Trumponomics (4) : กำเนิดสงครามการค้า

Trumponomics (4) : กำเนิดสงครามการค้า

สำหรับผู้ติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกแล้ว สิ่งที่คาดเดาได้ สำหรับรัฐบาลทรัมป์ คือนโยบายที่ “คาดเดาไม่ได้”

 และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดของทรัมป์ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ

โดยหากพิจารณาตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้วนั้น หลายนโยบายมีการปรับเปลี่ยน 180 องศา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประกันสุขภาพของโอบามา (หรือที่เรียกว่า โอบามาแคร์) ที่บอกว่าจะทำเป็นเรื่องแรก แต่ก็ต้องถอนเรื่องออกไป หรือจะเป็นประเด็นด้านความมั่นคงที่เคยส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับจีน แต่ญาติดีกับรัสเซีย แต่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม หลังยิงขีปนาวุธไปซีเรียที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซีย แต่เปิดบ้านต้อนรับประธานาธิบดีจีนอย่างอบอุ่น

แต่ที่สำคัญสุดคือด้านการค้า ที่เคยสัญญาว่าจะตราหน้าว่าจีนเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ก็กลับลำไม่ประกาศหลังทำข้อตกลงกับจีนด้านความมั่นคง นอกจากนั้น ในประเด็นด้านการจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้า (Ex-im Bank) เพื่อส่งเสริมการส่งออก ก็กลับลำมาเห็นด้วยหลังจากที่เคยประกาศไม่เอาเช่นกัน

ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นด้านนโยบายการค้าของทรัมป์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นประเด็นที่สำคัญและจะกระทบกับประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยก่อนอื่นขอไล่เรียงพัฒนาการด้านนโยบายการค้าที่สำคัญของรัฐบาลทรัมป์ ดังนี้

หลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง สิ่งแรกที่ทำคือออกคำสั่งผู้บริหารยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมถึงประกาศที่จะเตรียมเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่ ดังที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้า แต่หลังจากนั้น ประเด็นด้านการค้าก็ดูเหมือนจะเบาบางลง จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมาที่ประเด็นด้านการค้าร้อนแรงขึ้น เริ่มจากประกาศคำสั่งผู้บริหารสองฉบับเพื่อตรวจสอบการขาดดุลการค้า โดยจะเข้มงวดกับผู้นำเข้าที่หลีกเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) และการอุดหนุนจากภาครัฐ (Countervailing Duty: CVD) รวมถึงสั่งให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) และกระทรวงพาณิชย์ศึกษาถึงต้นเหตุของการขาดดุลการค้าของสหรัฐอย่างละเอียดภายใน 90 วัน

ในช่วงเวลาเดียวกัน USTR ก็ได้ออกรายงานชื่อว่า National Trade Estimate Report on Foreign Trade Barriers (NTE) โดยเป็นการศึกษาว่าใน 65 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐนั้นได้ทำการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอย่างไรบ้าง โดยสำหรับไทยนั้น ประเด็นที่ USTR ยังกังวลคือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การจดสิทธิบัตรที่คั่งค้าง การละเมิดซอฟท์แวร์เถื่อน รวมถึงการที่ไทยยังคงเก็บอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตราที่สูง เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะไปตรงกับสถานะทางบัญชีประเทศคู่ค้าในประเด็นดังกล่าว ที่ทางสหรัฐจะประกาศภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ ภายใต้มาตรา 301 พิเศษ ของกฎหมายการค้าสหรัฐ (Special 301) ที่เกี่ยวข้องกับการที่ประเทศไทยอยู่ในบัญชีของประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการค้าเป็นของกระทรวงการคลังสหรัฐ (Treasury) ในการออกรายงานประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้า (Currency Manipulator) ที่แม้ชื่อจะเป็นการพูดเรื่องค่าเงิน แต่ในหลักเกณฑ์นั้นเป็นการเน้นด้านการค้าเป็นหลัก ทั้งการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับทุกประเทศ และการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองซึ่งเป็นผลจากการแทรกแซงค่าเงิน

