สุนทรพจน์ดังของเด็กจีน

สุนทรพจน์ดังของเด็กจีน

ตอนนี้กำลังเข้าช่วงเทศกาลรับปริญญาในประเทศจีน ในโลกโซเชียลของชาวจีน จึงเต็มไปด้วยการแชร์สุนทรพจน์ของคนดัง

 ที่ได้รับเชิญให้ไปมอบปัจฉิมโอวาทในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ

ธรรมเนียมการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญาเช่นนี้ มหาวิทยาลัยในจีนลอกแบบมาจากฝรั่ง โดยมักจะให้มีตัวแทนบัณฑิตกล่าวสุนทรพจน์ในนามบัณฑิต และมีการเชิญบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เช่น นักธุรกิจหรือนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียง ขึ้นเล่าประสบการณ์ชีวิตและให้ข้อคิดแก่บัณฑิต

วันนี้ผมจะเล่าถึงสุนทรพจน์หนึ่งที่ผมเห็นแชร์กันมากในโลกโซเชียลของจีน เป็นคำกล่าวของโจวจิ้งเสียน บัณฑิตหญิง ซึ่งจบการศึกษาปริญญาเอก จากสถาบันเศรษฐศาสตร์พัฒนาของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในฐานะตัวแทนบัณฑิตมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

ปกติสุนทรพจน์ที่เห็นคนจีนแชร์กันมากๆ มักจะเป็นของคนมีชื่อเสียง ไม่ใช่ของบัณฑิตป้ายแดง แถมนี่ยังเป็นบัณฑิตปริญญาเอกเสียด้วย แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็จะพบว่าสุนทรพจน์ของเธอให้ข้อคิด ทั้งยังสะท้อนความคิดของปัญญาชนคนรุ่นใหม่ของจีนได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย

ต่อไปนี้เป็นการแปลแบบสรุปย่อและเก็บใจความสำคัญ:

ฉันเป็นคนรุ่นเกิดหลังปี 1990 เพิ่งอายุครบ 27 ปี ในปีนี้ ตามแบบชนชั้นกลางทั่วไป ชีวิตที่ผ่านมามีกินมีใช้ใม่เดือดร้อน ไม่เคยมีประสบการณ์ต้องฝ่าฟันชีวิตดังเช่นคนรุ่นพ่อแม่ที่เติบโตมาตอนที่จีนยากจน ความเข้าใจในความอดอยากจำกัดอยู่เฉพาะตอนลดความอ้วนเท่านั้น

มีคนถามว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่จุดคบไฟนำทางมวลชน ฉันได้แต่ตอบล้อว่า ก็พวกเราเติบโตมาในยุคสมัยที่มีไฟฟ้าใช้แล้วนี่

ฉันเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่จนถึงปัจจุบัน มีประสบการณ์อย่างเดียวคือ เรียนหนังสือ วันนี้ฉันอยากทบทวนให้ฟังว่า การศึกษาที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงตัวฉันอย่างไรบ้าง

อย่างแรกที่สุด การศึกษาทำให้ฉันไม่ถูก “ผู้เชี่ยวชาญ” ชักจูงให้เชื่ออะไรง่ายๆ อีก สมัยก่อนฉันอ่านบทความ ขอแค่ผู้เขียนอ้างชื่อคนที่มีชื่อเสียง หรือผู้เขียนเป็นคนที่มีชื่อเสียง ฉันก็จะรู้สึกว่า ช่างดูมีเหตุมีผล มักหลงนิยมชมชอบความเห็นของเขาเอาง่ายๆ

จนวันนี้ ฉันเองก็ยังถูกชักจูงให้เชื่อเป็นครั้งคราว เพียงแต่ไม่ตกหลุมง่ายเหมือนสมัยก่อน สาเหตุที่ไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ ก็เพราะได้รับความรู้และการฝึกคิดวิเคราะห์จากอาจารย์

ที่สำคัญ ฉันเลิกงมงายกับชื่อเสียงของคนเขียน เพราะเราเองก็เป็นคนมีการศึกษา สมัยก่อนฉันเคยรู้สึกว่า ผู้เขียนอยู่บนยอดเขา ส่วนฉันมีความรู้เท่าตีนเขา ดังนั้น เขาพูดชี้นำอะไรฉันก็คล้อยตาม

แต่เมื่อฉันได้ศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในโลกที่เปิดกว้าง ได้อ่านหนังสือและบทความจากทั้งในและต่างประเทศ ได้ทราบประเด็นใหม่ที่กำลังมีการถกเถียงในระดับนานาชาติ ก็ทำให้เลิกงมงายหรือตื่นเต้นกับชื่อคนดัง มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะคิดวินิจฉัยเหตุผลด้วยตนเอง “อย่าไปสนใจว่าใครเป็นคนพูด จงสนใจว่าเนื้อหาที่เขาพูดคืออะไร” เป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

สิ่งถัดมาที่การศึกษาเปลี่ยนแปลงฉัน ก็คือ ทำให้ฉันมีกรอบคิดในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว

