เมื่อโลกปรับตัวกับนโยบายใหม่สหรัฐ

เมื่อโลกปรับตัวกับนโยบายใหม่สหรัฐ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ ดูจะไม่ยอมเสียเวลาเลย ภายในอาทิตย์แรกของการเข้ารับตำแหน่ง

ก็ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งบริหาร (Executive order) หกเรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข อุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน การค้าระหว่างประเทศ นโยบายด้านพรมแดน และการห้ามผู้อพยพเข้าสหรัฐ โดยมีผลบังคับใช้ทันที สร้างความปั่นป่วนต่อชาวอเมริกันและธุรกิจ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวทั้งในระดับรัฐบาล บริษัทเอกชนและบุคคลธรรมดา คำถามที่ตามมาก็คือ สิ่งเหล่านี้ดีกับสหรัฐอเมริกาจริงหรือ และมีผลกระทบต่อประเทศอื่นอย่างไร

ในความเห็นของผม เหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าว ถ้าจะให้แยกแยะคงแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรก คือ ทำไปเพื่อให้เป็นไปตามที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง ถูกผิดเอาไว้ก่อน เพราะอเมริกาต้องมาก่อน เช่น สร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐกับเม็กซิโก และห้ามผู้อพยพที่เป็นมุสลิมจากเจ็ดประเทศเข้าสหรัฐ โดยใช้เหตุผลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นประเด็นหาเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมพ์

กลุ่มที่สอง คือ คำสั่งที่ออกมาเพื่อหักล้างนโยบายเดิมของอดีตประธานาธิบดีโอบาม่าที่ได้ทำไว้ที่ประธานาธิบดีทรัมพ์มองว่า ทำให้สหรัฐเสียประโยชน์ หรือ สร้างภาระการคลังมากเกินไปให้กับประเทศ เช่น การยกเลิกข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพี หรือ Trans – Pacific Partnership และการลดทอนประสิทธิภาพนโยบายสาธารณสุข OBAMA CARE ที่ได้ผ่านเป็นกฎหมายไปแล้ว โดยสั่งให้หน่วยงานราชการสหรัฐ “ใช้เกียร์ต่ำ” กับนโยบายดังกล่าวเพื่อลดภาระทางการเงินที่จะมีต่อรัฐบาลและผู้ให้บริการ

กลุ่มที่สาม คือ คำสั่งที่ทำไปตามความเชื่อของนายทรัมพ์ที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน ที่ต้องการเห็นกฎระเบียบต่างๆ ของทางการเกี่ยวกับการทำธุรกิจให้มีน้อยลง เพราะเชื่อแบบนักธุรกิจว่า กฎระเบียบของทางการเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ คำสั่งที่ออกคือ ลดกฎระเบียบทางการที่กระทบธุรกิจขนาดย่อม โดยใช้หลัก “หนึ่งเข้า สองออก” คือ ถ้าหน่วยงานใดจะออกกฎระเบียบใหม่หนึ่งกฎ ต้องยกเลิกกฎระเบียบที่มีอยู่เดิมสองกฎพร้อมกันไปด้วย โดยมองว่า ธุรกิจขนาดย่อมเป็นผู้จ้างงานคนอเมริกันจำนวนมหาศาล ถ้าธุรกิจขนาดย่อมสามารถเติบโตได้ดีขึ้น (จากกฎระเบียบที่ลดลง) การจ้างงานในสหรัฐก็จะมีมากขึ้น และอีกคำสั่งในกลุ่มนี้ ก็คือ เร่งให้เกิดการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยใช้คำสั่งประธานาธิบดีปลดล็อกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ยังเดินหน้าไม่ได้ เนื่องจากประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีข้อยุติ เช่น โครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL และ Dakota Access จากประเทศแคนาดาเข้าสหรัฐที่ประธานาธิบดีโอบาม่าได้ชะลอไว้ เพราะผลที่อาจมีต่อปัญหาโลกร้อน (climate change)

คำสั่งทั้งหมดสะท้อนแนวคิดของนโยบายใหม่ของสหรัฐเป็นอย่างดีว่า ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสหรัฐก่อน เน้นการจ้างงานในสหรัฐ การผลิตในสหรัฐและการใช้สินค้าที่ผลิตในสหรัฐ พร้อมลดความสำคัญของข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศลง และให้ความสำคัญกับการติดต่อเจรจาการค้าแบบประเทศต่อประเทศแทน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ เป็นการเจรจาแบบนักธุรกิจที่มุ่งไปที่ประโยชน์ที่บริษัทหรือเศรษฐกิจสหรัฐจะได้ มากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของเศรษฐกิจโลก นี่คือแนวคิดที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์มองว่า นโยบายใหม่ของสหรัฐไม่สนับสนุนระบบการค้าแบบเสรี และสหรัฐพร้อมใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เช่น ภาษี เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐ เป็นนโยบายที่ปฏิเสธความเป็นสากลของระบบเศรษฐกิจโลก (globalization) ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงแปดสิบปีที่ผ่านมา