ทั้งนี้ ตัวรายงานนี้ได้ออกมาในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแม้ว่าจะไม่มีการประกาศว่าประเทศใดเลยที่เป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน แต่ก็มีการจับตา 6 ประเทศหลักที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมาก อันได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์

ใน 4 เครื่องมือหลักที่สหรัฐสามารถนำมาใช้ในการทำสงครามการค้ากับประเทศอื่น ๆ ได้นั้น อาจสามารถแบ่งได้ถึงระดับของความรุนแรงในการตอบโต้ด้านการค้าจากเบาไปหาหนักได้ดังนี้ คือ

เบาสุด อาจเป็นการประกาศว่าประเทศหนึ่ง ๆ เป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งหากประเทศหนึ่งใดถูกกล่าวหาดังกล่าว ก็ยังไม่มีมาตรการลงโทษชัดเจน แรงขึ้นมา ได้แก่การที่สหรัฐอาจตัดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้านำเข้าจากไทย แรงกว่านั้น ได้แก่การจ่ายค่าปรับ (หรืออากร) ในกรณีสินค้าถูกกล่าวหาว่าทุ่มตลาดหรือได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ (AD/CVD) และสุดท้าย ได้แก่ การถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การค้า (หาก USTR เห็นว่าเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ) ซึ่งอาจเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่าถึงหลายเท่าได้ รวมถึงอาจบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดในประเทศเหล่านั้น เพื่อนำสินค้าอเมริกันมาตีตลาดได้

ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า แม้ว่าแนวนโยบายของสหรัฐด้านต่าง ๆ จะสับสนงุนงง แต่ที่แน่นอนคือ กระแสกีดกันทางการค้าจะเพิ่มมากขึ้น ตามแนวนโยบายที่ทรัมป์หาเสียงไว้ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) แต่ดีกรีการกีดกันทางการค้าจะรุนแรงประการใดนั้น ขึ้นอยู่กับการติดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ รวมถึงการที่จะใช้มาตรการกีดกันต่าง ๆ นั้นเป็นเครื่องต่อรองเพื่อผลประโยชน์อื่น ๆ

หากใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์แบ่งมาตรการกีดกันทางการค้าเหล่านี้นั้น ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้หลักนักการค้า (Mercantilism) โดยมาตรการแบบนี้จะเน้นเพื่อการส่งเสริมการส่งออกเป็นหลัก เช่น จัดตั้ง Ex-im Bank หรือการบังคับให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาด โดยอาจให้ลดภาษีนำเข้า และ/หรือผ่อนคลายกฎระเบียบพิธีการด้านศุลกากร เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่สอง ได้แก่ การใช้หลักชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งโดยหลักเป็นการกีดกันการนำเข้า เช่น การตัดสิทธิ GSP การเรียกค่าปรับ AD/CVD การเรียกภาษีตอบโต้ทางการค้า เป็นต้น

มาตรการในกลุ่มแรก ถือว่าดีต่อโลกโดยรวม เพราะในทางหนึ่งคือทำให้สหรัฐส่งออกได้มากขึ้น ขณะที่ประเทศผู้นำเข้าการสามารถบริโภคสินค้าสหรัฐในราคาที่ถูกลง ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า แต่สิ่งที่ตามมาคือสหรัฐอาจจะขาดดุลการค้ามากขึ้น (เพราะการผลิตต้องมีการนำเข้าด้วย)

ในขณะที่มาตรการกลุ่มหลังนั้น เป็นโทษต่อทุกประเทศโดยรวม เพราะผู้ส่งออกไปสหรัฐก็จะส่งออกได้น้อยลง และ/หรือมีต้นทุนมากขึ้น ขณะที่การนำเข้าในสหรัฐก็จะลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าในสหรัฐแพงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและเศรษฐกิจจะยิ่งตกต่ำลง

ผู้เขียนเชื่อว่า ในระยะต่อไป รัฐบาลทรัมป์จะใช้มาตรการกีดกันทั้งสองกลุ่ม โดยเน้นการส่งออกและกีดกันการนำเข้าเพื่อให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้า

นักธุรกิจ นักลงทุน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายไทย พร้อมรับมือสงครามแล้วหรือยัง

...........................................................................................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่