พรรค BJP กับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์

พรรค BJP กับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์

หลังจากพรรคการเมืองอินเดีย ขับเคี่ยวหาเสียงมาหลายเดือน ในที่สุดเมื่อ 11 มีนาคม 2560 ก็มีการประกาศผลการเลือกตั้ง

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (State Assembly Election) หรือ ส.ส. ท้องถิ่น ของ 5 รัฐในอินเดียอย่างเป็นทางการ

หลายฝ่ายจับตามองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะถือเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมรัฐบาลนายนเรนทรา โมดี ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 นับว่าอยู่มาเกินครึ่งทางแล้ว ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในปี 2562 โดยพรรคภารติยะ ชนตะ (Bharatiya Janata Party หรือ BJP) ของนายโมดี ได้รับชัยชนะในรัฐอุตตรประเทศ และอุตตรขัณฑ์อย่างขาดลอย ถึง 312 จาก 403 ที่นั่ง และ 57 จาก 70 ที่นั่ง ตามลำดับ และแม้จะไม่ได้ชนะขาดในรัฐกัวและมณีปุระ แต่ก็ถือว่าทำผลงานได้ดีโดยสามารถจับมือกับพรรคการเมืองท้องถิ่น ตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสองรัฐดังกล่าว ทั้งนี้มีผู้แทนพรรค BJP เป็นมุขมนตรี (Chief Minister) ถึง 4 รัฐจากทั้งหมด 5 รัฐ ยกเว้นรัฐปัญจาบที่พรรคคองเกรสได้รับชัยชนะไป

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนอะไร?

ในรัฐทั้ง 5 การเลือกตั้งในอุตตรประเทศมีนัยสำคัญที่สุดต่อการเมืองอินเดีย เพราะเป็นรัฐที่มีประชากรมากสุดในประเทศ คือ 200 ล้านคน สร้าง GDP เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ทั้งประเทศ) และมีสัดส่วนที่นั่งในโลกสภา (สภาล่างหรือสภาผู้แทนระดับชาติ) 80 ที่นั่ง (จาก 552 ที่นั่ง) และมีสัดส่วนที่นั่งในราชยสภา (สภาสูง) 31 ที่นั่ง (จาก 245 ที่นั่ง)

ผลการเลือกตั้งของรัฐนี้ยังสะท้อนปรากฏการณ์การเมืองที่น่าสนใจ คือ การที่พรรค BJP ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาตินิยมฮินดูขวาจัด ชนะในเขตที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยไม่ได้ส่งผู้สมัครมุสลิมแม้แต่คนเดียว รวมทั้งได้รับเสียงข้างมากในรัฐซึ่งมีคนจนมากที่สุดรัฐหนึ่งในประเทศ สะท้อนว่า ระบบชนชั้นวรรณะและศาสนา มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของคนอินเดียน้อยลง คนรุ่นใหม่มองหาโอกาสที่จะทำให้ตนหลุดพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ จึงพร้อมสนับสนุนวิสัยทัศน์แบบใหม่ของนายโมดี ที่ให้พันธสัญญาว่าจะมุ่งพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเลื่อนสถานะทางสังคม (Social Mobility) ของสามัญชนทั่วไป ต่างจากพรรคอื่นบางพรรคที่หาเสียงกับฐานเสียงเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มวรรณะต่ำ กลุ่มมุสลิม ชนชั้นด้อยโอกาส ซึ่งกลายเป็นแนวคิดล้าสมัยไปเสียแล้ว

อีกสิ่งที่เห็นได้คือ เกิดปรากฏการณ์ New Normal ในการเมืองอินเดีย โดยพรรค BJP ภายใต้การนำของนายกโมดีและนายอมิต ชาห์ หัวหน้าพรรค ได้กลายเป็นพรรคที่ทรงอิทธิพลสูงสุดเพียงพรรคเดียวของอินเดีย ชาวอินเดียชื่นชอบนายโมดี เพราะสัมผัสได้ว่าเป็นนักการเมืองที่พูดจริงทำจริง เห็นผลงานเป็นรูปธรรม โดยไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งรอบนี้ นายโมดีได้ประกาศยกเลิกธนบัตร 500/1000 รูปี ทั่วประเทศอย่างกระทันหันเพื่อปราบปรามเงินผิดกฎหมายและเพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจอินเดียเข้าสู่ยุคดิจิตัล โดยไม่กลัวว่าจะทำให้พรรค BJP เสียคะแนนนิยม และประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นคล้อยตามว่าการดำเนินการอย่างหักหาญดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งยังเห็นว่ารัฐบาล BJP ได้สร้างผลงานพัฒนารัฐอุตตรประเทศได้จริง เช่น การติดตั้งระบบแก๊สหุงต้ม 5.2 ล้านจุดในเวลา 1 ปี เชื่อมต่อไฟฟ้าเข้า 1,400 หมู่บ้านในรัฐซึ่งไม่มีไฟฟ้ามานานกว่า 7 ทศวรรษ

...และจะนำไปสู่อะไร?

