เทคโนโลยีตีแตก

เทคโนโลยีตีแตก

เทคโนโลยีตีแตก

หนึ่งในหัวข้อสนทนาและหัวข้อสัมมนา ที่ฮิตมากทุกวันนี้ คงเป็นเรื่องที่คนไทยเรียกกันทับศัพท์ว่า “Disruptive Technology” ซึ่งผมขอเสนอให้เรียกเป็นภาษาไทยว่า “เทคโนโลยีตีแตก

คำว่า Disrupt หมายถึงบางสิ่งที่ดำเนินอยู่ ต้องสะดุดลง เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น เช่น เราเคยใช้ไม้บรรทัดคำนวณ หรือ Slide rule ต้องหายไปเพราะทุกคนหันไปใช้เครื่องคิดเลข หรือ เทเล็กซ์ ที่ต้องหายไปเพราะมีเครื่องแฟกซ์มาใช้แทน หรือฟิล์มถ่ายภาพ ต้องหายไปเพราะกล้องดิจิทัล เป็นต้น

Disruptive Technology จึงหมายถึงเทคโนโลยี ที่ทำให้สิ่งที่กำลังดำเนินอย่างราบรื่นนั้น ต้องสะดุดลง การที่ผมเรียกว่า เทคโนโลยีตีแตก” ก็ด้วยเหตุผลนี้ คือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ ตี”​(ผลิตภัณฑ์ หรือ อุตสาหกรรมเก่าจน แตก” (.....“แบบไม่เหลืออะไร)

แต่นักวิชาการบางคน เขาก็อาจจะไม่เรียกตัวอย่างข้างต้นว่าเป็น “เทคโนโลยีตีแตก” นะครับ Clayton M. Christensen อาจารย์ฮาร์วาร์ด ผู้คิดคำนี้ขึ้นมาเมื่อปี 1955 บอกว่า เทคโนโลยี มีสองประเภท คือ Sustaining Technology กับ Disruptive Technology 

เขาบอกว่าบริษัทใหญ่ๆ มักจะลงทุนและมุ่งเน้นการค้นคว้าเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจปัจจุบันให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นเพียง Sustaining Technology เท่านั้น และทำให้มองข้ามเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งอาจจะยังไม่แพร่หลาย แต่แล้วเทคโนโลยีนั้น กลับกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ “ตีแตก” จนทำให้หลายบริษัทต้องล้มหายตายจากไป นี่คือ Disruptive Technology ในความหมายของเขา

ทำให้ผมนึกถึง เทคโนโลยีกล้องดิจิทัล ซึ่งมีรายงานว่าเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในห้องทดลองของ โกดัก แต่ผู้บริหารกลับกลัวว่าจะกระทบต่อธุรกิจฟิล์ม จึงไม่นำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเอง และเมื่อรู้สึกตัวอีกที ก็สายเกินไปเสียแล้ว 

เทคโนโลยีตีแตก ที่ได้รับการยอมรับว่า “ใช่” ก็ได้แก่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต หุ่นยนต์ ฯลฯ คือเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิต และวิถีการทำงานของคนในสังคมเลยทีเดียว และ ทุกวันนี้ เรากำลังอยู่ในกระแสอันรุนแรงของคลื่นลูกนี้ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้ผู้บริหารธุรกิจทุกประเภท ว่าพวกเขาจะถูก ตีแตก” หรือไม่ อย่างไร และเมื่อใด

แล้วธุรกิจอย่าง “Uber” ถือว่าเป็นเทคโนโลยีตีแตกหรือไม่ ก็ดูประหนึ่งว่าน่าจะใช่นะครับ เพราะได้รับความนิยมและกระทบแท็กซี่ทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงกับ “ตีจนแตก” ก็ตาม

แต่เจ้าของความคิดอย่าง Christensen (ซึ่งก็ได้ออกมาเขียนหนังสือยอดนิยมอีกครั้งหนึ่งในเรื่อง “The Innovator’s Dilemma” เมื่อปี 1997) กลับบอกว่า “Uber ไม่ใช่นวัตกรรมตีแตก” เพราะในความหมายของเขา “นวัตกรรมตีแตก จะต้องเริ่มต้นจากส่วนเล็กๆ ของตลาด ที่บริษัทใหญ่ไม่สนใจ เพราะมีกำไรต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอมีคุณภาพไม่ค่อยดีนัก แต่แล้วหลังจากนั้น กลับพัฒนาคุณภาพได้ดีขึ้น จนได้รับการยอมรับมาก และถึงระดับ ตีแตก ในที่สุด” 

