พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าว เสียงสะท้อนสังคมถึงรัฐบาล

พ.ร.ก.การทำงานคนต่างด้าว  เสียงสะท้อนสังคมถึงรัฐบาล

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560

 ที่มีผลบังคับใช้ และมีกลุ่มผู้ประกอบการออกมาคัดค้านถึงความรุนแรง และความเร่งด่วนของกฎหมายที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากในวงกว้าง

สิ่งที่ผู้เขียนพบเจอมากับตัวก็คือความอึดอัดใจของผู้ประกอบการ แม้แต่เดินเข้าร้านส้มตำเจ้าประจำ ยังไม่ทันจะหย่อนก้นลงนั่งดีก็มีเรื่องให้ระทึกใจ

เมื่อชายร่างใหญ่เดินขึงขังออกมาจากหลังร้าน แล้วถามเสียงดังว่า'เป็นนักข่าวใช่ไหมมีเรื่องฝากไปบอกนายกฯ หน่อย''

จากนั้นเขาก็ระบายความอึดอัดใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ให้ฟัง ในฐานะเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 

เจ้าของกิจการไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้หลายประเด็น เริ่มจากบทลงโทษนายจ้างที่กำหนดค่าปรับไว้สูงถึง 400,000 บาท ซึ่งเกินกำลังที่เอสเอ็มอีจะรับไหว บทลงโทษที่รุนแรงยังเปิดช่องให้เกิดการทุจริตหรือเก็บค่าหัวคิวซึ่งจะสร้างภาระให้กับภาคธุรกิจในอนาคต กฎหมายฉบับนี้ยังไม่สอดคล้องกับนโยบายการเปิดเออีซี ที่ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แถมไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง รู้ตัวอีกทีก็ประกาศใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ร้านส้มตำแห่งนี้จึงต้องหยุดจ้างงานลูกจ้างต่างด้าวที่มีอยู่ 3-4 คนชั่วคราว เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผลกระทบยังลามไปถึงตลาดใหญ่ 2 แห่งที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก โดยเมื่อตำรวจลงตรวจพื้นที่เมื่อไหร่ แรงงานต่างด้าวทั้งที่มีและไม่มีใบอนุญาตต่างก็กระเจิงจนอยู่ในสภาพ ตลาดแตก เพราะทุกคนกลัวกฎหมายใหม่

ด้านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รวมถึงกิจการที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก เช่น อาหาร ประมง เกษตรกรรม ก่อสร้าง ก็พร้อมใจกันออกมาคัดค้านด้วยเหตุผลเดียวกัน ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ออกมายอมรับว่า รายละเอียดกฎหมายฉบับใหม่ยังไม่ลงตัวและปรับแก้เร็วเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน จึงจะกลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

เหตุการณ์ที่กฎหมายใหม่สร้างปัญหา จนรัฐบาลต้องตามแก้ไขไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการออกคำสั่งมาตรา 44 ห้ามนั่งท้ายระกระบะเพื่อเพิ่มความปลอดภัย แต่ก็ถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก จนสุดท้ายรัฐบาลต้องเหยียบเบรกดังเอี๊ยดและเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอย่างไม่มีกำหนด

หรือการประกาศใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2560 ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังออกมาคัดค้านว่า มีบทลงโทษสูงและขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อไม่ให้มีผล กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน

ภาพที่ฉายซ้ำวนเวียนในหลายกรณีเหล่านี้สะท้อนปัญหาของภาครัฐ ที่มุ่งการแก้ปัญหาภาพรวมและใช้วิธีคิดจากบนลงล่าง ขาดการรับฟังเสียงประชาชนผู้สัมผัสปัญหาโดยตรง ทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นจุดอ่อนและสร้างปัญหาใหม่ย้อนมาที่ตัวรัฐบาลเอง

......................

นพวรรณ เตชะเสนีย์