ลดแทรกแซง 'ค่าเงิน' เพิ่มศักยภาพผู้ส่งออก-นำเข้า

ลดแทรกแซง 'ค่าเงิน' เพิ่มศักยภาพผู้ส่งออก-นำเข้า

ผลขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในปี 2559 ที่มียอดเบ็ดเสร็จรวมกว่า 1.39 แสนล้านบาท

 และทำให้ส่วนทุนของ ธปท. ติดลบเพิ่มเป็น 7.45 แสนล้านบาท อาจทำให้หลายคนตื่นตกใจ เพราะถ้าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป งบการเงินที่โชว์ผลขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบขนาดนี้ ต้องถือว่าเจ๊ง และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแบบไม่ต้องสงสัย

แต่สำหรับ “ธนาคารกลาง” แล้วผลขาดทุนหรือแม้แต่ผลกำไร ไม่ได้มีความหมายมากเท่ากับ “ความน่าเชื่อถือ” และ “หลักการ” ในการทำนโยบายการเงิน เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ ภารกิจหลักของธนาคารกลาง ที่ต้องรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจให้มั่นคง ไม่ใช่การมุ่งหากำไรเหมือนบริษัทเอกชนทั่วไป

ถ้าดูไส้ในการขาดทุนของ ธปท. แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์ในรูปเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่แปลงมาเป็นเงินบาท จึงถือเป็นการขาดทุนทางบัญชี โดยผลขาดทุนส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนการขาดทุนที่เป็นการขาดทุนจริง เพราะ ธปท. ต้องจ่ายเงินออกไปจริงๆ ก็มีบ้าง เช่น การขาดทุนจากส่วนต่างระหว่าง “ดอกเบี้ยรับ” ที่ ธปท. ได้จากการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน กับ “ดอกเบี้ยจ่าย” ที่เกิดจากการออกพันธบัตรธปท.เพื่อดูดซับสภาพคล่อง

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาดอกเบี้ยจ่ายของธปท.สูงกว่าดอกเบี้ยรับ ทำให้ ธปท. มีภาระผลขาดทุนจากตรงนี้ต่อเนื่อง แต่ระดับการขาดทุนก็ทยอยลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยลดจากระดับ 1 แสนล้านบาท เมื่อปี 2555 มาอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น มาจากการทำหน้าที่ของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ด้วยการเข้าแทรกแซงในตลาดการเงินช่วงที่เงินบาทมีความผันผวนแรงๆ โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง บางช่วงแข็งค่าขึ้นเร็ว ทำให้ ธปท. ต้องเข้าไปดูแลเพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถปรับตัวรับกับความผันผวนเหล่านี้ได้ทัน

แต่การดูแลความผันผวนเหล่านี้ของ ธปท. มีผลข้างเคียง คือ ผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า “ขาดทักษะ” ในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สะท้อนผ่านตัวเลขการทำประกันความเสี่ยงจากผู้ประกอบการเหล่านี้มีน้อยมากไม่ถึง 50% เทียบกับผู้ประกอบการประเทศอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีสัดส่วนในการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงกว่านี้อย่างมาก

สาเหตุส่วนหนึ่ง เป็นเพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ค่าความผันผวนของเงินบาท แม้บางช่วงเรามองว่าผันผวนแรง แต่ถ้าดูค่าเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลาแล้ว มีไม่ถึง 5% เทียบกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีระดับความผันผวนที่สูงกว่ามาก บางประเทศสูงเกินกว่า 10% ดังนั้นค่าความผันผวนของเงินบาทไทยโดยเปรียบเทียบจึงถือเป็นระดับที่ต่ำ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่ง มาจากการเข้าดูแลค่าเงินของ ธปท.

เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ ธปท. ต้องยอมปล่อยระดับความผันผวนของค่าเงินบาทให้สูงขึ้นบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้วิธีป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดย ธปท. ทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ สามารถเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังช่วยแบ่งเบาภาระการขาดทุนของ ธปท. ลงได้ด้วย