หลายฝ่ายเห็นว่า ความสำเร็จของพรรค BJP ที่ได้รับเลือกตั้งระดับรัฐถึง 406 ที่นั่งจากทั้งหมด 690 ที่นั่งใน 5 รัฐ ส่งสัญญาณสำคัญหลายประการ ประการแรก คือ รัฐบาล BJP ภายใต้นายโมดี มีความเข้มแข็งมั่นคง และผลการเลือกตั้งจะยิ่งทำให้นายโมดีเชื่อมั่นว่าประชาชนสนับสนุนนโยบายของตนและจะดำเนินนโยบายปฏิรูปด้านต่าง ๆ อาทิ นโยบายปฏิรูปแรงงาน ต่อต้านคอรัปชั่น ส่งเสริมธรรมาภิบาล ปฏิรูปการถือครองที่ดิน และปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ต่อไป ประการที่สอง การเมืองอินเดียระยะใกล้น่าจะมีเสถียรภาพ และพรรค BJP น่าจะได้รับเลือกตั้งอีกอย่างน้อยหนึ่งสมัย แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มฮินดูขวาจัดกับกลุ่มมุสลิมและศาสนาอื่นๆ ในสังคมอินเดียขึ้นได้อีก ในช่วงที่กลุ่มฮินดูขวาจัดในพรรค BJP อาจฮึกเหิมมากขึ้น ประการที่สาม การมีจำนวน ส.ส. ในสภาระดับรัฐมากขึ้นจะช่วยให้การผ่านร่างกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ประการที่สี่ รัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นมากขึ้นในการติดต่อกับอินเดีย เพราะเห็นความต่อเนื่องของนโยบายต่าง ๆ และประการที่ห้า อินเดียอาจดำเนินนโยบายต่างประเทศแข็งกร้าวมากขึ้น ที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศอินเดียค่อย ๆ เปลี่ยนจากการยึดอุดมการณ์ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตามหลักการยุคเนห์รู มาเป็นการมีท่าทีที่ชัดเจนเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ

ไม่หยุดแค่ชัยชนะวันนี้

หลังชัยชนะของ BJP เป็นที่ประจักษ์ นายโมดีก็กล่าวขอบคุณทุกฝ่าย และประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ (อีกแล้ว) ซึ่งมองไกลเลยการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 ไปอีก คือ New India อินเดียใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อธุรกิจ อินเดียใหม่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม อินเดียใหม่ที่ปราศจากคอรัปชั่นและความสกปรกทั้งมวล อินเดียใหม่ที่จะสร้างความเข้มแข็ง (empower) ให้ประชาชนอินเดียมีพลังร่วมกันพัฒนาอินเดียให้ก้าวหน้า โดยตั้งเป้าว่าทั้งหมดนี้จะต้องเกิดขึ้นภายในปี 2565 ในโอกาสครบรอบ 75 ปี การเป็นเอกราชของอินเดีย

นาทีนี้คงต้องบอกว่านายนเรนทรา โมดี เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม สองสิ่งที่ต้องตรองจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ประชาชนในทั้งห้ารัฐลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากพรรคอื่นที่มิใช่พรรครัฐบาลชุดก่อนสะท้อนว่า ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น อีกสิ่ง คือ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย เลือกที่จะให้โอกาสพรรค BJP แต่หลังจากนี้พรรค BJP จะถลำไปในทางที่จะก่อความอ่อนไหวต่อความขัดแย้งทางศาสนากับฐานเสียงที่มิใช่ฮินดูหรือไม่ 

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องโฟกัสมิใช่เพียงชัยชนะ แต่คือ ยุทธศาสตร์และการลงมือทำให้สิ่งที่สัญญาไว้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะแม้แต่ผู้ที่ใครก็หยุดไม่ได้อย่างโมดี ก็ไม่สามารถประมาทความรู้สึกของประชาชนอินเดียซึ่งมีอำนาจเลือกตั้งในมือได้

....................................

ปัทมน ปัญจวีณิน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี