เศรษฐกิจสหรัฐกับการปฎิรูประบบภาษี

เศรษฐกิจสหรัฐกับการปฎิรูประบบภาษี

นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การคาดการณ์ในเชิงบวกของตลาดและภาคธุรกิจต่อนโยบาย

การปฏิรูประบบภาษีและการเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ระบบศรษฐกิจและตลาดหุ้นของสหรัฐปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับผลของนโยบายเหล่านี้ในระยะยาวว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่แท้จริงของสหรัฐได้มากเพียงพอที่จะไปต้านทานกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของอายุประชากรที่ทำให้มีผู้สูงอายุมากขึ้นและฉุดให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ลดน้อยลง (secular stagnation) ในหลายปีที่ผ่านมานี้

มีผลการวิเคราะห์ที่น่าสนใจของ Professor Martin Feldstein จาก Harvard ที่ระบุว่า หากรัฐสภาสหรัฐยอมผ่านแผนการปฎิรูประบบภาษีที่เสนอโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เชื่อว่าจะมีผลสุทธิที่เป็นบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ เนื่องจากว่าข้อเสนอให้ลดภาษีกำไรของบริษัทนิติบุคคลนั้นแม้จะทำให้รัฐต้องเสียรายได้ภาษีคิดเป็นราว 190 พันล้านดอลลาร์ต่อปี แต่การยกเลิกเก็บภาษีกำไรของบริษัทอเมริกันในต่างประเทศ ที่จะนำผลกำไรกลับประเทศนั้น ก็จะทำให้มีการโอนเงินผลกำไรของบริษัทในต่างประเทศกลับเข้ามาในประเทศได้มากขึ้น

นอกจากนี้ รายได้ภาษีที่ขาดหายไปบางส่วนนั้นก็จะสามารถถูกทดแทนได้จากรายรับที่เกิดจากระบบภาษีที่เรียกว่า Border Tax Adjustment ที่จะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่สูงขึ้นและให้การอุดหนุนในรูปภาษีกับสินค้าส่งออกมากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นราว 25% เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่นๆ ซึ่งดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้นนี้เพียงพอที่จะทำให้ผู้บริโภคในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นอันเนื่องมาจากการขึ้นภาษีนำเข้า ในขณะที่ผู้ส่งออกก็ไม่ได้ผลกระทบจากค่าเงินที่แข็งขึ้นเพราะจะได้รับการชดเชยในรูปของการอุดหนุนการส่งออก ผลจากการใช้ Border Tax Adjustment นี้จะทำให้มีรายรับจากภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 120 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงราวสองในสามของรายรับภาษีที่หายไป จากมาตรการลดภาษีกำไรให้กับภาคธุรกิจและบริษัทนิติบุคคล  

อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวของ Professor Martin Feldstein ข้างต้นนี้ อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปสักหน่อย เนื่องจากว่าผลการวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบจากการตอบโต้ทางการค้าและการกีดกันทางการค้า ทั้งในรูปของภาษีและอื่นๆ ที่จะตามมาจากประเทศคู่ค้าอื่นด้วย ซึ่งผลการตอบโต้ดังกล่าวนี้นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่คู่ค้าทั้งสองฝ่าย (deadweight loss) แล้ว ก็ยังจะมีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาของสินทรัพย์ในตลาดมีความผันผวนมากขึ้นด้วย      

คำถามเหล่านี้จึง น่าจะมีส่วนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงนโยบายในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดด้วย เพราะธนาคารกลางสหรัฐน่าจะตระหนักได้ว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่อจากนี้นั้น จำเป็นจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น ในประเด็นเรื่องที่จะไม่ไปซ้ำเติมหรือขยายผลของปัญหาบางประการ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากการดำเนินนโยบายทางการคลังของทางฝ่ายบริหาร ที่จะมีต่อการปรับตัวของระดับราคาสินทรัพย์ และค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

ดังนั้น จึงควรที่จะรอไปก่อนจนกว่าจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนของนโยบายทางการคลัง รวมทั้งแนวโน้มการคาดการณ์ของตลาด ที่จะมีต่อนโยบายการคลังเหล่านั้นด้วย เพราะการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในขณะที่หลายประเทศอื่นๆ ยังคงมีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปนั้น ก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงในการที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีการปรับตัวแข็งค่ามากจนเกินไปในอนาคตหากผนวกเข้ากับผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการปฎิรูประบบภาษีดังกล่าว