ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC): โชติช่วงชัชวาลภาค 2?

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC): โชติช่วงชัชวาลภาค 2?

รัฐบาลประกาศว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาลภาค 2”

 ด้วยการเปิดตัว ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ที่กำลังเร่งฝีเท้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้

โชติช่วงชัชวาลยุคแรกเกิดเมื่อกว่า 30 ปีก่อนสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยการสร้าง “Eastern Seaboard” อันเป็นการเปิดฉากการสร้างย่านพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ และเปโตรเคมีทางชายทะเลตะวันออก โดยมีมาบตาพุดเป็นแกนหลัก

วันนี้ รัฐบาลประยุทธ์ต้องการจะสร้างโอกาสครั้งใหม่ เพื่อการยกระดับการพัฒนาด้านตะวันออกอีกครั้ง ด้วยการปักหลักที่สามจังหวัดทางตะวันออกได้แก่ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา

ครั้งนี้จะเป็นการสร้าง เมืองนวัตกรรมใหม่” ที่มีสนามบินอู่ตะเภาเป็นแกนหลัก มีพื้นที่กว้างขวางพอที่จะสร้างเป็นเขตเร่งพัฒนาให้ทันกับความเป็น 4.0 อันหมายถึงการเน้นหนักไปที่นวัตกรรม (innovation) และการเป็นศูนย์การซ่อมสร้างเครื่องบินของภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ต้องสามารถระดมทั้งทุนและคนเก่งที่สุดของโลกมารวมตัวกันอยู่ที่ประเทศไทย

อู่ตะเภาจะกลายเป็นสนามบินนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ และหากเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ จะมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมืองและอู่ตะเภา ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 45 นาทีระหว่างกัน

นี่เป็นความฝันลม ๆ แล้ง ๆ หรือเปล่า?

รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน และรัฐมนตรีช่วยประจำสำนักนายกฯ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ผมได้สนทนาด้วยยืนยันมั่นเหมาะว่านี่เป็นแผนจริงที่ทำจริง และพื้นฐานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายสร้างแรงจูงใจด้านภาษี และการลงทุนตลอดไปถึงการเดินสายชักชวนนักลงทุนจากทั่วโลก กำลังดำเนินการอยู่อย่างเร่งด่วนแล้ว

หากเป็นไปตามแผน โอกาสที่ไทยจะก้าวกระโดดครั้งสำคัญในการทำให้เราเป็น “hub” หรือศูนย์กลางในหลาย ๆ ด้านก็มีความเป็นไปได้ แต่จะต้องเป็นการทำอย่างจริงจัง, ต่อเนื่องและโปร่งใส

ประเด็นที่น่าสนใจคือจะทำอย่างไร จึงจะดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศ ตัดสินใจเข้ามาอย่างรวดเร็วและจริงจัง และจะกระจายแหล่งที่มาของทุนให้กว้างขวาง ไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมามีบทบาทใหญ่โต จนกลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของเราในวันข้างหน้าแต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นเราจึงควรจะต้องเชิญชวนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ ยุโรปและเพื่อนอาเซียนด้วยกันเอง มาเป็นผู้ร่วมกันบุกเบิกสร้างเมืองใหม่แห่งนวัตกรรม

ที่สำคัญคือจะต้องตอบคำถามคนไทยทั้งหลายได้ว่า

การลงทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วไปอย่างไร?

ประชาชนจะมั่นใจได้เพียงใดว่าการลงทุนใหญ่ครั้งนี้ จะปราศจากข้อครหาเรื่องคอร์รัปชัน?

ยุค “โชติช่วงชัชวาลภาค 2” นี้จะลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ระหว่างประชาชนที่ร่ำรวยกับยากจนได้อย่างไร?

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ลงไปใน EEC จะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” มากน้อยเพียงใด?

คนภาคอื่น ๆ ของไทยจะได้ประโยชน์จาก “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ได้อย่างไร?

จะทำอย่างไรจึงให้รัฐบาลที่มาหลังการเลือกตั้ง เดินหน้าต่อจากความริเริ่มนี้?

หากเราเปิดประเทศให้คนเก่งทั่วโลกมาทำมาหากินในไทย เราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของคนไทยกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร?

เป็นชุดคำถามที่ควรจะมีคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ก่อนจะเดินเครื่องเต็มสูบกันจริง ๆ