ลุกคนสุดท้ายจ่ายรอบวง

ลุกคนสุดท้ายจ่ายรอบวง

ลุกคนสุดท้ายจ่ายรอบวง

พอดีวันก่อนได้ยินนักลงทุนพูดกันขำๆ ถึงเรื่อง “ลุกคนสุดท้ายจ่ายรอบวง” กับการลงทุนในหุ้นปั่น ทำให้นึกไปถึงเรื่อง ฟองสบู่สินทรัพย์ (Asset bubble) ว่าหลายเหตุการณ์ในอดีต มันมีจุดร่วมที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังเผื่อจะเพิ่มโอกาสลุกเร็วได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะเราจะไม่มีวันรู้ว่าเราอยู่ในฟองสบู่จนกระทั่งก่อนวันที่มันจะแตก  

เริ่มจากอันที่ classic หน่อยก็ ฟองสบู่ราคาดอกทิวลิป (The Dutch Tulip Bubble) ซึ่งเกิดขึ้นในราวๆ ปี 1630s ถือเป็น classic case ของการเพิ่มขึ้นอย่าง “ไม่สมเหตุสมผล” ของราคาสินทรัพย์ โดยราคาดอกทิวลิปพุ่งขึ้นถึง 20เท่า ภายในเวลาเพียง 3 เดือน ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกทำให้ราคาดอกทิวลิปราคาร่วงลงมา 99% ในอีก 1-2 เดือนต่อมา

ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย ก็ฟองสบู่ราคาที่ดินในญี่ปุ่นราวปี 1980s ซึ่งต้นเหตุเกิดจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว ธนาคารกลางเลยกดดอกเบี้ยต่ำพร้อมกับการที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง ผลข้างเคียงคือฟองสบู่ราคาที่ดิน ที่พุ่งสูงขึ้นอย่าง “ไม่สมเหตุสมผล” จนมีคนประเมินว่าในช่วง peak ราคาที่ดินของ Imperial Palace ในโตเกียวผืนเดียว มีค่ามากกว่าราคาที่ดินทั้งรัฐ California เลยทีเดียว

ใกล้เข้ามาอีกก็ ฟองสบู่อสังหาฯ สหรัฐฯ ในช่วงปี 2000s อันนี้ก็คล้ายๆ กรณีของญี่ปุ่น โดยเกิดจากฟองสบู่ Dot Com ที่แตกในช่วงต้นทศวรรษ หลังจากดัชนี NASDAQ พุ่งขึ้น 10 เท่าจาก 500 จุดไป 5000 จุด ก่อนที่จะฟองสบู่แตก (ร่วง  80%) ในราวปี 2002 ส่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย นำไปสู่การใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ(คุ้นๆ มั้ยครับ) คนวิ่งหาผลตอบแทน จนมีคนหัวใสสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน Mortgage Backed Securities (MBS) มาระดมทุนไปปล่อยกู้แก่ผู้ที่มี credit ไม่ค่อยจะดีนัก (sub-prime) และเมื่อแม้แต่ผู้ที่มี credit ไม่ดีก็ยังกู้เงินซื้อที่ดินได้ ผลคือราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่าง “ไม่สมเหตุสมผล” จนในที่สุดฟองสบู่อสังหาฯ ก็แตก นำไปสู่วิกฤติ Great Recession ที่แรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

ทั้ง 3 เรื่องที่เล่ามา มีจุดเชื่อมโยงของฟองสบู่ ที่น่าสนใจก็คือความ “(ไม่)สมเหตุสมผล” ของราคาสินทรัพย์ เพราะตามปกติ ราคาสินทรัพย์ต้องสามารถเชื่อมโยงไปยังมูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงได้ (intrinsic value)  ในทางกลับกันหากราคาสินทรัพย์ใดที่เข้าสู่ภาวะฟองสบู่ อาการเด่นชัดที่สุดก็คือ ราคาของมันจะไม่เชื่อมโยงไปกับ intrinsic value เลย โดยราคามันจะขึ้นไปเรื่อยๆ  อย่างบ้าคลั่ง ขึ้นไปๆ จนแม้แต่คนที่ไม่มีความรู้ หรือไม่เคยสนใจ เริ่มหันมาสนและแห่ตามๆ กันเข้ามาด้วยความเชื่อว่า “ตลาดไม่เคยผิด” ใครไม่ซื้อตามตลาดจะเป็นฝ่ายผิดและเสียโอกาสการลงทุน

ซึ่งผมยืนยันว่าเรื่อง “ตลาดไม่เคยผิด” นั้นไม่จริง เพราะราคาตลาด ณ เวลา หนึ่งๆ มันก็เป็นเพียงแค่ ผลสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนในเวลานั้นๆ (real-time poll) แต่ poll มันก็แค่ “ความเห็น” ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ สุดท้ายไม่มีอะไรหนีเรื่องของมูลค่าแท้จริงไปได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าใจ “ที่มา” ของมูลค่าแท้จริงของสินทรัพย์แต่ละประเภท เพื่อจะได้วิเคราะห์ให้ถูกว่า “ที่มา” ดังกล่าวนั้นมี “แนวโน้ม” เป็นอย่างไร ซึ่ง “ที่มา” ดังกล่าวมักเชื่อมโยงกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคต

หลักการนี้ใช้ได้กับทรัพย์สินทุกประเภท เช่น สินทรัพย์หุ้นที่เราต้องเข้าใจแนวโน้มผลประกอบการ ส่วนอสังหาฯ เราอาจต้องดูแนวโน้มค่าเช่าหอพักใกล้เคียงประกอบกับแนวรถไฟฟ้าหรือถนนในอนาคต ฯลฯ เพื่อจะเข้าใจแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนในที่ดินย่านดังกล่าว หรือแม้แต่ Cryptocurrency (เช่น Bitcoin Ethereum ฯลฯ) ราคาที่พุ่งขึ้นล่าสุดอาจเป็นเพียงภาพลวงตา “mirage” อย่างที่ Warren Buffett ปรามาสว่ามันไม่มี intrinsic value  แม้มันจะเป็นตัวกลางในการทำ transaction แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่เมื่อก่อนเช็คธนาคารก็เคยมีประสิทธิภาพสูงเป็นที่นิยมแต่ตัวใบเช็คเองก็ไม่ได้มี Intrinsic value แต่อย่างใด หรือมันอาจจะมี intrinsic value ซ่อนอยู่จริง อย่างที่กูรูหลายคนมองว่ามูลค่าแท้จริงของ Cryptocurrency นั้นขึ้นอยู่กับขนาดเศรษฐกิจในส่วนที่มีความต้องการ transaction ผ่าน Cryptocurrency ดังกล่าว

ใครจะถูกหรือผิดกาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นก็หวังว่าเราจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ลุกจากโต๊ะนะครับ