บรมธรรม จริยธรรม และศีลธรรม

บรมธรรม จริยธรรม และศีลธรรม

ผมโชคดีที่ได้ร่วมฟังโครงการวิจัย ของสองนักคิดทางศาสนา ได้แก่ ท่านพระมหาบุญช่วย สิรินธโร และคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร

 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ) ผมได้ข้อคิดมากมายและขอนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

โครงการและกระบวนการการทำวิจัยของท่านทั้งสองนั้น ได้มุ่งเน้นตอบคำถามว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนฐานศาสนธรรมควรเป็นอย่างไร และจะมีหลักศาสนธรรมใดที่ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาคุณภาพชีวิต คนในชุมชนและชุมชนมีรูปแบบการนำเอาหลักธรรม ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างเหมาะสมได้อย่างไร?

กระบวนการทำวิจัยใน 2 โครงการนี้ ได้ค้นพบ “ วิธีการ” ที่สำคัญมากในการที่จะนำไปสู่การปรับให้เป็น “ตัวอย่าง” ของการทำงานวิจัยในลักษณะเดียวกันนี้ “ วิธีการ” ที่สำคัญที่ค้นพบในการทำวิจัยนี้ ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจความคิดที่ซ้อนกันอยู่ 3 มิติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่เป็นแกนหลักกรอบการทำงานวิจัย

ความคิดที่ซ้อนกันอยู่สามมิติที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนก่อน ได้แก่ ความคิดเรื่อง “บรมธรรม” ความคิดเรื่อง “จริยธรรม” และและความคิดเรื่อง “ศีลธรรม”

ความคิดเรื่อง “บรมธรรม” นั้นเป็นกรอบความคิดใหญ่ของโครงการ อันเป็นการยึดโยงกับหลักศาสนาหลักที่คนส่วนใหญ่ของชุมชนนั้นนับถือเป็นสรณะ ในบางชุมชนอาจจะเป็นความพยายามประกอบเข้าด้วยกันของศาสนาหลักสอง/สามศาสนา แต่ทุกชุมชนมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเลือกสรร “ บรมธรรม” มาใช้ในการแก้ไขปัญหาของชุมชนที่กำลังเผชิญอยู่

ความคิดเรื่อง “จริยธรรม” (Ethic ) มีความหมายถึงระบบความหมายที่ดีงาม/เหมาะสมในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง เป็นระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่คนใน “สังคม” หรือ “ชุมชน” ได้หมายรู้ร่วมกันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีงามและเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ “จริยธรรม” ที่สังคมหรือชุมชนยึดถือจึงจะเป็นพลังในการกำกับพฤติกรรมส่วนบุคคลของคน “จริยธรรม” จะเป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด เพราะระบบความสัมพันธ์ทางสังคมแปรปลี่ยนตลอดเวลา

ความเรื่อง “ศีลธรรม” (Moral ) จะเป็นความคิดและความเชื่อของปัจเจกชนแต่ละคนที่เชื่อว่าตนจะต้องกระทำความดีและหลบเลี่ยงการกระทำในสิ่งที่ตนถือว่าผิด “ศีลธรรม” จะกำกับและควบคุมความรู้สึกของแต่ละคนให้รู้สึกถึงปิติสุขที่ได้ทำความดีและรู้สึกผิดเมือทำความเลว

เดิมนั้น ความคิดทั้ง 3 มิตินี้ไม่ได้แยกออกจากกันโดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่กับอย่างใกล้ชิดแบบเครือญาติหรือเครือญาติเสมือน ความคิดในเรื่อง “บรมธรรม” จะถูกถ่ายทอดและแฝงฝัง (Embed)ไว้ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งแสดงออกใน “จริยธรรม” ของชุมชน ซึ่งเป็นกรอบความคิดโดยรวมของทุกคนในสังคมหรือชุมชนนั้นๆ ขณะเดียวกัน การประพฤติปฏิบัติตนในฐานะปัจเจกชนของแต่ละคนหรือ “ศีลธรรม “ ก็จะต้องเป็นสิ่งที่สอดคล้องไปกับ “จริยธรรม” ของชุมชนและสัมพันธ์ขึ้นไปสู่ “บรมธรรม” ของแต่ละศาสนา

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการ “แยกขาด” ออกจากกันของความคิดทั้ง มิตินี้ โดยทั่วไปแล้ว “บรมธรรม” เหลืออยู่เพียงคำสอนสั่งสูงสุด ที่ผู้คนจะเข้าไปเชื่อมต่อบ้างในบางเวลาบางเหตการณ์เท่านั้น เช่น การทำบุญในวันสำคัญๆ หาก “บรมธรรม” มีความหมายต่อคนอยู่บ้าง ก็จะถูกทำให้กลายไปสู่ “ ศีลธรรม” ส่วนตัวหรือเฉพาะตัวไป กล่าวคือ ผู้ที่ศรัทธาใน “บรมธรรม” ก็ยังสามารถยึดมั้นไว้เป็นหลักของชีวิตแต่เป็นชีวิตส่วนตัว ไม่ได้เชื่อมจ่ออะไรกับ “จริยธรรม” ของชุมชน/สังคม

