สังคมจมหนี้

สังคมจมหนี้

เศรษฐกิจไทยวันนี้ “แข็งนอกเปราะใน” ภาคต่างประเทศ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก ฯลฯ เติบโตดี แต่ภายในกลับอ่อนแอมาก

ที่เห็นชัดคือการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือน สาเหตุสำคัญคือหนี้สิน SME และหนี้ภาคครัวเรือน

 

หนี้ครัวเรือนถูกจับตามาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งยอมรับกันว่าเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อรัฐบาลทุ่มเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย แต่การบริโภคภายในก็ไม่ฟื้น คำตอบคือภาคครัวเรือนจมอยู่กับหนี้สินจนไม่เหลือกำลังซื้อ ในปัจจุบัน คนไทย 1 ใน 3 คนมีหนี้ในระบบเฉลี่ย 147,000 บาท/คน เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งจำนวนคนและปริมาณหนี้นับตั้งแต่ปี 2552 และ 1 ใน 5 ของผู้มีหนี้กลายเป็นหนี้เสียเฉลี่ย 56,500 บาท/คน

 

ที่น่าห่วงคือคนไทย 1 ใน 2 เป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน ปริมาณหนี้ก็ไม่ได้ลดลงตามอายุ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุยังคงมีหนี้สูง กลุ่มเริ่มทำงานมีส่วนแบ่งในสินเชื่อส่วนบุคคล 30 % บัตรเครดิต 20 % และรถยนต์ 20 % พวกเขาเป็นกลุ่มหนี้เสียสูงสุด ในยอดรวมทั้งระบบ สินเชื่อบ้านมีสัดส่วนสูงสุด 33.2 % หนี้เสีย 19.8 % ของหนี้เสียทั้งหมด แต่หนี้ที่วิกฤติสุดคือสินเชื่อส่วนบุคคล มีสัดส่วน 28 % แต่หนี้เสียสูงถึง 32 % ของหนี้เสียทั้งหมด

 

เมื่อมองภาพใหญ่ หนี้ครัวเรือนไทยหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2551 คิดเป็น 52.4 % ของจีดีพี ปี 2552 กระโดดไปที่ 57.9 % ปี 2553 - 59.3 % ปี 2554 พุ่งขึ้นไปที่ 66.2 % จากนั้นก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2555 ขึ้นไปที่ 71.8 % ปี 2556 ไปที่ 76.6 % ปี 2557 -79.9 % และถึงจุดสูงสุดปี 2558 ที่ 81.2 % ปี 2559 ลดเหลือ 79.8 % ไตรมาสแรกปี 2560 อยู่ที่ 78.6 %

 

ถ้ามองอัตราการเติบโต (YOY) ปี 2552 เป็นปีแรกที่หนี้ครัวเรือนโตถึง 2 หลัก 10 % ปี 2553 โตถึง 14.7 % ปี 2554 ขึ้นไปที่ 16.4 % มันเติบโตสูงสุดปี 2555 ที่ 18.3 % ปี 2556 ลดเหลือ 10.4 % จากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือน (สิ้นปี 2559) มียอดรวม 11.47 ล้านล้านบาท ถ้าคิดดอกเบี้ยแค่ 8 % ก็เป็นเงิน 918,000 ล้านต่อปี เงินมหาศาลก้อนนี้คือกำลังซื้อที่หายไป

 

เศรษฐกิจภายในจะฟื้นตัวได้ ยังขึ้นกับความเข้มแข็งของ SME สัดส่วนจีดีพีปัจจุบันของกลุ่มนี้คือ 41 % เป็นกลุ่มที่จ้างงานสูงถึง 80 % ของแรงงานทั้งหมด ถ้า SME อ่อนแอ เศรษฐกิจภายในย่อมเปราะบาง ในไตรมาสแรกปี 2560 การส่งออกรวมโต 3.1 % แต่การส่งออกของ SME หดตัวลง 13.5 % นี่คือสัญญาณอันตราย สถานการณ์หนี้สินก็ยิ่งสาหัส จนคณะกรรมการนโยบายการเงินได้แสดงความเป็นห่วงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มนี้

 

แม้เศรษฐกิจเติบโตชัดเจน แต่ผู้ได้รับประโยชน์คือธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มท่องเที่ยวส่งออก ขณะที่ SME และภาคครัวเรือนอ่อนแอมาก มันแสดงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวเฉพาะชนชั้นนำผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มธุรกิจที่กุมอำนาจเหนือตลาด ส่วนคนชั้นกลางถึงล่างกลับจมอยู่กับหนี้สินและทนทุกข์กับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองตกต่ำ

 

