ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง กับอนาคตยูโรโซน

ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง กับอนาคตยูโรโซน

ประธานาธิบดีเอ็มมานูแอล มาครง กับอนาคตยูโรโซน

สวัสดีครับสมาชิกและผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจ

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกท่านได้มีการติดตามข่าวสารของการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส และลุ้นว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Brexit…Trump...Le Pen หรือไม่

ผู้เขียนเองยอมรับว่า โดยส่วนตัวแล้วเชียร์นายเอ็มมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) จากแนวคิดการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเมืองแบบ Neo-liberalism เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเขา เพราะหากนางมารีน เลอเปน (Marine Le Pen) ชนะ ผู้เขียนเชื่อว่าจะส่งผลกระทบในด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ฝรั่งเศสมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป เป็นมหาอำนาจทางการทหาร พร้อมแสนยานุภาพนิวเคลียร์ และเป็นหนึ่งในห้าประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมถึงเป็นหนึ่งในเสาหลักและประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้งสหภาพยุโรป

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งนี้เป็นที่จับตาของประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด จากการที่ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีแนวนโยบายที่ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว นางเลอเปน อดีตหัวหน้าพรรคNational Front ซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยมขวาจัดที่มาพร้อมนโยบายต่อต้านผู้อพยพ กีดกันทางการค้า และต่อต้านสหภาพยุโรป ขณะที่นายมาครงมีแนวคิดทางการเมืองสายกลาง สนับสนุนกลไกตลาดเสรี และต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้สหภาพยุโรป นอกจากนี้ นายมาครงเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฝรั่งเศส โดยเฉพาะการปฏิรูประบบราชการ กฎหมายแรงงาน และระบบประกันสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคธุรกิจ 

ซึ่งแม้ว่าโพลล์ก่อนการเลือกตั้งจะเห็นว่านายมาครงมีคะแนนนำหน้านางเลอเปน แต่จากประสบการณ์การลงคะแนนเสียงของ Brexit และ ทรัมป์ ทำให้นักวิเคราะห์ ค่อนข้างกังวล ในความเป็นไปได้ที่นางเลอเปนจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ Brexit...Trump...Le Pen และก่อให้เกิดความผันผวนต่อตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้น ในขณะที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม รวมถึงการดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ซึ่งจะบั่นทอนทิศทางและนโยบายการค้าเสรีของสหภาพยุโรป ทั้งระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเอง และกับประเทศที่สามหรือกลุ่มการค้าเสรีในภูมิภาคต่างๆ

ชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายมาครง สะท้อนถึง New Political Normal ในฝรั่งเศส จากระบบการเมืองที่อาจกล่าวได้ว่าถูกผูกขาดโดยพรรคการเมืองสังคมนิยม (Socialist) นอกจากจะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่มีอายุน้อยที่สุดแล้ว นายมาครงมีประสบการณ์ทางการเมืองที่สั้นมาก พรรค La République En Marche (La REM) ที่นายมาครงเพิ่งก่อตั้งในเดือนเม.ย. 2559 ยังไม่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว นายมาครงหาเสียงด้วยกลยุทธ์แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจฝรั่งเศส สนับสนุนกลไกตลาดเสรี โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อภาคธุรกิจ ซึ่งผู้อ่านคงทราบดีว่าฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่สหภาพแรงงานมีอำนาจในการต่อรองสูง ชั่วโมงการทำงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดว่าทุกท่านยังคงจำภาพสหภาพแรงงานแท็กซี่ฝรั่งเศสปิดถนนในเมืองปารีส และเผายางรถยนต์เพื่อประท้วงบริการของอูเบอร์ ในช่วงต้นปี 2559 ได้นะครับ 

ดังนั้น หากนายมาครงประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งนอกจากจะนำพาเศรษฐกิจฝรั่งเศสให้หลุดพ้นจากปัญหาเรื้อรัง อัตราการว่างงานที่สูง และการขาดดุลการคลังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องแล้ว ยังจะสร้างเสริมความแข็งแกร่งของสหภาพยุโรปและสกุลเงินยูโรที่ถูกสั่นคลอนจาก Brexit และวันนั้นนายมาครงก็จะสามารถพิสูจน์คำพูดที่เขาได้กล่าวในสุนทรพจน์เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีว่า “ประชาคมโลกและยุโรปต้องพึ่งพิงฝรั่งเศสใหม่ (Nouveau France) ที่แข็งแกร่ง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน