แย้งคัมภีร์

แย้งคัมภีร์

คนนอกวงการอาจไม่รู้ ในปัจจุบัน มีคนศึกษาโหราศาสตร์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เรียนสายวิทยาศาสตร์

 เช่น วิศวะ แพทย์ เอ็มบีเอ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ อาจเพราะโลกปั่นป่วนวุ่นวาย และเกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่คาดไม่ได้ (Black Swan) ถี่ขึ้น ขณะที่ศาสตร์เดิม ๆ ก็ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงต้องติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มเติม

กว่า 80 % ของคนรุ่นใหม่ศึกษาจากตำราเป็นหลัก ที่เหลือ 20 % เรียนอย่างจริงจังกับครู ประเมินกันว่า 20 % ของคนที่อ่านเองเรียนเองเท่านั้นที่ได้ผล ตรงข้ามกับกลุ่มที่เรียนโดยมีครูซึ่งประสบความสำเร็จถึง 80 % เหตุผลก็เพราะ (1) เส้นทางมีมากเกินไป ถ้าไม่มีคนชี้แนะ ย่อมเสียเวลาและมีโอกาสหลงทางสูง (2) โหราศาสตร์สืบทอดพัฒนามากว่า 7,000 ปี ไม่มีคัมภีร์ตำราใดสมบูรณ์พร้อม ตำราเป็นแค่แนวทาง ถ้าเชื่อทุกคำในตำรา ก็ผิดพลาดอีกเช่นกัน

สภาพการณ์ของคนเรียนโหราศาสตร์ในปัจจุบัน จึงกลายเป็นความตีบตัน อ่านมากแต่ไปไม่ถึงไหน ทำนายพื้น ๆ กว้าง ๆ ได้ แต่เจาะลึกไม่ได้ ฟันธงไม่ได้ บอกช่วงเวลาเกิดเหตุไม่ได้ อาจมีสัก 3 ใน 10 คนที่พอทำเป็นอาชีพ แต่มีแค่หนึ่งในร้อยที่มีพรสวรรค์มากพอที่จะก้าวถึงขั้นสูงของวิชา เพื่อให้เห็นจุดอ่อนของการเรียนด้วยตำรา เราจะทดสอบเนื้อหาในตำรากัน

ตำราโหราศาสตร์ของทุกชาติ (ตั้งแต่ยุคกรีก) กล่าวตรงกันว่า พฤหัสคือดาวประธานฝ่ายศุภเคราะห์ เสาร์คือดาวประธานฝ่ายบาปเคราะห์ เมื่อใดทั้งคู่โคจรปะทะกัน ย่อมต้องระมัดระวังให้ดี “ปะทะ” คืออยู่ร่วมหรือเล็งราศีกัน ดังเช่นตำรา “โลกธาตุ” ของไทยที่ว่า “...พฤหัสบดีกับเสาร์เป็นคู่อริกัน ถ้าร่วมหรือเล็งกัน โลกก็เกิดยุ่ง เช่น แผ่นดินไหวผิดประหลาด หรือเกิดความอัตคัดขาดแคลนทั่วกันไป...”

พฤหัสคือดาวแห่งการเติบโต-ขยายตัว จึงเป็นดาวศุภเคราะห์ เสาร์คือดาวแห่งการถดถอย-หดตัว จึงเป็นดาวบาปเคราะห์ ทั้งคู่มีคุณสมบัติตรงข้ามกัน เมื่อทำมุมดี เช่น 60 (โยค), 120 (ตรีโกณ) ผลคือการเจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคง แต่ถ้าทำมุมร้าย เช่น 0 (ร่วม), 180 (เล็ง) มันจะหักล้างกันเองและก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง เช่น ภัยธรรมชาติ ปฏิวัติการเมือง ปฏิรูปสังคม ฯลฯ

เพื่อพิสูจน์ว่าพฤหัสปะทะเสาร์ เกิดเหตุการณ์ใหญ่จริงหรือไม่ ? วิธีง่าย ๆ คือค้นดูว่าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ในช่วงดังกล่าวหรือไม่ ? แต่วิธีนี้มีจุดอ่อน เพราะมนุษย์มักมีอคติที่เข้าข้างตัวเอง (Confirmation Bias) เหตุการณ์ที่เลือกอาจ “ใหญ่” ในสายตาเรา แต่ “เล็ก” เมื่อเทียบกับสายธารประวัติศาสตร์ วิธีที่ดีกว่าคือคัดเลือกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงระดับประเทศ แล้วตรวจสอบว่าตรงกับช่วงที่ดาวปะทะกันหรือไม่ ? โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ (1) ภัยธรรมชาติ (2) เหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจการเมือง

กลุ่มแรกมี 14 เหตุการณ์ คือ (1) น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ก.ย. - พ.ย. 2485 พฤหัสเมถุนกรกฎ เสาร์พฤษภ – ไม่ (2) น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ส.ค. – ต.ค. 2538 พฤหัสพิจิก เสาร์กุมภ์ – ไม่ (3) มหาอุทกภัย ต.ค. 2554 พฤหัสเมษ เสาร์กันย์ – ไม่ (4) พายุ “แฮเรียต” ถล่มปากพนัง 25 ต.ค. 2505 พฤหัสกุมภ์ เสาร์มังกร – ไม่ (5) พายุ “เกย์” ถล่มชุมพร 4 พ.ย. 2532 พฤหัสเมถุน เสาร์ธนู – ใช่ (6) ซึนามิถล่มภาคใต้ฝั่งอันดามัน 26 ธ.ค. 2547 พฤหัสกันย์ เสาร์กรกฎ – ไม่ (7) โรคห่าปีมะโรง พ.ค. 2363 พฤหัสกุมภ์ เสาร์มีน – ไม่ (8) โรคห่าปีระกา มิ.ย. 2392 พฤหัสกรกฎ เสาร์มีน – ไม่

