สุดอาจจำเป็นต้องมี Universal Basic Income หรือ รายได้พื้นฐานที่ได้เปล่า ให้ประชากรที่ส่วนใหญ่จะกลายเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ว่างงาน ซึ่งภาครัฐอาจสามารถนำสวัสดิการส่วนนี้มาจากการเก็บภาษีองค์กรที่ใช้นวัตกรรมที่ทดแทนแรงงานคน

นับวันขีดความสามารถเทคโนโลยีเหล่านี้ มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น และน่าสนใจที่จะศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหรืออาจจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจดีๆ ได้ ในอนาคตการที่เราจะได้เห็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่มีความสามารถหลากหลายอย่าง J.A.R.V.I.S แบบในภาพยนตร์ดังเรื่อง Iron Man ตลอดจนแรงงานหุ่นยนต์ หรือท้องถนนที่ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยตนเองลดปัญหาทางการจราจรต่างๆ อาจไม่ใช่เรื่องที่อยู่แค่ในภาพยนตร์อีกต่อไป ขึ้นกับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ในไทยเอง ก็มีองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรอย่างสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) คอยให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา AI ในประเทศไทย และยังมีการจัดการสัมมนาทางวิชาการด้าน AI อยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเผยแพร่ความรู้และผลักดันวงการ AI ของเราให้รุดหน้ายิ่งขึ้นไป 

หากมีการสนับสนุนทั้งเงินทุน นโยบาย และบุคลากรที่ดี ปัญหาสังคมหลายๆ ด้านอาจจะสามารถแก้ไขได้ผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ และอนาคตอันใกล้ในไม่กี่ปีข้างหน้าโลกที่คุณเห็นในทุกวันนี้อาจจะถูกพลิกโฉมไปอย่างคาดไม่ถึง