หนี้นอกระบบ ที่พึ่งตลอดกาลของ SMEs

หนี้นอกระบบ ที่พึ่งตลอดกาลของ SMEs

เมื่อวันที่1มีนาคม2560รัฐบาลได้เปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน

ภายใต้หลักการที่จะบริหารจัดการปัญหาหนี้นอกระบบด้านลูกหนี้ และด้านเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และต่อเนื่องโดยจะการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ 

พร้อมทั้งเปิดทางให้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อยทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ(ฟิโกไฟแนนซ์) โดยจะดำเนินการควบคู่กับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มโทษเจ้าหนี้ที่เก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้สูงขึ้น จากเดิมปรับไม่เกิน1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน1ปี เป็นปรับไม่เกิน2แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน2ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยรัฐบาลมุ่งหวังลดปัญหาหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายให้เป็นศูนย์ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิต และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หนี้นอกระบบ คือหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมกันเอง ไม่ได้ผ่านสถาบันการเงิน ไม่ได้ถูกกำกับโดยหน่ายงานของรัฐบาล เงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้ยืมไม่ได้เป็นมาตรฐาน แล้วแต่การตกลงกันเองระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ เอกสารที่ใช้ทำข้อตกลงเป็นแค่กระดาษเปล่าเพียงใบเดียว เขียนข้อความแล้วก็เซ็นต์ชื่อ คิดดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมาก ลูกหนี้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ เจ้าหนี้บางคนยังโหดถึงขั้นระบุจำนวนเงินกู้มากกว่าจำนวนเงินที่กู้จริง การชำระหนี้มีทั้งแบบระยะสั้นที่ต้องจ่ายคืนเป็นรายวัน และจ่ายคืนเป็นรายเดือน

ปัจจุบันมีลูกหนี้นอกระบบทั่วประเทศประมาณ1ล้านคน มูลหนี้ประมาณ123,000ล้านบาท 

ครั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการได้ร้อยละ20ต่อปี หรือประมาณ240,000รายต่อปี มูลหนี้ประมาณ25,000ล้านบาทต่อปี 

ตั้งแต่ปี2544ทุกรัฐบาลมีการออกมาตรการในการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่โครงการ ธนาคารประชาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินทุนหรือเงินทุนหมุนเวียน ในการประกอบอาชีพ หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ในปี2546มีโครงการ“ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ” วัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิต ปี 2556มีโครงการ“ลงทะเบียนหนี้นอกระบบ” โดยกระทรวงมหาดไทยถือเป็นระยะแรกในการจัดทำข้อมูลและการเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของธนาคารรัฐทั้ง5แห่ง 

นอกจากนี้ยังมีโครงการปราบปรามผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับที่ไม่ได้รับใบอนุญาต โครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบโดยกระทรวงการคลัง โครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน โครงการธนาคารชุมชน โครงการบัตรลดหนี้วินัยดีมีเงิน ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นต้น

ครั้งนี้นอกจากมาตรการเพิ่มความเข้มข้นทางกฏหมาย รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องทางการเข้าสินเชื่อในระบบที่เรียกว่า ฟิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้สินเชื่อกับประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินกู้ได้รายละไม่เกิน50,000บาท คิดอัตราดอกเบี้รวมค่าบริการและค่าธรรมเนียมไม่เกิน36 %ต่อปีผมมีความเชื่อว่าจำนวนหนี้นอกระบบน่าจะมีตัวเลขที่สูงกว่าข้อมูลที่รัฐบาลนำเสนอมากปัจจุบันหนี้นอกระบบนอกจากจะเกิดกับประชาชนผู้ยากไร้ ยังแฝงอยู่กับผู้ประกอบการSMEsจำนวนมาก ไม่เว้นแม่แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ก่อหนี้นอกระบบที่เรียกกันว่าB/Eซึ่งกำลังเกิดปัญหาในขณะนี้

ผมเติบโตมาจากครอบครัวยากจนที่คุ้นเคยกับหนี้นอกระบบมาตลอด เคยเห็นเจ้าหนี้มาทวงหนี้กับพ่อตั้งแต่สมัยเด็ก ทำงานที่ธนาคารกรุงไทยก็คลุกคลีกับการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้กับเกษตรกรมาเป็นเวลานาน ยิ่งในยามเศรษฐกิจตกต่ำเหมือนเช่นทุกวันนี้ ก็มีแต่ลูกค้าขอร้องแหล่งเงินกู้นอกระบบเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและธุรกิจ หนี้นอกระบบจึงเป็นความระทมทุกข์เป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องนอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการ 

ผมอยากให้นำประสบการณ์การเรียนรู้จากเรามีแบงค์ในบังกลาเทศ ที่มียูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลเป็นผู้ก่อตั้งที่เป็นรูปแบบสินเชื่อรายย่อยโดยใช้กลุ่มค้ำประกัน หรือถ้าจะให้ทันสมัยสอดคล้องกับยุค4.0ก็น่าจะใช้ระบบกระตุ้นรากหญ้าที่เรียกว่า ไฟแนนซ์รากหญ้าของอาลีบาบา ที่ใช้บิ๊กดาต้า และแพลทฟอร์มของการอินเตอร์เน็ตเข้ามาเป็นกลไกจัดการที่เกิดความแม่นตรงสูง

ผมเป็นคนที่เดินตลาดทุกวันได้เห็นความทุกข์ยากของพ่อค้าแม่ค้า ที่จำเป็นต้องอาศัยหนี้นอกระบบที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขาบอกกับผมว่า วิธีแก้ไขหนี้นอกระบบที่ได้ผลที่สุด คือการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น 

ผมเห็นด้วยครับ...