ภัยธรรมชาติของไทยมีน้อย เราใช้ข้อมูลต่างประเทศเพิ่ม (9) แผ่นดินไหวที่คันโต-ญี่ปุ่น 1 ก.ย. 2466 พฤหัสตุลย์ เสาร์กันย์ – ไม่ (10) แผ่นดินไหวที่เซนได-ญี่ปุ่น 11 มี.ค. 2554 พฤหัสมีน เสาร์กันย์ – ใช่ (11) แผ่นดินไหวที่เนปาล 25 เม.ย. 2558 พฤหัสกรกฎ เสาร์พิจิก – ไม่ (12) แผ่นดินไหวที่เสฉวน-จีน 12 พ.ค. 2551 พฤหัสธนู เสาร์สิงห์ – ไม่ (13) ภูเขาไฟกรากะตั้ว-อินโดนีเซีย ระเบิดออก 26 ส.ค. 2426 พฤหัสกรกฎ เสาร์พฤษภ – ไม่ (14) เฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มนิวออร์ลีนส์-อเมริกา 29 ส.ค. 2548 พฤหัสกันย์ เสาร์กรกฎ – ไม่

กลุ่มสองมี 19 เหตุการณ์ คือ (15) เหตุการณ์สิบสี่ตุลา 14 ต.ค. 2516 พฤหัสมังกร เสาร์เมถุน – ไม่ (16) ตุลาวิปโยค 6 ต.ค. 2519 พฤหัสพฤษภ เสาร์กรกฎ – ไม่ (17) ปฏิวัติรสช. 23 ก.พ. 2534 พฤหัสกรกฎ เสาร์มังกร – ใช่ (18) พฤษภาทมิฬ 17 – 20 พ.ค. 2535 พฤหัสสิงห์ เสาร์มังกร – ไม่ (19) ปฏิวัติทักษิณ 19 ก.ย. 2549 พฤหัสตุลย์ เสาร์กรกฎ – ไม่ (20) จลาจลกรุงเทพ 12 – 14 เม.ย. 2552 พฤหัสมังกร เสาร์สิงห์ – ไม่ (21) เผาเมืองกรุงเทพ 19 พ.ค. 2553 พฤหัสมีน เสาร์กันย์ – ใช่ (22) เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 พฤหัสกรกฎ เสาร์มังกร – ใช่

ยังมี (23) ญี่ปุ่นบุกไทย 8 ธ.ค. 2484 พฤหัสพฤษภ เสาร์พฤษภ – ใช่ (24) สงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ 25 ม.ค. 2485 – 15 ส.ค. 2488 กว่า 3 ปีครึ่งมีช่วงที่พฤหัสเสาร์ร่วมราศีกันแค่ 2 เดือน 6 วัน – ไม่ (25) ปฏิวัติ 2490 เมื่อ 8 พ.ย. 2490 พฤหัสพิจิก เสาร์กรกฎ – ไม่ (26) ปฏิวัติ 2500 เมื่อ 16 ก.ย. 2500 พฤหัสกันย์ เสาร์พิจิก – ไม่ (27) วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อ 13 ก.ค. 2436 พฤหัสพฤษภ เสาร์กันย์ – ไม่ (28) ศึก 9 ทัพกับพม่า 2328 พฤหัสมีน เสาร์มังกร – ไม่ (29) ปฏิวัติคสช. 22 พ.ค. 2557 พฤหัสเมถุน เสาร์ตุลย์ – ไม่

ด้านเศรษฐกิจก็มี (30) เซ็นสัญญาเบาริ่ง 18 เม.ย. 2398 พฤหัสกุมภ์ เสาร์พฤษภ – ไม่ (31) ฟองสบู่แตก-ลอยค่าเงินบาท 2 ก.ค. 2540 พฤหัสมังกร เสาร์มีน – ไม่ (32) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา 2551 พฤหัสธนู เสาร์สิงห์ – ไม่ (33) ตลาดหุ้นดาวโจนส์ถล่ม 29 ต.ค. 2472 ก่อนเกิด Great Depression พฤหัสพฤษภ เสาร์ธนู – ไม่

ผลทดสอบคือ ในกลุ่มแรก ตรงตามตำรา 2 เหตุการณ์ คิดเป็น 14.29 % ในกลุ่มสอง ตรงตามตำรา 4 เหตุการณ์ คิดเป็น 21.05 % ถ้าเหมารวมทั้ง 2 กลุ่ม ก็ได้เป็น 18.18 % กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าเห็นพฤหัสร่วมหรือเล็งเสาร์ แล้วทายเหตุการณ์ใหญ่ (โดยไม่ดูปัจจัยอื่นเลย) มีโอกาสถูก 1 ใน 5 น้อยกว่าโยนหัวก้อยเสียอีก !

นี่ไม่ได้หมายความว่าตำราผิดพลาด แต่การเรียนเองด้วยตำราโดยปราศจากผู้รู้ชี้นำทาง จะพลาดพลั้งล้มเหลวได้ง่าย เมื่อล้มเหลว ก็มักกล่าวหาว่าโหราศาสตร์งมงาย

คนจำแม่นมีเยอะ ผู้เข้าถึงแก่นแท้ของคัมภีร์จะมีกี่คน