จากที่สหรัฐเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก คำถามคือ นโยบายเหล่านี้จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร และเศรษฐกิจโลกจะอยู่อย่างเดิมได้หรือไม่ถ้าสหรัฐดำเนินนโยบายแบบนี้ต่อเนื่อง

หลังการประกาศนโยบายตลาดการเงินสหรัฐตอบรับในเชิงบวก ตลาดหุ้นสหรัฐปรับสูงขึ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้มากขึ้น แต่จากนั้นก็ต้องหาคำตอบว่า นโยบายเหล่านี้จะดีกับสหรัฐหรือไม่ในระยะยาว เพราะถ้าสหรัฐปฏิเสธไม่ค้าขายกับประเทศอื่น และต้องการผลิตทุกอย่างเอง ต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานที่สูงในสหรัฐก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในที่สุด ตรงกันข้าม เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ รวมถึงจีนยังสามารถซื้อขายและลงทุนระหว่างกันได้ต่อไป ภายใต้ระบบการค้าที่เสรีโดยไม่มีสหรัฐ คือ จีน ยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น เอเซีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นยังสามารถทำการค้าภายใต้ระบบการค้าเสรีและระบบโลกาภิวัฒน์ได้ต่อไปแม้ไม่มีสหรัฐ แต่ประเด็นคือ เศรษฐกิจโลกที่ไม่มีสหรัฐจะเติบโตได้ดีหรือไม่ในระยะยาว

ต่อคำถามนี้ ผมคิดว่าคำตอบคือ ได้แน่นอน แต่จะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศที่เหลืออยู่จะนำบทเรียนของปัญหาที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก มาแก้ไขเพื่อลดความอ่อนแอที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ขณะนี้หรือไม่ เพื่อทำให้ระบบการค้าเสรีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนแม้ไม่มีสหรัฐ ซึ่งจุดที่ต้องแก้ ในความเห็นของผม คือ

หนึ่ง ระบบทุนนิยมในเศรษฐกิจโลกต้องเติบโตอย่างเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะประเด็นการกระจายรายได้ เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำที่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากภายใต้ระบบการค้าเสรีที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา เจ้าของทุน (ซึ่งรวมถึง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมพ์ในฐานะนักธุรกิจ) คือผู้ที่ได้ประโยชน์ ตามด้วยชนชั้นกลางที่เป็นลูกจ้าง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นตามไปด้วย ประเด็นนี้ทำให้แนวคิดประเทศนิยม หรือ ประชานิยม ได้มีบทบาทสูงมากขึ้นในเวทีการเมืองทั่วโลก

สอง ต้องทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้นจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ เพราะภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่มีพรมแดนเป็นเศรษฐกิจเดียว ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหาที่มีอยู่เหมือนกัน แต่ที่ผ่านมา แต่ละประเทศจะมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะของตน แม้จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ไขได้ อันนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถกลับไปขยายตัวในอัตราที่สูงได้ตั้งแต่เกิดวิกฤติปี 2008

สาม ระบบธรรมาภิบาลในเศรษฐกิจโลก ผ่านการทำหน้าที่ขององค์กรอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ต้องมีการปรับปรุงให้เป็นธรรมและสมดุลมากขึ้น เพื่อสะท้อนอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักที่จะทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้น ที่ผ่านมา การทำงานขององค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก ได้ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของกลุ่มประเทศใหญ่ รวมถึงสหรัฐ จนไม่ได้รับการยอมรับและไม่สามารถทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่มีอยู่

ทั้งสามประเด็นนี้ ถ้าให้ความสนใจและมีการแก้ไขจริงจัง เศรษฐกิจโลกภายใต้ระบบทุนนิยมก็น่าจะไปต่อได้ดี แม้ประธานาธิบดีทรัมพ์ จะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐถึงสองสมัย แต่ดีที่สุดคือ นโยบายสหรัฐกลับมาเหมือนเดิม พร้อมมาร่วมมือแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่