มีเงิน ก็มีชื่อ?

มีเงิน ก็มีชื่อ?

มีเงิน ก็มีชื่อ?

นักบริหารทั่วโลกต่างได้ยินกิตติศัพท์ ของสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจระดับโลก ที่นิยมเรียกกันว่า Kellogg หรือ Wharton หรือ Stern รวมทั้งที่เรียกชื่อเต็มว่า Harvard หรือ Stanford เป็นต้น

วันนี้จะเล่าให้ฟังครับ ว่าทำไมสถาบันเหล่านี้ จึงมีชื่อว่า Kellogg หรือ Wharton ฯลฯ

เมื่อได้ยินชื่อว่า Kellogg คนส่วนใหญ่คงนึกถึงอาหารเช้า แล้วสถาบันการศึกษา ที่เรียกกันว่า Kellogg กับ Kellogg ที่เป็นอาหารเช้านั้น “ไม่เกี่ยวกันเลยใช่ไหม” คุณอาจประหลาดใจ ถ้าผมจะตอบว่า เกี่ยวกันโดยตรงเลยแหละครับ

ผมเรียนจบจากสถาบันแห่งนี้ใหม่ๆ เมื่อปี 1973 จากนั้นไม่นาน มหาวิทยาลัยก็แจ้งข่าวมายังผมว่า เขากำลังจะเปลี่ยนชื่อคณะนี้ จาก Graduate School of Management เป็น Kellogg School of Management แล้วนะ

เพราะบริษัทผู้ผลิตอาหารเช้าแห่งนี้ ได้บริจาคเงินก้อนใหญ่ $10 ล้าน (มูลค่าปัจจุบัน $31 ล้าน) เพื่อให้คณะฯ นำไปพัฒนาการศึกษา ดังนั้นผู้บริหารก็เลย มีมติเปลี่ยนชื่อสถาบันให้เป็นชื่อของผู้บริจาค

เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ทุกวันนี้คนทั่วโลกที่พูดถึงสถาบันดังแห่งนี้ ก็เรียกกันสั้นๆว่า Kellogg เอกสารสิ่งพิมพ์ของคณะ ก็มีคำว่า Kellogg ทั้งสิ้น น่าจะคุ้มแสนคุ้มนะครับ สำหรับบริษัท Kellogg

สองสัปดาห์ก่อน ผมพาผู้บริหารในหลักสูตร Leadership Succession Program (LSP) รุ่นที่ 8 ไปฟังเลคเชอร์เรื่องผู้นำในศตวรรษที่ 21 ที่ University of Oxford ซึ่งมีอายุเก่าแก่ยาวนานกว่า 800 ปี

คณะบริหารธุรกิจที่พวกเราไปเยือนนั้น มีชื่อว่า “Said Business School” (อ่านว่า ซาอิ๊ด นะครับ) สถาบันแห่งนี้ เริ่มต้นก็ไม่ได้ชื่อว่า ซาอิ๊ด หรอกครับ แต่เมื่อปี 1996 ศิษย์เก่าชาวตะวันออกกลางคนหนึ่งนามว่า Said ได้บริจาคเงินก้อนใหญ่ให้ เลยเปลี่ยนชื่อเป็น Said Business School มาจนทุกวันนี้

ผมค้นข้อมูล พบว่านาย ซาอิ๊ด ได้บริจาคไปจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 70 ล้านปอนด์ หรือ 3000 ล้านบาท แพงกว่า Kellogg มากมาย

แล้วคุณรู้ไหมว่า Wharton หรือ Sloan หรือ Stern หรือ Booth ฯลฯ นั้น แต่ละชื่อมีสนนราคาเท่าไร

บลูมเบิร์ก ได้คำนวณมูลค่าปัจจุบันของเงินบริจาคสถาบันดัง รวม 30 แห่ง พบว่าชื่อที่แพงที่สุด ก็คือชื่อ Booth School of Business ของ University of Chicago เพราะได้รับบริจาคเมื่อปี 2008 เป็นเงิน $300 ล้าน (มูลค่าปัจจุบัน $313 ล้าน) ส่วน Stern ของ New York University นั้น ได้รับบริจาคเมื่อปี 1988 จำนวน $30 ล้าน (มูลค่าปัจจุบัน $57 ล้าน)

บลูมเบิร์ก รายงานว่า มูลค่าเงินบริจาคของสถาบัน 30 แห่งที่มีชื่อเสียงที่สุด ที่มีการเปลี่ยนชื่อเพราะเงินบริจาคนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ $52 ล้าน แต่ที่ผมดูสถิติ เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เงินบริจาคให้สถาบันดังๆ อยู่ที่ $50 - $100 ล้าน++ ทั้งนั้น ส่วนชื่อที่ได้มาในราคาถูกที่สุด ก็คือ Wharton ซึ่งได้รับบริจาคเมื่อปี 1881 เป็นเงิน $100,000 (มูลค่าปัจจุบันเพียง $2.2 ล้าน เท่านั้นเอง)

แล้วทำไม Harvard หรือ Stanford จึงยังเรียกตัวเองว่า Harvard Business School และ Stanford Business School ไม่มีศิษย์เก่าบริจาคให้บ้างหรืออย่างไร ผมคิดว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะเขามีศิษย์เก่าร่ำรวย ที่บริจาคเงินให้มากมาย แต่เขาไม่เปลี่ยนชื่อ เพราะชื่ออย่างนี้ คงขลังมากอยู่แล้ว ใครๆก็อยากไป HBS หรือ Stanford B-School กันทั้งนั้น มิใช่หรือ

ล่าสุดมกราคม 2017 นี้เอง Cornell ก็ได้รับบริจาค $150 ล้าน แล้วปลี่ยนชื่อเป็น SC Johnson College of Management ทันที แต่ Stanford ซึ่งได้รับบริจาค $150 ล้าน เท่ากัน ตั้งแต่เมื่อ 6 ปีก่อน ก็ยังใช้ชื่อเดิม

ผมเคยได้ยินมาว่าในบางกรณี ถ้าผู้ให้ไม่มี “คุณค่า” เพียงพอ สถาบันบางแห่งก็อาจไม่รับบริจาคหรือไม่เปลี่ยนชื่อให้เหมือนกัน เพราะเกรงว่าจะเสียภาพลักษณ์ของสถาบัน ตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่นโยบายของแต่ละสถาบันแหละครับ

คนไทยที่มีเงินมากมายแล้วบริจาคให้การศึกษา นับเป็นเรื่องที่ดี จะได้ช่วยสร้างคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่านี้ ไม่งั้นเราจะเตี้ยลงๆ จนสู้ใครเขาไม่ได้ในเอเชีย

สถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่ได้รับการบริจาคแล้วตั้งชื่อให้ อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่มากนัก แต่ถ้าหากใครไปบริจาค แล้วเขาไม่ยอมรับ ก็อาจต้องหันมาถามตนเองเหมือนกันว่าเพราะอะไร

ผมไม่รู้ว่าประเทศไทยจะมีวันอย่างนั้นหรือไม่ ที่จะมีผู้ปฏิเสธเงินบริจาค ด้วยเหตุไม่ศรัทธาผู้บริจาค..... เพราะบ้านเมืองนี้ ดูเหมือนว่าเงิน มักจะซื้ออะไรๆ ก็ได้แทบทั้งนั้น

ใครคิดว่าผมเข้าใจผิด ช่วยบอกหน่อยนะครับว่า.......ไม่จริ๊ง ไม่จริง