ตอนที่มีข่าวในช่วงตรุษจีนว่า มีนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ต้องการช่วยเหลือคนงานที่ยากจนซึ่งไม่มีเวลาไปต่อคิวซื้อตั๋วรถไฟกลับบ้านเกิดในช่วงหยุดยาว นักศึกษาหญิงคนนั้นจึงไปรอคิวข้ามคืนเพื่อช่วยสำรองตั๋วให้คนงานเหล่านั้น จนเป็นที่ชื่นชมทั่วไปในโลกโซเชียล

แต่จำได้ว่ามีอาจารย์คนหนึ่งในคณะโพสต์ความเห็นว่า “ถ้ามองจากมุมของสวัสดิการโดยรวมของสังคม การกระทำของนักศึกษาหญิงคนนั้นไม่ได้ช่วยให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมดีขึ้นเลย เพราะการช่วยสำรองตั๋วให้คนงานทุกๆ ใบ ก็เท่ากับว่าจะมีใครอีกคนที่จะต้องเสียตั๋วไป”

หลักการเบื้องหลังทางเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์คนนี้พูดถึงสามารถถกเถียงได้ ซึ่งการศึกษาที่ฉันได้รับ ทำให้ฉันเข้าใจแนวคิดของอาจารย์ และสามารถถกเถียงกับอาจารย์ได้ด้วยหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เอาแต่โมโหว่า คนที่พูดอย่างนี้ใจดำ เป็นคนเลว

วิธีคิดวิเคราะห์โดยใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ จึงทำให้ฉันไม่ตัดสินคนโดยใช้มาตรวัดทางศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ป้ายสีตัดสินแบ่งพวกว่านี่พวกคนดี นี่พวกคนเลว ทำให้ฉันมีมาตรวัดใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งมาตรวัด เพราะคนที่เจตนาดี อาจทำสิ่งที่กลับให้ผลเลวร้ายต่อสังคมและเศรษฐกิจก็ได้

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สามของฉัน ก็คือ สภาพจิตใจนิ่งขึ้น การศึกษาปริญญาโทและเอกเป็นงานหนัก บางทีมีความคิดใหม่ ชวนให้ตื่นเต้นชั่วครู่ แต่พอกลับไปอ่านงานเก่าๆ ของคนอื่น ก็พบว่ามีคนเคยพูดและคิดเช่นนั้นมาแล้ว บางครั้งบทความเรื่องหนึ่งๆ ใช้เวลาในการเขียนเป็นปี สุดท้ายกลับได้แต่เก็บไว้บนหิ้ง ไม่ได้ตีพิมพ์ พอได้ผ่านทั้งความสำเร็จและความผิดหวัง จิตใจก็นิ่งขึ้น เริ่มเรียนรู้สัจธรรมของชีวิตว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ”

หลายครั้งต้องปล่อยให้เวลาผ่านไปสักพัก เราจึงจะเริ่มเข้าใจว่า ประสบการณ์นั้นๆ ได้ให้อะไรกับเรา ฉันเคยพยายามทำวิจัยในสาขาที่ไม่เชี่ยวชาญ สุดท้ายแม้จะล้มเหลว แต่ก็ได้เรียนรู้เทคนิคทางสถิติเพิ่มเติม ได้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ ซึ่งต่อไปก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน

แม้กระทั่งเวลาที่คุณทำเรื่องที่สุดแสนโง่เขลา จนเรียกว่าไม่มีอะไรดีที่จะได้มาจากเรื่องนั้นเลย แต่ก็ควรต้องถือว่าอย่างน้อยตัวคุณก็ได้เรียนรู้ว่า “ที่ทำไปเป็นทางเลือกที่ผิดพลาด” ดังนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอยู่ดี อาจทำให้เดินช้าหน่อย เพราะหลงทางอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ทำให้ได้ทบทวนปรับทิศทางให้ถูกต้อง รู้ว่าทางใดเป็นทางที่ผิดพลาดไม่ควรเดินซ้ำ

สุดท้าย ฉันนึกถึงประโยคอมตะของจิวยี่ที่เคยรำพึงว่า “เหตุใดฟ้าให้กำเนิดข้าแล้ว ยังให้กำเนิดขงเบ้งด้วย” แต่สำหรับมหาวิทยาลัยปักกิ่งแล้ว ฉันรู้สึกได้เสมอว่า “เหตุใดฟ้าให้กำเนิดข้าแล้ว ยังให้กำเนิดขงเบ้งอีกนับร้อยนับพันด้วย” และฉันก็รู้เหตุผล เพราะตลอดระยะเวลาในรั้วมหาวิทยาลัย ฉันโชคดีที่ได้ใช้ชีวิตกับคนรอบตัวที่ต่างก็สุดยอด มีความฉลาดหลักแหลม ขยัน จริงใจ ลึกซึ้ง เข้าใจชีวิต แถมยังหน้าตาดีด้วย ฉันโชคดีเพราะขงเบ้งนับร้อยนับพันเหล่านี้ ได้กลายมาเป็นครูและเพื่อนของฉัน จนเกิดเป็นความทรงจำอันงดงาม และเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันและพวกเราทุกคนบุกเบิกเส้นทางสู่อนาคตที่สดใสต่อไป