Christensen บอกว่า Uber ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเป็นเพียงการจับลูกค้าเดิมๆ มาจากแท็กซี่ เท่านั้นเอง และไม่ใช่ลูกค้าระดับล่าง ที่ธุรกิจเดิมไม่น่าสนใจ อีกด้วย แต่ที่เขาบอกว่าเป็น Disruptive จริงในความหมายของเขา ก็คือ Netflix ซึ่งเริ่มจากตลาดล่างๆ คุณภาพค่อนข้างต่ำ และพัฒนาคุณภาพมาจนถึงระดับ ตีแตก ในทุกวันนี้

ฟังแล้วก็เหมือนนักวิชาการเต็มตัว ต้องเป็นไปตามคำจำกัดความของเขาเท่านั้นแหละ เอาเป็นว่าจะเชื่อหรือไม่ ก็ใช้ดุลพินิจกันเอาเองก็แล้วกัน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ทุกวันนี้นักบริหารต่างก็หวาดผวา เทคโนโลยีตีแตก กันทั้งนั้น

ชีวิตนายธนาคารวันนี้ คงหาความสุขได้ยากพอสมควร เมื่อไม่รู้ว่า ฟินเทค ที่กำลังปะทุขึ้นทั่วโลก จะมีแบบไหนบ้าง ที่อยู่ดีๆ ก็ตี (แบงค์จน...) แตก ไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อใด หรือไม่ และอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ธนาคาร รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งกลัวการถูกตีแตก จึงกำลังมุ่งนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนใน กองทุนสตาร์ทอัพ หลากหลาย เพื่ออย่างน้อยก็ให้อยู่ในกระแส และป้องกันตนเองจากการถูก “ตีแตก” โดยไม่รู้ตัว

มีคนที่พิสูจน์ให้เห็นว่าถ้ามีความคิดดีๆ แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น เช่นคนอย่าง แจ็ค หม่า ซึ่งทำให้สำเร็จได้ ในประเทศที่มีผู้คนเป็นพันล้านคน ดังนั้น คนที่กำลังคิดเทคโนโลยีที่จะตีแตก จึงมีอยู่หลากหลาย และช่วงเวลานี้ เรากำลังอยู่ในบรรยากาศที่คุกรุ่น ไปทั่วทิศทาง พร้อมที่จะมีอะไรให้ชาวโลกได้เห็น และประหลาดใจ เพราะขณะนี้ ใครก็อาจถูกเทคโนโลยี ตีแตก” ได้ทุกเมื่อ

ผมเป็นประธานบริหารหลักสูตร “Digital Economy for Management” ซึ่งจัดขึ้นทุก 3 เดือน ก็ยังต้องหาโอกาสไปนั่งฟังทุกรุ่น เพื่อไปรับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นอีก ในระหว่างเวลา 3 เดือนที่ผ่านไป เพราะเทคโนโลยี มันเปลี่ยนเร็วเหลือเกิน

ก็อยากจะฝากไปถึง เบบี้บูมเมอร์ ทั้งหลายด้วยว่า ยังไม่สายเกินไปที่จะต้องติดตามเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด อย่ามัวแต่สนุกสนานบันเทิง หรือเล่นแต่โซเชียลมีเดียกันเพียงอย่างเดียว ยิ่งถ้าท่านต้องมีหน่วยงานหรือธุรกิจที่ต้องดูแล ก็ยิ่งต้องจับตามองความเคลื่อนไหวเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่งั้นจะสายเกินไป

ว่าแล้วก็ทำให้นึกถึงผู้บริหารประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นเบบี้บูมเมอร์กันทั้งนั้น ดีแล้วครับที่พยายามขับเคลื่อน 4.0 ให้เกิดขึ้น ขอเอาใจช่วย แต่ก็ขอฝากให้ช่วยคิดอีกช็อตหนึ่งด้วยว่า เลือกตั้งทั่วไปเมื่อไร หลังจากนั้นแล้ว สิ่งต่างๆ ในบ้านเมืองมันจะถูก ตีแตก” อีกหรือไม่ โดยใคร และอย่างไร

ผมไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยี เลยนะครับ