ส่วนเสื่อมสลายมากที่สุดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและทุกชุมชนในโครงการวิจัยนี้ได้แก่ “จริยธรรม” ของชุมชน เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนสามารถที่จะใช้ความสามารถส่วนตัวในการทำงาน/ประกอบอาชีพเฉพาะของตนเอง ได้ก่อมให้เกิดความสำนึกเชิงปัจเจกชนสูงมากกว่าเดิม ความสำนึกที่จะต้องระมัดระวังพฤติกรรมและการปฏิบัติตนไม่ให้ข้ามหรือละเมิดต่อ “จริยธรรม” ของสังคมหรือชุมชนจึงลดหายไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะชีวิตและอนาคตของคนทำงานเฉพาะด้านนั้นอยู่ที่ที่ทำงานภายนอกชุมชน ไม่ใช่ในชุมชนแบบเดิมอีกแล้ว

พร้อมกันนั้นเอง ระดับสังคมใหญ่ที่แวดล้อมทุกคนอยู่ก็เริ่มไร้ซึ่ง “จริยธรรม” เพราะด้านหนึ่ง การพึ่งพิงกฎหมายของรัฐได้กลายเป็นหลักการไปแทน “จริยธรรม” อีกด้านหนึ่ง สังคมที่เริ่มไร้จริยธรรมได้สร้างระบบการอธิบายการกระทำผิดต่อ “จริยธรรม” ให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป เช่น คำกล่าวที่ว่า “เรื่องแบบนี้ ใครๆเขาก็ทำกัน"

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ จึงทำให้ทุกชุมชนในโครงการวิจัยนี้ประสบกับปัญหาของการเสื่อมสลายของ “จริยธรรม” มากขึ้น และที่น่ากังวล ได้แก่ การเสื่อมสลายของ “จริยธรรม” ได้ทำให้คนแต่ละคนเห็นความสำคัญและความหมายของ “ศีลธรรม” ที่จะประคับประคองตนเองน้อยลงไปเรื่อยๆ ( ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ชุมชนในโครงการวิจัยนี้เท่านั้น หากสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในทุกปริมณฑลของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในวัด สถาบันทางศาสนา โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันทางการศึกษา หรือ สถาบันครอบครัวในสังคม)

กระบวนการการทำวิจัยนี้ได้พยายามทำให้ผู้วิจัยและผู้นำแต่ละศาสนาได้คิดและ “เลือกสรร” ความคิดบางด้านบางประเด็นของ “บรมธรรม” ให้เข้ามาเชื่อมต่อกับชีวิตของคนแต่ละคน ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการเน้นให้รื้อฟื้น “ศีลธรรม” ส่วนบุคคลขึ้นมา ขณะเดียวกัน ในกระบวนการวิจัยได้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่าง “ศิลธรรม” ส่วนตัวเข้ากับการทำให้หวนระลึก/สร้าง “จริยธรรม” ใหม่ของชุมชนเพื่อควบคุม/กำกับพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นมา

โครงการวิจัยทั้งหมดได้ลงแรงกายแรงใจในการทำให้คนที่ร่วมวิจัยและคนในชุมชนมองเห็นปัญหาของตนที่เชื่อมต่อกับการสร้าง “จริยธรรม” ของชุมชน และเชื่อมโยงไปถึง “บรมธรรม” กระบวนการนี้ทำให้คนที่ร่วมวิจัยและคนในชุมชนรู้สึกถึงความมีความหมายของตนเองมากขึ้นกว่าการแก้ปัญหาด้วยตัวเองตามลำพัง

แน่นอนว่า โครงการวิจัยนี้ไม่ได้ประสบผลสำเร็จ 100% จนทำให้ชุมชนเป็นสรวงสวรรค์ หากแต่การทำงานวิจัยของโครงการนี้ ได้ทำให้มองเห็นถึงแนวทางในการทำความเข้าใจการขับเคลื่อนสังคม/ชุมชนด้วยหลักธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์และมีคุณค่าอย่างไพศาล โดยเฉพาะกับการสอนศาสนาในสังคมและสถานศึกษาที่ยกระดับที่ทำให้เหลือเพียงแต่การสอน “ศีลธรรม” ลอยๆโดยไม่ได้เชื่อมต่อกับ “จริยธรรม” ซึ่งทำให้ไม่มีพลังอะไรเหลืออยู่