เป็นเรื่องดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันมิให้ผู้มีรายได้น้อยใช้จ่ายเกินตัวและต้องเป็นหนี้ แต่มันจะดีมาก หากธปท.บริหารจัดการให้ดอกเบี้ย SME และภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและยุติธรรมกว่านี้

 

นโยบายช่วยเหลือของภาครัฐเน้นที่การเข้าถึงสินเชื่อ มันคือการเพิ่มหนี้ให้กับผู้ที่กำลังจมหนี้ ซึ่งไม่มีทางช่วยพวกเขาหลุดพ้นจากหนี้สินไปได้ ทางรอดคือเพิ่มรายได้ ไม่ใช่เพิ่มหนี้ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ไขโครงสร้างการกระจายรายได้ คนรวยจะยิ่งรวย คนจนจะยิ่งจน ปัญหาหนี้สินไม่มีวันหมดสิ้น มีแต่หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

 

ถ้าเข้าใจประเด็นนี้ จะไม่แปลกใจที่ไทยกลายเป็นประเทศเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก ซึ่งคนรวยที่สุด 10 % เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79 % ของประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ (ที่เริ่มนับถอยหลังแล้ว) ของประเทศไทย

 

ในโหราศาสตร์ หนี้สินคือภพ 6 (อริ) ภพ 6 ในดวงเมืองไทยคือราศีกันย์ พุธดาวเจ้าราศีไปอยู่มีน-เป็นนิจจ์ แต่พุธเป็น “นิจจะภังคะราชาโยค” ที่กลับร้ายกลายเป็นดี หมายถึงหนี้ที่สร้างรายได้

 

ปัญหาที่แท้จริงคือพุธทำมุมร้ายกับดาวใหญ่หลายดวง พุธร่วมราศีกับราหูและ 180 เนปจูน ชี้ถึงการเสพติดและจมอยู่กับหนี้  พุธ 90 พฤหัสมฤตยู หนี้ที่มากมายเกินคาดหมาย พุธ 90 เสาร์ มันสร้างปัญหาใหญ่แก่เกษตรกรและคนชั้นล่าง พุธตกภพ 12 (วินาศ) ภพ 12 คือการชดใช้ ชำระสะสาง ฯลฯ ประเทศชาติต้องแบกรับภาระนี้

 

กันยายน 2551 เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาและส่งผลกระทบไปทั่วโลก พฤษภาคม 2552 พฤหัสเนปจูนเริ่มวัฏจักรใหม่ ธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจกันอัดฉีดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยถูกกดจนต่ำมาก ดอกเบี้ยที่ต่ำมากทำให้หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตมหาศาล โดยเฉพาะปี 2555 – 2556 ที่สถาบันการเงินแข่งกันปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อย ที่ชัดเจนมากคือสินเชื่อส่วนบุคคล

 

หลังมหาอุทกภัย 2554 ภาคครัวเรือนต้องกู้หนี้เพื่อซ่อมแซมบ้าน รัฐบาลยังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยม เช่น รถคันแรก จำนำข้าว ฯลฯ หนี้ครัวเรือนจึงโตอย่างก้าวกระโดด น้ำท่วมทำให้ฐานการผลิตเพื่อส่งออกเสียหาย การส่งออกทรุดตัว การบริโภคภายในกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สถาบันการเงินจึงแข่งกันปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างหนัก

 

จังหวะดาวยิ่งให้ภาพที่ชัดเจน เมษายน 2552 มฤตยูเข้ามีน เดือนกันยายน เสาร์เข้ากันย์ ตุลาคมมฤตยูถอยกลับกุมภ์ พฤศจิกายนราหูเข้าธนู หนี้ครัวเรือนเริ่มโตมาก ปลายมกราคม 2553 มฤตยูเข้ามีนเต็มตัว ต้นพฤษภาคม พฤหัสเข้ามีนซ้ำ ดาวใหญ่ทั้ง 4 เข้ารูป T-square ตั้งแต่พฤษภาคม 2553 - พฤษภาคม 2554 หนี้ครัวเรือนโตอย่างก้าวกระโดดนับแต่นั้นมา

 

ภาคครัวเรือนคือจันทร์ จันทร์อยู่กรกฎ ธนูคือหนี้ภาคครัวเรือน ตั้งแต่กันยายน 2560 ราหูเข้ากรกฎ ปลายตุลาคม เสาร์เข้าธนูซ้ำ ภาระหนี้และดอกเบี้ย (ขาขึ้น) จะกดดันอย่างหนัก

 

ภายนอกสดใส ภายในเปราะบาง บ้านเมืองจะเข้มแข็งได้อย่างไร